รอยเตอร์ - จีนควรเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของแดนมังกรระบุในวันนี้ (5 ก.ค.) หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าที่ศาลระหว่างประเทศจะมีคำตัดสินเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์
ความตึงเครียดพุ่งสูงขึ้นก่อนหน้าการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในวันที่ 12 กรกฎาคม หลังพิจารณาข้อโต้แย้งระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ เรื่องทะเลจีนใต้ในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์
บทบรรณาธิการร่วมในหนังสือพิมพ์โกลบัลไทมส์ฉบับภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ระบุว่าข้อพิพาทนี้ซึ่งซับซ้อนอยู่แล้วจากการแทรกแซงของสหรัฐฯ ตอนนี้ยิ่งหนักข้อกว่าเดิมจากการคุกคามอำนาจอธิปไตยของจีนโดยศาลแห่งนี้
“วอชิงตันเคยส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีมาแถวทะเลจีนใต้ และพวกเขาต้องการส่งสัญญาณด้วยการอวดเบ่งกำลัง ในฐานะมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ พวกเขาต้องการให้จีนเชื่อฟัง” โกลบัลไทมส์ระบุ
จีนควรเร่งการพัฒนาศักยภาพในการป้องปรามทางทหาร หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุ
“ถึงแม้ว่าจีนจะไม่สามารถตามทันศักยภาพทางทหารของสหรัฐฯ ได้ในระยะสั้น แต่จีนควรสามารถที่จะทำให้สหรัฐฯ จ่ายค่าตอบแทนอย่างที่พวกเขาไม่อาจรับไหวหากพวกเขาแทรกแซงข้อพิพาททะเลจีนใต้ด้วยกำลัง” โกลบัลไทมส์ระบุ
“จีนหวังว่าข้อพิพาทต่างๆ จะมาสามารถคลี่คลายได้ด้วยการเจรจา แต่จีนต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้าทางทหารใดๆ ก็ตาม นี่เป็นสามัญสำนึกในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ถูกตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์รายวันพีเพิลเดลี ของพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์ และแม้ว่ามันจะถูกอ่านอย่างแพร่หลายในแวดวงผู้กำหนดนโยบาย แต่มันไม่ได้มีหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเหมือนอย่างหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดของมัน
จีนซึ่งไม่พอใจกับการตรวจการณ์ในทะเลจีนใต้ของสหรัฐฯ จะจัดการซ้อมรบทางทหารในน่านน้ำแห่งนี้ในวันพรุ่งนี้ (13)
หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีย์ของทางการรายงานว่า การทรวงกลาโหมแดนมังกรระบุว่าการซ้อมรบนี้เป็นการซ้อมรบประจำ
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลว่า คำตัดสินของศาลกรุงเฮกอาจกระตุ้นให้จีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) เหมือนกันที่ทำในทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2013
จีนจะตอบสนองอย่างไรนั้น “ล้วนขึ้นอยู่กับ” ทางฟิลิปปินส์ ไชน่าเดลีระบุเสริม โดยอ้างจากแหล่งข่าวนิรนาม “จะไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่สนใจคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ” หนึ่งในแหล่งข่าวบอกกับไชน่าเดลี
“จีนจะไม่เป็นฝ่ายก่อความตึงเครียดในภูมิภาค” อีกแหล่งข่าวหนึ่งระบุเสริม
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ 90 เปอร์เซ็นต์ของทะเลจีนใต้ น่านน้ำยุทธศาสตร์ที่เป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือมูลค่าราว 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยทับซ้อนในบางส่วนกับการอ้างสิทธิของเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน