xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดินหน้าสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ” ป้อนพลังงานแก่หมู่เกาะในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองสถานีผลิตและแจกจ่ายไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำ (ภาพ - Peoples Daily Online)
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - แผนการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ” เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้แก่โครงสร้างพื้นฐานของจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกขณะ สื่อของรัฐบาลจีนรายงานวันนี้ (22 เม.ย.)

จีนได้เข้าไปสร้างสาธารณูปโภคและดำเนินกิจกรรมทางทหารบนหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ รวมถึงการก่อสร้างประภาคารและทางวิ่งเครื่องบิน โดยอ้างว่ามีวัตถุประสงค์ด้านพลเรือนเสียเป็นส่วนใหญ่

หนังสือพิมพ์โกลบัล ไทม์ส สื่อแท็บลอยด์ในเครือเดียวกับพีเพิลส์ เดลี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำจะสามารถ “ล่อง” ไปถึงหมู่เกาะห่างไกลที่สุด และเป็นแหล่งพลังงานที่เสถียรให้แก่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงโครงการพัฒนาหมู่เกาะต่างๆ ของจีน

หลิว เจิ้งกั๋ว หัวหน้าสำนักงานใหญ่บริษัท ไชนา ชิปบิลดิง อินดัสตรี คอร์ป ซึ่งรับผิดชอบงานออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ เผยกับ โกลบัล ไทม์ส ว่า ขณะนี้บริษัท “ได้เริ่มต้นดำเนินการ” แล้ว

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม... จำนวนโรงไฟฟ้าที่เราจะสร้างก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด” ซึ่งเวลานี้ก็ “ค่อนข้างสูง”

สื่อฉบับนี้ยังอ้างรายงานของหนังสือพิมพ์ ไชนา ซีเคียวริตีส์ เจอร์เนิล เมื่อเดือน ม.ค.ซึ่งระบุว่า โรงไฟฟ้าลอยน้ำต้นแบบจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2018 และสามารถใช้งานได้จริงในปีถัดไป

หลี่ เจีย ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับประภาคาร อุปกรณ์ค้นหาและช่วยชีวิต เครื่องไม้เครื่องมือด้านกลาโหม สนามบิน และอ่าวต่างๆ ของจีนในทะเลจีนใต้

“โดยทั่วไปแล้ว เราต้องอาศัยพลังงานจากการเผาน้ำมันหรือถ่านหินเป็นหลัก” เขากล่าว

“ด้วยระยะทางที่ไกลระหว่างหมู่เกาะหนานซา (สแปรตลีย์) กับแผ่นดินใหญ่ รวมถึงความปรวนแปรของสภาพอากาศและท้องทะเล การขนส่งเชื้อเพลิงจึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องคำนึงถึง และด้วยเหตุนี้ การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง”

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นทางผ่านของน้ำมันถึง 1 ใน 3 ของโลก และแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ท้องทะเลแถบนี้ยังถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนโดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไน

เมื่อวานนี้ (21) กระทรวงการต่างประเทศจีนได้อ้างคำแถลงของ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งได้กล่าวย้ำระหว่างการเยือนบรูไนว่า ปักกิ่งต้องการคลี่คลายข้อพิพาททะเลจีนใต้อย่างสันติผ่านการเจรจาทวิภาคีกับประเทศที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ฟิลิปปินส์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ที่กรุงเฮก เพื่อขอให้ช่วยตัดสินชี้ขาดปัญหาทะเลจีนใต้ และคาดว่าศาลจะประกาศคำพิพากษาออกมาในราวเดือน พ.ค. ขณะที่รัฐบาลจีนนั้นปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวน และไม่ยอมรับว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมีอำนาจตัดสินเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น