xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอียูอนุมัติจัดตั้งกองทุน 1.8 พันล้านยูโร ขจัดต้นตอการอพยพในแอฟริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - บรรดาผู้นำยุโรป-แอฟริกาได้เข้าประชุมร่วมกันในวันพฤหัสบดี (12 พ.ย.) พร้อมอนุมัติกองทุน 1.8 พันล้านยูโร ให้แอฟริกาเอาไปจัดการดูแลปัญหาต้นตอที่ทำให้คนอพยพเข้าสู่ยุโรปจำนวนมหาศาล

“เพื่อให้กองทุนแอฟริกาและการรับมือของเรามีความน่าเชื่อถือ ผมอยากเห็นชาติสมาชิกช่วยกันลงขันให้ถึง 1.8 พันล้านยูโร ตามที่อียูได้ผลักดัน” ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวขณะบรรดาผู้นำลงนามในข้อตกลงที่มอลตา

กมธ.ยุโรป ระบุว่า จนถึงตอนนี้มี 25 ชาติ จากทั้งหมด 28 ชาติสมาชิกอียู กับอีก 2 ชาติที่ไม่ใช่สมาชิกอียูอย่างนอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับปากว่าจะบริจาครวมกันประมาณ 78.2 ล้านยูโร ซึ่งยังห่างไกลจากตัวเลข 1.8 พันล้านยูโรตามที่ยุงเกอร์เรียกร้อง

ที่การประชุมผู้นำอียู-แอฟริกา ที่วัลเลตตา ซึ่งจะสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี บรรดาเจ้าหน้าที่อียูไม่ตัดทิ้งเรื่องจะมีผู้บริจาคเพิ่ม พร้อมทั้งบอกด้วยว่าผู้บริจาคอาจจะมีมาเพิ่มในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ประธานาธิบดีแม็กกี ซอลล์ แห่งเซเนกัล ผู้เป็นประธานประชาคมเศรษฐกิจชาติแอฟริกันตะวันตก กับบรรดาผู้นำชาติแอฟริกันรายอื่น ได้บอกนักข่าวว่า แค่กองทุนดังกล่าวนั้นยังไม่เพียงพอ

กองทุนดังกล่าวถูกออกแบบให้มีขึ้นเพื่อจัดการกับต้นตอการอพยพ อาทิ ความยากจนและการสู้รบ โดยจะสร้างงานและใช้ความพยายามทางการทูตมากขึ้น เพื่อลดหรือยุติการใช้อาวุธเข่นฆ่ากันในหลายส่วนของแอฟริกา

ในทางกลับกัน อียูก็หวังจะลงนามในแผนดำเนินการ 5 ข้อร่วมกับเหล่าผู้นำแอฟริกัน ที่มุ่งเป้าไปยังการได้รับความร่วมมือในการยอมรับการส่งผู้อพยพในยุโรปกลับบ้าน รวมถึงจัดการกับพวกค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันก็เสนอขยายช่องทางการอพยพที่ถูกกฏหมายมากขึ้น แต่ให้จำกัดจำนวน

“กองทุนฉุกเฉินเพื่อแอฟริกา จัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าอียูมีความมุ่งมั่นที่จะรับมืออย่างรวดเร็วต่อความท้าทายอันใหญ่หลวงที่เรากำลังเผชิญอยู่ในยุโรป” ยุงเกอร์กล่าว

“เพื่อให้สำเร็จลุล่วง เราจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันกับชาติยุโรปอื่นๆ และบรรดาประเทศหุ้นส่วนในแอฟริกา เพื่อจัดการกับต้นตอของการอพยพที่ผิดปกติ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจและความเท่าเทียมกันทางโอกาส ความมั่นคงและการพัฒนา” ยุงเกอร์ กล่าว

การประชุมผู้นำอียู-แอฟริกา ถูกเรียกร้องให้มีการจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อหลายเดือนก่อน ตอนที่เส้นทางเดินเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากแดนเถื่อนอย่างลิเบียยังคงเป็นจุดออกตัวของบรรดาผู้อพยพที่มุ่งสู่ยุโรป ด้วยเรือประมงซอมซ่อและเรือบดลำกระจิ๋วหลิว

ผู้อพยพเกือบ 800 ราย เสียชีวิตในเหตุเรือล่มเพียงครั้งเดียว นอกชายฝั่งลิเบียเมื่อช่วงเดือนเมษายน

แอฟริกาเหนือได้สูญเสียตำแหน่งให้กับตุรกี ในการเป็นจุดออกตัวหลักของบรรดาผู้อพยพที่มุ่งสู่ยุโรป โดยในตอนนี้มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียราว 2 ล้านคนอยู่ที่นั่น


กำลังโหลดความคิดเห็น