xs
xsm
sm
md
lg

สื่อจีนเตือนผู้นำกลุ่ม G7 อย่า “ก้าวก่าย” ข้อพิพาททะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป, นายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลี, นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น, ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ, นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา และ ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ที่เมืองอิเซะชิมะของญี่ปุ่น วันนี้ (26 พ.ค.)
เอเอฟพี/MGROnline - สื่อรัฐบาลจีนเตือนผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ซึ่งได้เดินทางไปประชุมซัมมิต ร่วมกันที่ญี่ปุ่น ในวันนี้ (26 พ.ค.) ว่า อย่าคิด “ก้าวก่าย” ข้อพิพาททะเลจีนใต้

คำเตือนจากปักกิ่ง มีขึ้น หลังจากที่ โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป ได้ให้สัมภาษณ์นอกรอบระหว่างการประชุมซัมมิต ที่เมืองอิเซะชิมะ ว่า G7 ควรจะประกาศจุดยืนที่ “ชัดเจนและเด็ดเดี่ยว” ต่อการที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำพิพาท

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และ ญี่ปุ่น เปิดฉากขึ้นในวันนี้ (26) ที่เมืองอิเซะชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 300 กิโลเมตร โดยประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก และความกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีน

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ โดยยึดแนวเส้นประ 9 เส้นที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของจีนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1940 และยังเข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียม ซึ่งมีรันเวย์ที่สามารถรองรับการลงจอดของเครื่องบินทหารได้ โดยไม่ยี่หระต่อเสียงคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม และไต้หวัน

สำนักข่าวซินหวาของจีนเผยแพร่บทความซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า กลุ่ม G7 “ควรใส่ใจปัญหาของตัวเอง มากกว่าชี้นิ้วสั่งผู้อื่น”

ชาง หยวน คอลัมนิสต์ของซินหวา กล่าวหาญี่ปุ่นว่า “พยายามฉวยโอกาสในการเป็นเจ้าภาพประชุม G7 ชักจูงให้มิตรประเทศโดดเดี่ยวจีน”

สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อบาดหมางกับจีนเรื่องหมู่เกาะเซ็นกากุ หรือ “เตี้ยวอี๋ว์” ในทะเลจีนตะวันออก ต่างเรียกร้องให้จีนหยุดกระทำการใด ๆ ก็ตามที่จะเพิ่มความตึงเครียด

ชาง เขียนในบทความของเขาว่า คำพูดเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นมี “วาระซ่อนเร้น” ซึ่งก็คือ ความพยายามดึงมหาอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงปัญหาทะเลจีนใต้ และการทำเช่นนี้ถือว่า “เกินขอบเขตอำนาจและศักยภาพของ G7 ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นยังสะท้อนถึงแนวคิดในยุคสงครามเย็น”

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ที่กรุงเฮก คาดว่า จะประกาศคำพิพากษาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า กรณีที่ฟิลิปปินส์ร้องขอให้ช่วยตัดสินชี้ขาดเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ของปักกิ่งในทะเลจีนใต้
 
รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวน และไม่ยอมรับว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมีอำนาจตัดสินเรื่องนี้

แม้ปักกิ่งจะเตือน “คนนอก” ว่า ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้ แต่ตนเองก็ไปดึงเอาชาติที่อยู่ไกล ๆ เช่น ไนเจอร์ โตโก และ บุรุนดี เข้ามาร่วมวงวิวาท โดยระบุว่าประเทศเหล่านี้ “เห็นด้วย” กับการที่จีนไม่ยอมรับอำนาจศาล

หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ รายงานคำพูดของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ซึ่งฝากเตือนจีนว่าจะต้องยอมรับในคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศ

เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เรียกทูตจากกลุ่ม G7 เข้าพบเพื่อประท้วงคำแถลงร่วมเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้ โดยครั้งนั้น G7 ระบุว่า “รู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียดในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ และขอเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายจัดการปัญหาและคลี่คลายข้อพิพาทด้วยสันติวิธี”






กำลังโหลดความคิดเห็น