เอเอฟพี - โดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป นำเสนอร่างแผนปฏิรูปวานนี้ (2 ก.พ.) เพื่อโน้มน้าวไม่ให้อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ขณะที่บรรดาสมาชิกสภายุโรปเตรียมเปิดเจรจาที่เมืองสตราสบูร์ก เพื่อให้ได้ข้อตกลงก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอียูครั้งถัดไปในวันที่ 18-19 ก.พ.
แผนการที่ ทัสก์ เสนอรวมถึงการจำกัดเงินอุดหนุนสวัสดิการสังคมให้ผู้อพยพเป็นเวลา 4 ปี, มาตรการคุ้มครองประเทศที่ไม่ได้ใช้เงินสกุลยูโร และระบบ “ใบแดง” ที่จะเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่รัฐสภาของแต่ละประเทศ
คาเมรอน กล่าวชมข้อเสนอของประธานสภายุโรปว่าเป็น “ความคืบหน้าอย่างแท้จริง” พร้อมแสดงออกเป็นนัยๆ ว่าอาจจะช่วยโน้มน้าวชาวอังกฤษให้โหวตหนุนการเป็นสมาชิกอียูในการทำประชามติ ซึ่งจะคาดว่าจะมีขึ้นในเดือน มิ.ย.
อย่างไรก็ดี คาเมรอน ต้องเตรียมเผชิญกับคำถามสำคัญหลายข้อจากสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ รวมถึงพวกที่ลังเลสงสัยในสหภาพยุโรป (eurosceptics) ภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งออกมาวิจารณ์แผนประนีประนอมที่นายกฯ ไปเจรจากับอียู และถึงขั้นกล่าวหาผู้นำอังกฤษว่าพยายามเอา “อุจจาระ” มาขัดให้ขึ้นเงา (polishing poo)
นอกจากนี้ บางประเทศในอียูก็อาจไม่เต็มใจยอมรับแผนปฏิรูปเหล่านี้สักเท่าไหร่ และมองว่า คาเมรอน กำลังได้ในสิ่งที่เรียกร้องมากเกินไป
“เราจะอยู่ด้วยกันต่อไปหรือไม่ นั่นคือคำถามที่ต้องการคำตอบ ไม่ใช่แค่จากผลประชามติของชาวอังกฤษเท่านั้น แต่รวมถึงสมาชิกอียูอีก 27 ประเทศ ภายในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ข้างหน้า” ทัสก์ ระบุในจดหมายที่ส่งถึงบรรดาผู้นำชาติอียู
ความพยายามของอังกฤษที่จะต่อรองสถานะความเป็นรัฐในอียูได้กลายเป็นประเด็นที่เพิ่มความยุ่งยากให้แก่ยุโรป ในขณะที่กำลังเผชิญกับวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมไปถึงผลพวงจากปัญหาหนี้สินยูโรโซน
คาเมรอน ชี้ว่า ข้อเสนอของ ทัสก์ แสดงให้เห็นว่าอังกฤษประสบความสำเร็จในการต่อรองให้อียูยอมปรับกฎระเบียบสำคัญๆ หลายข้อ
“หากอียูยินยอมตามเงื่อนไขเหล่านี้ แน่นอนว่าผมก็จะเลือกให้อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของอียูต่อไป” คาเมรอน กล่าวขณะขึ้นปราศรัยที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ
กระนั้นก็ดี กลุ่มยูโรเซ็ปติกส์บางคนในอังกฤษก็ยังมีท่าทีไม่ศรัทธาต่อข้อตกลงนี้
โบริส เมเยอร์ นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนซึ่งสังกัดพรรคของคาเมรอน ยอมรับว่าตนไม่มั่นใจว่าข้อเสนอนี้จะปฏิบัติได้จริง ขณะที่ ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรค ยูเค อินดิเพนเดนต์ ปาร์ตี (UKIP) ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านการรวมกลุ่มกับสหภาพยุโรป ออกมาเยาะเย้ยข้อเสนอของ ทัสก์ ว่า “น่าสมเพช” ส่วน สตีฟ เบเกอร์ ส.ส.พรรรคอนเซอร์เวทีฟ ถึงกับบอกว่า คาเมรอน พยายาม “ขัดอุจจาระให้ขึ้นเงา”
ผลสำรวจพบว่า ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ยังมีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการถอนตัวจากสหภาพยุโรป ซึ่งกำลังจะถูกทำประชามติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1975
ข้อเสนอของ ทัสก์ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงมากที่สุดก็คือ คำสั่งระงับฉุกเฉิน (emergency brake) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้รัฐบาลแต่ชาติสามารถจำกัดการจ่ายเงินอุดหนุนสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้อพยพจากรัฐอื่นๆ ในอียู เป็นเวลาสูงสุด 4 ปี นับจากวันแรกที่ผู้อพยพเหล่านั้นเดินทางเข้าประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลที่จะประกาศคำสั่งระงับฉุกเฉินจะต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่า กำลังเกิด “สถานการณ์ไม่ปกติ” ซึ่งเป็นภาระหนักอึ้งต่อระบบสวัสดิการสังคมและบริการสาธารณะในประเทศ เพื่อขอการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการยุโรป และให้ผู้นำกลุ่มประเทศอียูโหวตรับรองด้วยเสียงส่วนใหญ่
นอกจากนี้ อังกฤษจะยังถูกละเว้นจากเป้าหมายสูงสุดของอียูซึ่งต้องการสร้าง “สหภาพที่ใกล้ชิดยิ่งกว่าเก่า” เนื่องจากลอนดอนยังมี “สถานะพิเศษ” เป็นรัฐที่อยู่นอกกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินยูโรและข้อตกลงเชงเก้น
ส่วนระบบ “ใบแดง” นั้นเป็นกลไกซึ่งจะเปิดโอกาสให้รัฐสภาแต่ละชาติในอียูสามารถระดมเสียงให้ได้ถึงร้อยละ 55 เพื่อคัดค้านหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายของอียู