xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : จับทิศทางอนาคต “อังกฤษ” หลังทำประชามติอียู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การทำประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของอังกฤษ กับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกจับตามอง โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างก็ออกมาทำนายถึงผลได้และผลเสียจากการตัดสินใจของชาวเมืองผู้ดี ไม่ว่าจะเป็นการเลือก “ออก” (Leave) จากอียู หรือ “อยู่ต่อ” (Remain) ก็ตาม

อังกฤษเข้าร่วมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ในปี 1973 ก่อนที่องค์การระหว่างประเทศแห่งนี้ จะรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป (อียู) ในเวลาต่อมา ถึงกระนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างลอนดอนกับอียูก็ไม่ค่อยจะราบรื่น และอังกฤษก็ยังปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับโครงการสำคัญ ๆ ของอียู ไม่ว่าจะเป็นระบบสกุลเงินเดียว หรือข้อตกลงยกเว้นหนังสือเดินทางเชงเก้น (Schengen passport-free zone)

ประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. ถือเป็นโอกาสครั้งที่ 2 ในรอบกว่า 30 ปีที่ชาวอังกฤษจะได้ตัดสินอนาคตของประเทศ หลังจากที่เคยโหวตหนุนการเป็นสมาชิก EEC ด้วยคะแนน 67% ในปี 1975

สาเหตุที่นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ต้องตัดสินใจทำประชามติในครั้งนี้ ก็เนื่องจากมีชาวอังกฤษจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดานักการเมือง ที่ตั้งคำถามว่าอังกฤษได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่กับงบประมาณที่ต้องจ่ายอุดหนุนบรัสเซลส์ รวมถึงอำนาจอธิปไตยบางอย่างที่ถูกลิดรอนไปจากการเป็นสมาชิกอียู

ต่อไปนี้คือสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามหลังผลประชามติ LEAVE หรือ REMAIN

คนเข้าเมือง

LEAVE : อังกฤษจะมีอำนาจกำหนดนโยบายคนเข้าเมืองอย่างอิสระ ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้อพยพที่ไหลเข้าจากอียูลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ อังกฤษยังไม่จำเป็นต้องรับหลักการ “เคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี” ของสหภาพยุโรปอีกต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มที่รณรงค์ให้อังกฤษอำลาอียู หรือ “เบร็กซิต” (Brexit) อ้างว่า หลักการข้อนี้เพิ่มภาระแก่ระบบสวัสดิการของประเทศ ทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี จำนวนผู้อพยพที่น้อยลง อาจนำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและบริการ และการอยู่นอกอียูจะทำให้ลอนดอนไม่มีสิทธิ์เข้าถึงฐานข้อมูลข่าวกรองของยุโรปอย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งจะบั่นทอนศักยภาพในการสกัดกั้นอาชญากรรมข้ามพรมแดน รวมถึงแผนก่อการร้าย

REMAIN : สถานการณ์คนเข้าเมืองจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก แต่ฝ่ายหนุนเบร็กซิตเตือนว่ายังมีบางประเทศ เช่น ตุรกี ที่รอโอกาสเข้าเป็นสมาชิกอียู และนั่นแปลว่าอังกฤษเสี่ยงที่จะต้องเผชิญการไหลบ่าของประชากรจาก “รัฐสมาชิกใหม่” เหล่านี้ในอนาคต

คาเมรอน พยายามคลายความกังวลของชาวอังกฤษที่มีต่อปัญหาผู้อพยพ โดยได้ทำข้อตกลงกับบรรดาผู้นำยุโรปว่าด้วยการปฏิรูปความสัมพันธ์และสถานะของอังกฤษในอียู ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกลไกคำสั่งระงับฉุกเฉิน (emergency brake) ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐบาลแต่ละชาติจำกัดการจ่ายเงินอุดหนุนสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้อพยพจากรัฐอื่น ๆ ในอียูเป็นเวลาสูงสุด 4 ปี

เศรษฐกิจ

LEAVE : กระทรวงการคลังอังกฤษ เตือนว่า การออกจากกลุ่มอียูอาจทำให้เศรษฐกิจเมืองผู้ดีเข้าสู่ภาวะถดถอยนานถึง 1 ปี ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงจะทรุดฮวบ และอังกฤษอาจสูญเสียตำแหน่งงานถึง 820,000 ตำแหน่งภายในเวลาแค่ 2 ปี ขณะที่ครัวเรือนจะมีรายได้ลดลงราว 4,300 ปอนด์ต่อปี ภายในปี 2030

จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษ ยังเตือนประชาชนให้เตรียมใจรับมาตรการขึ้นภาษีและรัดเข็มขัดเข้มงวด

ลอนดอนจะต้องเริ่มต้นเจรจาเงื่อนไขความสัมพันธ์กับอียูใหม่ทั้งหมด และอาจเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดยุโรปเดียว (European single market)

ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า อังกฤษจะกลายเป็น “บุคคลที่สาม” ที่อียูไม่จำเป็นต้องผ่อนปรนใด ๆ ให้อีก ส่วน โรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ก็เตือนว่า การเจรจากับอียูอาจต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี และ “คงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าสหราชอาณาจักรจะกลับคืนสู่สถานะที่เป็นอยู่ในเวลานี้”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มหนุนเบร็กซิต กลับมองว่า การแยกตัวจากอียูจะเปิดทางให้ลอนดอนสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจได้อย่างอิสระ และมีสิทธิ์ทำข้อตกลงทวิภาคีกับชาติมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ และ อินเดีย เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังสามารถนำงบประมาณที่เคยจ่ายอุดหนุนอียูไปปรับปรุงสวัสดิการสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่

REMAIN : เศรษฐกิจและการค้าของอังกฤษในภาพรวมจะยังคงเดิม แต่ขณะเดียวกัน ลอนดอนก็ยังมีพันธกรณีที่ต้องจ่ายงบประมาณอุดหนุนให้แก่อียู และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและกฎระเบียบต่าง ๆ ของกลุ่มอียู 28 ประเทศต่อไป

อำนาจอธิปไตย

LEAVE : ฝ่ายหนุนเบร็กซิตชี้ว่า นี่เป็นโอกาส “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่อังกฤษจะทวงอำนาจอธิปไตยคืน และไม่ต้องก้มหัวรับกฎระเบียบที่ร่างขึ้นโดยบรัสเซลส์อีกต่อไป ขณะที่กลุ่มโปรยุโรปเตือนว่า ทุกวันนี้อังกฤษได้รับผลประโยชน์และสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากการอยู่ใต้ร่มธงอียู และหากสูญเสียสมาชิกภาพไป อังกฤษก็จะมีอำนาจต่อรองน้อยลงในเวทีโลก

REMAIN: การตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ จะยังอยู่ใต้อำนาจของบรัสเซลส์ และกฎหมายของอียูจะมีอำนาจบังคับใช้เหนือกว่ากฎหมายท้องถิ่นของอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่นายกฯ คาเมรอน ทำร่วมกับผู้นำอียูเป็นสิ่งรับรองว่า อังกฤษจะยังถูกยกเว้นจากเป้าหมายในการทำอียูให้เป็น “สหภาพที่ใกล้ชิดยิ่งกว่าเก่า” ลอนดอนจะยังมี “สถานะพิเศษ” เป็นรัฐที่อยู่นอกกลุ่มยูโรโซนและข้อตกลงเชงเก้น และมีระบบ “ใบแดง” ซึ่งเป็นกลไกที่จะเปิดโอกาสให้รัฐสภาแต่ละชาติในอียูสามารถระดมเสียงให้ได้ถึงร้อยละ 55 เพื่อคัดค้านหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายของอียู

วิถีชีวิตของชาวอังกฤษ

LEAVE: เงินปอนด์สเตอร์ลิงที่อ่อนค่าจะทำให้ราคาสินค้านำเข้า อาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภคพุ่งสูงขึ้น การเดินทางมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่งานหลายหมื่นตำแหน่งที่เคยอยู่ในลอนดอนอาจถูกถ่ายเทไปยัง “แฟรงก์เฟิร์ต” หรือ “ปารีส” แทน

แม้สถาบันทางเศรษฐกิจหลายแห่งจะทำนายผลเสียในระยะยาวหากอังกฤษอยู่นอกกลุ่มอียู แต่สถาบันวิจัยที่ปรึกษา Capital Economics กลับมองว่าผลที่ตามมาจะไม่ถึงขั้นเป็น “หายนะ” อย่างไม่จบสิ้น โดยชี้ถึง “ข้อได้เปรียบ” ของอังกฤษทั้งในแง่ระบบกฎหมาย ภาษา เขตเวลา และแรงงานฝีมือที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

REMAIN: คลื่นผู้อพยพที่หลั่งไหลมาจากสหภาพยุโรปจะเพิ่มภาระหนักให้แก่โรงเรียน สถานพยาบาล และบริการสาธารณะอื่น ๆ ของอังกฤษต่อไป ขณะที่ฝ่ายโปรยุโรปเชื่อว่าอังกฤษจะสามารถดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งภายใต้อียู ซึ่งท้ายที่สุดก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

ผลประชามติครั้งนี้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปใด ย่อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่อังกฤษและสหภาพยุโรปบ้างไม่มากก็น้อย และอาจเป็นชนวนไปสู่การแตกแยกภายในกลุ่มอียู เนื่องจากกระแสความลังเลสงสัยในสหภาพยุโรป (Euroscepticism) นั้น ไม่ได้มีอยู่ในอังกฤษเพียงชาติเดียว ผลของประชามติในอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกยังต้องจับตามองกันต่อไปในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น