รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ออกมาประกาศจุดยืนพร้อมทำงานร่วมกับ โรดริโก ดูเตอร์เต ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่ แม้อีกฝ่ายจะถูกครหาว่าพัวพันการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม
นักวิเคราะห์กิจการในเอเชียชี้ว่า จุดยืนของวอชิงตันสะท้อนถึงความเป็นจริงที่ว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่จีนใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาค และอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้
“วอชิงตันเคารพการตัดสินใจของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับคณะผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา” เอลิซาเบธ ทรูโด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงต่อสื่อมวลชน หลังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งทั่วไปในฟิลิปปินส์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 พ.ค.)
แม้จะยังไม่มีการประกาศชื่อผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ผลการนับคะแนนเบื้องต้นพบว่าดูเตอร์เตมีคะแนนนำโด่งแซงหน้าคู่แข่งอีก 2 คน ซึ่งต่างออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้แล้วทั้งคู่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าสหรัฐฯ กังวลหรือไม่เกี่ยวกับนโยบายที่ก้าวร้าวดุดันของดูเตอร์เต ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้ตำรวจกระทำวิสามัญฆาตกรรมผู้กระทำความผิดเพื่อปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติด ทรูโดก็กล่าวย้ำคำเดิมว่า วอชิงตันเคารพการตัดสินใจของชาวฟิลิปปินส์
“เรารอคอยที่จะทำงานร่วมกับผู้นำที่ชาวฟิลิปปินส์ได้เลือกขึ้นมา”
แม้คำสัญญาของดูเตอร์เตที่ว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อคืนความสงบเรียบร้อยสู่บ้านเมืองจะโดนใจชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ แต่หลายคนยังรู้สึกเป็นห่วงคำพูดรุนแรง และการส่งเสริมให้ตำรวจกระทำวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายเพื่อกวาดล้างอาชญากรรม ซึ่งอาจทำให้แดนตากาล็อกหวนกลับไปสู่ “ยุคมืด” เหมือนเมื่อครั้งที่ยังถูกครอบงำด้วยระบอบเผด็จการ
ดูเตอร์เตถูกกล่าวหาว่าส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่เมืองดาเวาใช้ระบบศาลเตี้ยสังหารบุคคลที่ต้องสงสัยเป็นอาชญากรไปกว่า 1,000 คน ขณะที่นักวิจารณ์ก็เตือนว่า แนวปฏิบัติเช่นนี้อาจแพร่หลายไปทั่วประเทศหลังจากที่ดูเตอร์เตก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี
สหรัฐฯ ปิดฐานทัพในฟิลิปปินส์ไปตั้งแต่ปี 1992 ทว่าทั้ง 2 ประเทศยังคงมีความร่วมมือตามข้อตกลงกลาโหมปี 1951 และฟิลิปปินส์ก็ถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุลสู่เอเชีย” ที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ริเริ่มขึ้น
แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้เมื่อเดือน เม.ย. ว่า วอชิงตันจะส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาผลัดเปลี่ยนประจำการในฟิลิปปินส์อย่างสม่ำเสมอ และทั้ง 2 ชาติก็ได้เริ่มออกตรวจการณ์ทางทะเลร่วมกันเพื่อตอบโต้การอ้างกรรมสิทธิ์ของปักกิ่งในทะเลจีนใต้
จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เกือบ 90% ของทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดเส้นทางหนึ่งของโลกแล้ว ยังเชื่อกันว่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมันและก๊าซใต้สมุทร ขณะที่บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไต้หวัน ก็อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนอยู่ด้วย
ท่าทีที่สหรัฐฯ มีต่อดูเตอร์เตในวันนี้คล้ายคลึงกับกรณีของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ซึ่งเคยถูกสหรัฐฯ แบนวีซ่าเข้าประเทศสมัยที่ยังเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต เพราะถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อเหตุจลาจลครั้งใหญ่เมื่อปี 2002 จนเป็นเหตุให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมถูกพวกฮินดูหัวรุนแรงสังหารไปเกือบ 1,000 คน
เมอร์เรย์ เฮอร์เบิร์ต นักวิเคราะห์กิจการเอเชียจากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ชี้ว่า “ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของเขา (ดูเตอร์เต) ทำให้สหรัฐฯ ต้องหยุดคิด แต่ในเมื่อชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เลือกเขาขึ้นมา... สหรัฐฯ ก็จำเป็นต้องร่วมมือกับเขา”
แพทริก โครนิน นักวิเคราะห์ด้านเอเชีย-แปซิฟิก เอ่ยถึงเหตุผล 3 ประการที่ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของสหรัฐฯ ได้แก่ 1) ที่ตั้งของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหมู่เกาะใหญ่แห่งแรกจากแผ่นดินเอเชียตะวันออก 2) ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรชาติเดียวของสหรัฐฯ ที่อยู่ในกลุ่มผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ และ 3) ความสำคัญของปัญหาทะเลจีนใต้ในระดับภูมิภาค
“ปัญหาทะเลจีนใต้ถือเป็นเครื่องทดสอบอิทธิพลและความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” โครนิน ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์จากสถาบันความมั่นคงอเมริกันใหม่ (New American Security) ระบุ
“หากเราไม่ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของฟิลิปปินส์ เราจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากชาติพันธมิตร และพันธกรณีของเราก็จะถูกตั้งคำถาม”