รอยเตอร์ - กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยรายงานล่าสุดระบุว่าจีนเข้าไปปรับสภาพที่ดินในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้มากกว่าที่รับรู้กัน ขณะที่เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าปักกิ่งยุติโครงการถมทะเลแล้วจริงหรือไม่
“รัฐบาลจีนระบุว่าพวกเขายุติการแปรสภาพที่ดินแล้ว... แต่เรายังไม่ทราบว่าหยุดจริงหรือไม่” เดวิด เชียร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) ระหว่างที่เพนตากอนแถลงรายงานว่าด้วยยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เชียร์ ยอมรับว่า สิ่งที่จีนทำอยู่ขณะนี้อาจเป็นเพียงการ “เก็บรายละเอียด” ของโครงการถมทะเลที่จีนริเริ่มไว้แล้วมากกว่าจะเป็นการขยายไปสู่พื้นที่ใหม่ แต่สหรัฐฯ “จะยังคงจับตาอย่างใกล้ชิด” ว่าจะมีโครงการก่อสร้าง หรือกิจกรรมทางทหารอื่นๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือไม่
รายงานของสหรัฐฯ ชี้ว่า จีนก่อสร้างทางวิ่งเครื่องบินบนเกาะปะการัง เฟียรี ครอสส์ รีฟ ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอาจใช้เป็นรันเวย์ทางเลือกสำหรับอากาศยานที่ประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้กองทัพเรือจีนสามารถปฏิบัติภารกิจทางทะเลด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคดังกล่าว
สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” ซึ่งเป็นเรือเก่ายุคโซเวียตที่จีนซื้อต่อมาจากยูเครน และนำมาปรับปรุงยกเครื่องใหม่จนกลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของประเทศ ได้ออกปฏิบัติการในทะเลจีนใต้มาระยะหนึ่งแล้ว ทว่ายังไม่สมบูรณ์แบบนัก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ปักกิ่งจะเริ่มนำเรือบรรทุกเครื่องบินที่ผลิตเองในประเทศออกใช้งานภายในปี 2020 ตามแผนยุทธศาสตร์มุ่งสู่น่านน้ำทะเลน้ำลึก (blue water)
ในส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งจีนได้เข้าไปถมทะเล เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้าง โดยจีนได้ขุดช่องแคบน้ำลึกและสร้างอ่าวจอดเรือใหม่ เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ๆ เข้าไปเทียบท่าได้
“โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดที่จีนกำลังก่อสร้างที่นั่น ดูเหมือนจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้” รายงานของเพนตากอนเสริม
นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2013 เรื่อยมาจนถึงเดือน มิ.ย. ปี 2015 จีนได้ทำการปรับสภาพที่ดินในน่านน้ำทะเลจีนใต้ไปแล้วกว่า 2,900 เอเคอร์ (ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร) มากกว่าตัวเลข 2,000 เอเคอร์ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้
กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า รัฐบาลได้ปรับสภาพที่ดินบนเกาะและเกาะปะการังที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนายน และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างซึ่ง “อยู่ในขอบเขตอำนาจอธิปไตยของจีน” ที่จะทำได้
รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ยืนยันเมื่อต้นเดือนนี้ว่าปักกิ่งไม่ได้มีการปรับสภาพที่ดินเพิ่มเติมแล้ว ปักกิ่งระบุว่า เกาะเทียมและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่จีนเนรมิตขึ้นจะสามารถใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการทหาร ปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิต การบรรเทาภัยพิบัติ และการเดินเรือ
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่จีนจะประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (air defense identification zone - ADIZ) เหนือทะเลจีนใต้ ผู้ช่วยรัฐมนตรี เชียร์ ก็ตอบว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมรับเด็ดขาด เหมือนที่เคยปฏิเสธเขต ADIZ ของจีนเหนือทะเลจีนตะวันออกมาแล้ว
เครื่องบินต่างชาติที่จะผ่านเข้าไปในเขต ADIZ ของประเทศใดจะต้องแจ้งกำหนดการเดินทางให้ประเทศนั้นๆ ทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้มีเวลาป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น
จีนอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีมูลค่าการค้ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปี ขณะที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไน ต่างก็อ้างสิทธิทับซ้อนเหนือพื้นที่ดังกล่าว