xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจชั้นนำเตือน “เบร็กซิต” ศก.ช็อก “อยู่ต่อ” นำหวิว 1 วันก่อนอังกฤษ “ลงประชามติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชายคนหนึ่งสวมเสื้อยืดรณรงค์สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ก่อนหน้านี้ศึกประชามติในวันพฤหัสบดี(23มิ.ย.) ตัดสินชะตาว่าชาวอังกฤษจะเลือกอยู่ต่อหรือพ้นจากสมาชิกภาพอียู
เอเจนซีส์ - ทั้งนายกฯ คาเมรอนซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มหนุนให้อังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อไป และทั้งทางฝ่ายต่อต้านยุโรป ต่างออกตระเวนหาเสียงทั่วประเทศทิ้งทวนก่อนถึงเวลาเปิดคูหาในวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติว่าจะ “อยู่ต่อ” หรือ “ถอนตัว” จากสหภาพยุโรป ซึ่งผู้สังเกตการณ์เห็นกันว่าจะเป็นการกำหนดอนาคตของยุโรปและโลกตะวันตก โดยที่ล่าสุดทั้งสองฝ่ายยังคงกล่าวหากันและกันว่าหาประโยชน์ทางการเมืองด้วยการสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนหวาดกลัว ส่วนทางด้านนักธุรกิจชั้นนำกว่าพันคนร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเตือนว่า “เบร็กซิต” จะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษย่ำแย่ตกอยู่ในภาวะ “ช็อก”

นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ซึ่งนำออกตีพิมพ์เผยแพร่ในฉบับวันพุธ (22) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการรณรงค์หาเสียง เพื่อส่งข้อความให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนโหวตให้อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปในการทำประชามติที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันพฤหัสบดี (23) เวลา 06.00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 13.00 น. ตามเวลาไทย)

“ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ผมเชื่อว่าคงได้ผลชี้ขาดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะอังกฤษคงไม่ต้องการกลับมาที่จุดนี้อีก”

“วอตช์ ยูเค ติงค์ส” ซึ่งนำเอาผลโพลของสำนักต่างๆ มาประมวลอีกทีหนึ่ง ระบุว่า คะแนนเฉลี่ยจากผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักต่างๆ บ่งชี้ว่า ฝ่าย “อยู่ต่อ” นำเฉียดฉิว 51 ต่อ 49 ขณะที่วาณิชธนกิจ “ซิตี้” ประเมินว่ามีโอกาส 60% ที่คนอังกฤษจะโหวต “อยู่ต่อ” กระนั้น หากฝ่ายอยู่ต่อชนะแค่ผิวเผิน ก็ยังอาจบ่อนทำลายเสถียรภาพการเมืองทั้งของอังกฤษเองและของอียู

ผู้นำทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามาของอเมริกา, ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน และนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ต่างเรียกร้องให้อังกฤษคงอยู่กับอียู และบางคนเตือนถึงข้อเสียจากการโดดเดี่ยวตัวเอง

วันพุธ ทั้งฝ่าย “อยู่ต่อ” และฝ่าย “ถอนตัว” ต่างตระเวนโน้มน้าวผู้มีสิทธิออกเสียงที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยมีการขึ้นเวทีหาเสียงในสถานที่หลายแห่งในลอนดอน และจะจบลงด้วยการดีเบตออกทีวีที่สถานีแชนเนล 4 ระหว่างไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเค อินดิเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ที่เป็นฝ่ายต่อต้านอียู กับอเล็กซ์ ซาลมอนด์ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีจากสกอตแลนด์ซึ่งเป็นฝ่าย “อยู่ต่อ”

แนวโน้มที่อังกฤษอาจเป็นชาติแรกที่ถอนตัวในประวัติศาสตร์ 60 ปีของอียู กระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับการล้มครืนแบบโดมิโนของอียู
นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระหว่างเดินทางหาเสียงในทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ก่อนหน้านี้ศึกประชามติในวันพฤหัสบดี(23มิ.ย.) ตัดสินชะตาว่าชาวอังกฤษจะเลือกอยู่ต่อหรือพ้นจากสมาชิกภาพอียู ขณะที่ผู้นำรายนี้อยู่ฝ่ายรณรงค์หลีกเลี่ยง  Brexit
ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เตือนอังกฤษอย่า “ทำร้ายตัวเอง” ซึ่งจะพลอยทำลายทุกสิ่งที่ชาติยุโรปร่วมกันสร้างสมขึ้นมา

ขณะที่หนังสือพิมพ์ใหญ่ของอังกฤษ 2 ค่ายใช้พื้นที่หน้าหนึ่งฉบับวันพุธ (22) ป่าวประกาศการรับรองสองฝั่งที่ประลองกำลังกันในการทำประชามติ

เดลิเมล์ประกาศว่า นี่เป็นการเลือกระหว่าง “ชนชั้นนำโลภโมโทสันและโป้ปด หรืออนาคตอันยิ่งใหญ่นอกยุโรปที่กำลังแตกแยกและกำลังจะสิ้นใจ ถ้าคุณเชื่อมั่นในอังกฤษ โปรดโหวตถอนตัว”

ด้านเดลิมิร์เรอร์เรียกร้องให้ผู้อ่านสนับสนุนอียู “เพื่องานและลูกหลานของพวกคุณ และเพื่ออนาคตของอังกฤษ”

ประเด็นหลักของการหาเสียงฟาดฟันกันก็คือ เศรษฐกิจและผู้อพยพ โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันและกันว่า ปล่อยข่าวลือให้เกิดความหวาดกลัว

บอริส จอห์นสัน ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม ที่เป็นผู้สนับสนุน “เบร็กซิต” หรือการที่อังกฤษถอนตัวจากอียูคนสำคัญ อีกทั้งถูกจับตามองว่าเป็นตัวเก็งที่จะขึ้นแทนที่ ถ้าฝ่าย “อยู่ต่อ” พ่ายแพ้และบีบบังคับให้คาเมรอนต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามจุดชนวนความกลัวด้วยการเตือนว่าเบร็กซิตจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเสียหาย พร้อมให้สัญญาว่าวันพฤหัสบดี (23) จะเป็น “วันประกาศเอกราช” ของอังกฤษ หากผู้มีสิทธิออกเสียงพร้อมใจโหวตถอนตัว

ด้านซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีลอนดอนที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งหมาดๆ โต้ว่า จอห์นสันปลุกกระแสความเกลียดชังและใช้ประโยชน์จากความหวาดกลัวผู้อพยพมาโน้มนำให้ประชาชนต่อต้านอียู
นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวปราศรัยกับผู้สนับสนุนอยู่ต่อในสหภาพยุโรปในเมืองบริสตอล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ก่อนหน้านี้ศึกประชามติในวันพฤหัสบดี(23มิ.ย.) ตัดสินชะตาว่าชาวอังกฤษจะเลือกอยู่ต่อหรือพ้นจากสมาชิกภาพอียู ขณะที่ผู้นำรายนี้อยู่ฝ่ายรณรงค์หลีกเลี่ยง  Brexit
การทำประชามติยังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากตลาดการเงิน มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เผยว่า ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกหารือกันให้วุ่นถึงแนวโน้มผลกระทบจากเบร็กซิต

ขณะเดียวกัน ผู้นำธุรกิจเกือบ 1,300 คนที่ว่าจ้างพนักงานรวมกันกว่า 1.75 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้บริหารจากบริษัท 51 แห่งในบริษัทจดทะเบียนที่ถูกนำไปคำนวณในดัชนี FTSE 100 รวมทั้งริชาร์ด แบรนสัน ประธานกลุ่มเวอร์จิน และไมเคิล บลูมเบิร์ก เจ้าอาณาจักรสื่อจากอเมริกา ร่วมกันเผยแพร่คำเตือนผ่านหนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ ว่าเบร็กซิตจะทำให้ “เศรษฐกิจช็อก”

“การที่อังกฤษถอนตัวจากอียูหมายถึงความไม่แน่นอนสำหรับบริษัทของเรา การค้ากับยุโรปน้อยลง และตำแหน่งงานลดลง

“ในทางกลับกัน หากอังกฤษยังคงอยู่ในอียูจะหมายความว่ามีความแน่นอนมากขึ้น การค้าและตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กและพนักงานมีความเสี่ยงมากที่สุดหากอังกฤษออกจากอียู”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคาร (21) ผู้บริหารธุรกิจขนาดเล็ก 100 คนส่งจดหมายเปิดผนึกถึงหนังสือพิมพ์เดอะ ซัน เรียกร้องให้อังกฤษถอนตัว

“อียูวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงข้อตกลงการค้าอีกต่อไป แต่กลายเป็นโครงการที่มุ่งหมายสร้างสหภาพการเมืองและเศรษฐกิจขนาดใหญ่”

“เราเชื่อว่าอุดมคติหลายอย่างของอียูไม่ใช่ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจและประชาชนอังกฤษ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กต้องเผชิญอุปสรรคจากกฎระเบียบและพิธีการที่ไม่จำเป็นของอียู”


กำลังโหลดความคิดเห็น