xs
xsm
sm
md
lg

ฟิลิปปินส์แจงข้อมูลโต้ปักกิ่งเรื่อง “ข้อพิพาททะเลจีนใต้” ต่อศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จีนได้ดำเนินการถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้นในบริเวณเกาะปะการัง ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ (ภาพ - เอเอฟพี)
เอเจนซีส์ - รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ชี้แจ้งเหตุผลเพื่อหักล้างการอ้างอธิปไตยของจีนเหนือน่านน้ำและหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ที่กรุงเฮกเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวานนี้ (30 พ.ย.) หลังศาลใช้เวลาไต่สวนนาน 5 วัน

แม้จีนจะไม่ยอมรับอำนาจของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการไต่สวน แต่คณะผู้พิพากษาได้ให้เวลาปักกิ่งจนถึงวันที่ 1 ม.ค. ในการเสนอหลักฐานโต้แย้งข้อมูลของฝ่ายมะนิลา

“เราเห็นจีนเป็นมิตรประเทศที่สำคัญ และที่เราตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งมิตรภาพนั้น” คำพูดของ อัลเบิร์ต เฟอร์เรรอส เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ถูกระบุไว้ในคำแถลงของศาลเมื่อวันจันทร์ (30)

อาบิเกล วัลเต รองโฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “เราได้นำเสนอข้อโต้แย้งทุกอย่างเพื่อสนับสนุนจุดยืนของเราที่ว่า แผนที่เส้นประ 9 เส้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ”

จีนอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ โดยยึดแนวเส้นประ 9 เส้นที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของจีนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1940 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเพื่อนบ้านหลายประเทศ

“ฝ่ายเรามีเหตุผลที่ดีพอ และหวังว่าการไต่สวนรอบนี้คงจะมีคำพิพากษาจากศาลอนุญาโตตุลาการภายในอีก 6 เดือนข้างหน้า” วัลเตกล่าว

รัฐบาลฟิลิปปินส์หันไปพึ่งศาลอนุญาโตตุลาการถาวรซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1899 ให้ช่วยตัดสินข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยอ้างว่าปักกิ่งซึ่งเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea) กำลังละเมิดหลักการของอนุสัญญานี้

ถ้อยแถลงของศาลซึ่งประกาศเมื่อวานนี้ (30) ได้อ้างข้อโต้แย้งของฟิลิปปินส์ ซึ่งระบุว่า “การที่จีนอ้างอำนาจอธิปไตยและสิทธิทางประวัติศาสตร์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ ถือว่าขัดต่อหลักการในอนุสัญญายูเอ็น”

ฟิลิปปินส์เชื่อว่า จีน “ล้มเหลวในการทำหน้าที่ป้องกันมิให้พลเมืองของตนตักตวงทรัพยากรจากน่านน้ำที่อยู่ในอธิปไตยของฟิลิปปินส์ และไม่เคารพสิทธิดั้งเดิมในการทำประมงบริเวณเกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal)”

นอกจากนี้ จีนยังไม่ปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยใช้เทคนิคการประมงที่มีผลทำลายล้าง เช่น สารพิษไซยาไนด์ และระเบิด ขณะที่เรือของจีนก็เป็นอันตรายต่อการสัญจรทางทะเล

หลังจากที่มะนิลายื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการแล้ว ปักกิ่งก็ยังยั่วยุให้เกิดความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น “ด้วยการถมทะเลสร้างเกาะเทียมบริเวณน่านน้ำที่พวกเขาควบคุมอยู่ในปัจจุบัน” เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ ให้การต่อศาล

แม้กระบวนการพิจารณาคดีจะกระทำแบบปิดลับ ทว่าผู้แทนจากออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ได้รับอนุญาตให้เข้าไปรับฟังในฐานะผู้สังเกตการณ์

ทะเลจีนใต้ถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีการขนส่งสินค้าทางทะเลคิดเป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ขณะที่น้ำมันถึง 1 ใน 3 ของโลกก็ต้องถูกลำเลียงผ่านน่านน้ำแถบนี้

ล่าสุด ท้องทะเลจีนใต้ยังกลายเป็นสนามช่วงชิงอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจและการทหารเบอร์ 1 และ 2 ของโลก

หลังเกิดการเผชิญหน้าระหว่างกองเรือจีนกับฟิลิปปินส์ในปี 2012 ปักกิ่งก็ได้เข้าควบคุมเกาะปะการังสการ์โบโรห์ ซึ่งเป็นแหล่งปลาชุมที่มะนิลาอ้างว่ายังอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมีกำหนดอ่านคำพิพากษาภายในปี 2016 แม้จีนจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกระบวนการไต่สวนเลยก็ตาม

รัฐบาลปักกิ่งประกาศจุดยืนชัดเจนมาโดยตลอดว่า “จีนมีอำนาจอธิปไตยที่ไม่อาจโต้แย้งได้เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ และน่านน้ำโดยรอบ”

กำลังโหลดความคิดเห็น