xs
xsm
sm
md
lg

“คาเมรอน” ประกาศหนุนอังกฤษอยู่ใน EU ต่อไป หลังยุโรปรับเงื่อนไขให้ลอนดอนได้ “สถานะพิเศษ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ประกาศสนับสนุนให้ชาวเมืองผู้ดีลงประชามติเลือกอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปดังเดิม หลังบรรลุข้อตกลงกับบรรดาผู้นำยุโรปว่าด้วยการปฏิรูปความสัมพันธ์และสถานะของอังกฤษในอียูเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ก.พ.)

หลังผ่านการเจรจาอย่างเคร่งเครียดกับบรรดาผู้นำอียูเป็นเวลา 2 วัน คาเมรอน ยืนยันว่า อังกฤษจะได้รับ “สถานะพิเศษ” ให้สามารถจำกัดการรับผู้อพยพ และรับรองว่าเศรษฐกิจเมืองผู้ดีจะไม่ถูกดึงเข้าไปพัวพันกับระบบสกุลเงินเดียวของยุโรป

“เงื่อนไขเท่านี้เพียงพอแล้วที่ผมจะแนะนำให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป” คาเมรอน ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดผู้นำอียู 28 ประเทศที่กรุงบรัสเซลส์

ด้วยกระแสความลังเลสงสัยในสหภาพยุโรป (eurosceptic) และความกระด้างกระเดื่องที่เกิดขึ้นภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ คาเมรอน จึงประกาศเมื่อ 3 ปีก่อนว่าจะจัดประชามติเต็มรูปแบบภายในปี 2017 เพื่อให้ชาวอังกฤษตัดสินใจว่าจะอยู่ในอียูต่อไปหรือไม่ แต่หากตนสามารถต่อรองกับบรัสเซลส์จนทำให้อังกฤษได้รับสิทธิพิเศษเป็นที่น่าพอใจ ก็จะรณรงค์ให้คงความสัมพันธ์กับอียูไว้ดังเดิม

หลายฝ่ายเชื่อว่า คาเมรอน จะจัดประชามติในช่วงเดือน มิ.ย.ปีนี้

คาเมรอนยืนยันว่า ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน อังกฤษก็จะไม่ถูกบังคับให้ทำตามนโยบายสร้าง “สหภาพที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น” (ever closer union) และจะไม่ร่วมใช้เงินสกุลยูโรเป็นอันขาด นอกจากนี้ ลอนดอนยังมีสิทธิ์คัดค้านนโยบายใดๆ ก็ตามของยูโรโซนที่จะเป็นอันตรายต่อเงินปอนด์สเตอลิง หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเมืองผู้ดี

“เราจะไม่เข้าร่วมกับยุโรปในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเรา และจะเลือกอยู่เฉพาะในส่วนที่เป็นผลดีทั้งต่อเราและอียูเท่านั้น” คาเมรอน กล่าว

กลุ่มยูโรเซปติกส์เกรงว่า การร่วมใช้เงินยูโรและนโยบายสร้างสหภาพที่ใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิมจะทำให้เกิด “องค์การเหนือรัฐ” (European super-state) ขึ้น ไม่ใช่แค่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบหลวมๆ อย่างที่ยุโรปตั้งเจตนารมณ์กันไว้แต่ต้น

คาเมรอนระบุว่า หลังจากนี้อียูจะเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยตัดทอนระเบียบข้อบังคับที่ยุ่งยาก (red-tape) และส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งมาตรการเช่นนี้จะทำให้อังกฤษได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าหลายพันล้านปอนด์ในแต่ละปี

คาเมรอน เสริมอีกว่า ผู้นำอียูตอบรับเงื่อนไขปฏิรูปส่วนใหญ่ที่ตนได้เรียกร้องไป โดยอังกฤษจะมีสิทธิ์ตัดทอนสวัสดิการสังคมที่ให้แก่ผู้อพยพเข้าเมือง และปราบปรามการฉ้อโกงหรือการล่วงละเมิด

รัฐในยุโรปตะวันออกที่มีพลเมืองเข้าไปทำงานในอังกฤษเป็นจำนวนมากชี้ว่า การให้สิทธิพิเศษแก่อังกฤษเช่นนี้ถือว่าเลือกปฏิบัติ และยังขัดต่อหลักเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน (freedom of movement) ที่อียูยึดถือ


กำลังโหลดความคิดเห็น