ความเคลื่อนไหวเรื่องการทำประชามติเพื่อนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” (Brexit) กลายเป็นข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังความพยายามของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ที่จะเจรจากับยุโรป และโน้มน้าวให้ชาวอังกฤษตัดสินใจอยู่ร่วมกับอียูต่อไปถูกเตะสกัดอย่างแรงโดย “โบริส จอห์นสัน” พ่อเมืองลอนดอน ซึ่งประกาศตัวว่าจะหนุนหลังแคมเปญโหวต “ออก” ฉุดให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงดิ่งเหวเป็นประวัติการณ์ในรอบ 7 ปี
นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ประกาศสนับสนุนให้ชาวเมืองผู้ดีลงประชามติเลือกอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปดังเดิม หลังบรรลุข้อตกลงกับบรรดาผู้นำยุโรปว่าด้วยการปฏิรูปความสัมพันธ์และสถานะของอังกฤษในอียู เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.พ.
คาเมรอน ยืนยันว่า อังกฤษจะได้รับ “สถานะพิเศษ” ให้สามารถจำกัดการจ่ายสวัสดิการแก่ผู้อพยพ และรับรองว่าเศรษฐกิจเมืองผู้ดีจะไม่ถูกดึงเข้าไปพัวพันกับระบบสกุลเงินเดียวของยุโรป
เขาย้ำว่า ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน อังกฤษก็จะไม่ถูกบังคับให้ทำตามนโยบายสร้าง “สหภาพที่ผูกพันใกล้ชิดยิ่งขึ้น” นอกจากนี้ ลอนดอนยังมีสิทธิ์คัดค้านนโยบายใดๆ ก็ตามของยูโรโซนที่จะเป็นอันตรายต่อเงินปอนด์สเตอร์ลิง หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเมืองผู้ดี
“เราจะไม่เข้าร่วมกับยุโรปในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเรา และจะเลือกอยู่เฉพาะในส่วนที่เป็นผลดีทั้งต่อเราและอียูเท่านั้น” คาเมรอน กล่าว
คาเมรอน ระบุว่า หลังจากนี้ อียูจะเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยตัดทอนระเบียบข้อบังคับที่ยุ่งยาก (red-tape) และส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งมาตรการเช่นนี้จะทำให้อังกฤษได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าหลายพันล้านปอนด์ในแต่ละปี
แต่แคมเปญของ คาเมรอน ก็ต้องเผชิญมรสุมลูกใหญ่ เมื่อ โบริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีลอนดอน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ออกมาประกาศหนุนฝ่ายที่เรียกร้องให้อังกฤษถอนตัวจากอียู พร้อมตำหนินายกรัฐมนตรีว่าล้มเหลวในการผลักดันการปฏิรูปพื้นฐานระหว่างทำข้อตกลงกับบรัสเซลส์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่นักการเมืองคนดังลุกขึ้นมาชนกับนายกรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกัน ทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่ชาวเมืองผู้ดีจะโหวตคัดค้านการอยู่กับสหภาพยุโรปในการลงประชามติปลายเดือน มิ.ย. นี้
“สิ่งสุดท้ายที่ผมต้องการทำคือคัดค้าน เดวิด คาเมรอน หรือ รัฐบาล แต่แม้จะปวดใจแสนสาหัส ผมก็ไม่คิดว่ามีทางเลือกอื่น นอกจากโหวตให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู)” จอห์นสัน วัย 51 ปี ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ (21) เพียง 20 นาที หลังจากที่ คาเมรอน ประกาศตัดสินใจหนุนให้อังกฤษอยู่ในอียู
จอห์นสัน และกลุ่มที่ลังเลสงสัยในสหภาพยุโรป (ยูโรเซปติกส์) นั้นเกรงว่า การร่วมใช้เงินยูโรและนโยบายสร้างสหภาพที่ใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิม จะทำให้เกิด “องค์การเหนือรัฐ” (European super-state) ที่ไม่ใช่แค่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบหลวมๆ อย่างที่ยุโรปตั้งเจตนารมณ์กันไว้แต่ต้น
เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า ทำแบบนี้เป็นการปูทางเพื่อลงสนามแย่งชิงตำแหน่งของ คาเมรอน หรือไม่ จอห์นสันก็ยิ้มพรายและตอบเพียงว่า คาเมรอนควรอยู่ต่อไม่ขึ้นอยู่กับว่าผลการลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. จะเป็นอย่างไร
คำประกาศของ จอห์นสัน สร้างความผันผวนต่อตลาดเงินทันที โดยปรากฏว่า เมื่อวันจันทร์ (22) ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงร่วงลงมาแตะระดับ 1.4058 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 ปอนด์ ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2009 ก่อนจะขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยสู่ 1.4148 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 ปอนด์ เมื่อเวลา 22.00 GMT นอกจากนี้ สกุลเงินอังกฤษยังอ่อนค่าลงมาเหลือเพียง 77.96 เพนนีเมื่อเทียบกับ 1 ยูโร
รัฐมนตรี 5 คนในรัฐบาลคาเมรอนประกาศตัวเป็นกบฏหนุนค่าย “ออก” จากอียู และมีรายงานจากสื่อว่า ส.ส.ฟากรัฐบาลราว 1 ใน 3 จากทั้งหมด 330 คน จะโหวตสนับสนุน “เบร็กซิต” ด้วย
อังกฤษเข้าร่วมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ในปี 1973 ก่อนที่องค์การระหว่างประเทศแห่งนี้จะรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา
ความสัมพันธ์ระหว่างลอนดอนกับอียูไม่ค่อยจะราบรื่น และอังกฤษเองก็ปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับโครงการสำคัญ ๆ ของอียู ไม่ว่าจะเป็นระบบสกุลเงินเดียว หรือข้อตกลงยกเว้นหนังสือเดินทางเชงเก้น (Schengen passport-free zone)
ประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. จะถือเป็นโอกาสตัดสินใจครั้งที่ 2 ของอังกฤษในรอบกว่า 30 ปี โดยก่อนหน้านี้ชาวเมืองผู้ดีเคยโหวตหนุนการเป็นสมาชิก EEC ด้วยคะแนนเพียง 67% ในปี 1975
ทั้งนี้ หากอังกฤษตัดสินใจถอนตัว จะเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่ออียู ซึ่งมีปัญหาความแตกแยกในประเด็นผู้อพยพและอนาคตของยูโรโซนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากอังกฤษเป็นชาติสมาชิกที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจทางทหาร ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเงินที่มั่งคั่งที่สุด
กลุ่มผู้สนับสนุนยุโรป เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ และ จอห์น เมเจอร์ ต่างพากันเตือนว่า การถอนตัวอาจทำให้ดินแดนสหราชอาณาจักรต้องแตก เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้สกอตแลนด์ลุกขึ้นมาทำประชามติเพื่อประกาศเอกราชอีกครั้ง
ผลสำรวจหลัง จอห์นสัน ประกาศจุดยืนคัดค้านคาเมรอนพบว่า ผู้สนับสนุนให้อังกฤษ “อยู่ต่อ” มีคะแนนนำ 15% แต่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงราว 1 ใน 5 ยังไม่ได้ตัดสินใจ
คาเมรอนประกาศจะลงจากตำแหน่งก่อนปี 2020 ซึ่งหากอังกฤษยังอยู่กับอียู โอกาสที่ จอห์นสัน จะได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอาจดับวูบจากการประกาศคัดค้านเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ทว่าในทางกลับกัน หากชาวเมืองผู้ดีลงมติให้ถอนตัว จอห์นสันก็อาจกลายเป็นเต็งหนึ่งในการสืบทอดตำแหน่งจากคาเมรอน
ร็อบ เวนไรต์ ผู้อำนวยการสำนักงานตำรวจยุโรป (ยูโรโพล) ออกมาเตือนว่า การบอกลาอียูจะทำให้อังกฤษเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายและแก๊งอาชญากรมากขึ้น เพราะจะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงฐานข้อมูล หรือข่าวกรองของยุโรปอย่างที่เคยเป็นมา ขณะที่บรรดาผู้นำภาคธุรกิจในอังกฤษก็แสดงความเป็นห่วงว่า การออกจากสหภาพยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน และทำให้เศรษฐกิจเมืองผู้ดีตกอยู่ในความเสี่ยง