รอยเตอร์ - แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงวันนี้ (14 เม.ย.) ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะมีการส่งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปผลัดเปลี่ยนประจำการในฟิลิปปินส์อย่างสม่ำเสมอ พร้อมประกาศว่าทั้งสองชาติได้เริ่มออกตรวจการณ์ทางทะเลร่วมกันในทะเลจีนใต้
แผนผลัดเปลี่ยนกำลังพลนี้จะช่วยให้สหรัฐฯ ไม่ต้องส่งทหารเข้าไปประจำการในฟิลิปปินส์มากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงแสดงออกถึงความร่วมมือทางทหาร ตลอดจนความกังวลที่ทั้ง 2 ชาติมีร่วมกันเกี่ยวกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน
คาร์เตอร์ กล่าวว่า หลายประเทศรอบภูมิภาคล้วนเป็นกังวลต่อกิจกรรมที่จีนทำอยู่ แต่การที่สหรัฐฯ ขยายบทบาททางทหารก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะยั่วยุให้เกิดการกระทบกระทั่งกับปักกิ่ง
“ทหารอเมริกันจะถูกส่งมาประจำการที่นี่อย่างสม่ำเสมอ” คาร์เตอร์ กล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ วอลแตร์ กัซมิน ที่ทำเนียบมาลากันยัง กรุงมะนิลา
“สิ่งที่สหรัฐฯ ปฏิบัติอยู่นี้สอดคล้องกับแบบแผนที่เรากระทำมานานหลายสิบปี และเกิดจากคำเชื้อเชิญจากชาติพันธมิตรของเราเอง”
เพนตากอนระบุว่า ภารกิจตรวจการณ์ร่วมในทะเลจีนใต้ระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์มีขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค. และครั้งที่ 2 ก็เพิ่งจะเปิดฉากขึ้นเมื่อต้นเดือนนี้ และจะมี “อย่างสม่ำเสมอ” ต่อไปในอนาคต
สหรัฐฯ เพิ่งออกตรวจการณ์ทางทะเลร่วมกับญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้ไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็ยังนับว่าเป็นภารกิจที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ
คาร์เตอร์ แถลงว่า เครื่องบินทหารและนักบินของสหรัฐฯ ราว 200 นายจากกองกำลังทางอากาศภาคพื้นแปซิฟิก (US Pacific Air Forces) จะประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศคลาร์กซึ่งเป็นฐานทัพเก่าของอเมริกาไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ โดยอากาศยานที่ถูกส่งเข้าไปชุดแรกนี้ประกอบด้วยเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน เอ-10ซี ธันเดอร์โบลต์ ทู จำนวน 5 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ เอชเอช-60จี เพฟ ฮอว์ก 3 ลำ และเครื่องบินโจมตีสำหรับปฏิบัติการพิเศษ เอ็มซี-130เอช อีก 1 ลำ
นอกจากนี้ ทหารสหรัฐฯ 75 นายซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาวิกโยธิน จะยังคงผลัดเปลี่ยนประจำการในฟิลิปปินส์ต่อไป หลังการซ้อมรบร่วมภายใต้รหัส “บาลิกาตัน” เสร็จสิ้นลงในปลายสัปดาห์นี้
ฟิลิปปินส์ยังเตรียมเปิดบ้านต้อนรับทหารอเมริกันที่จะถูกส่งมาประจำการยังฐานทัพทั้ง 5 แห่งในแดนตากาล็อก ภายใต้ข้อตกลงกลาโหมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุลสู่เอเชีย” ที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา พยายามผลักดัน
รัฐบาลจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและแหล่งพลังงานขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก ซึ่งแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนได้เข้าไปสร้างทางวิ่งเครื่องบินและสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ บนเกาะเทียม เพื่อยืนยันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านี้
การกระทำของปักกิ่งสร้างความไม่พอใจต่อเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนอยู่
ฟิลิปปินส์ได้ไปฟ้องศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ที่กรุงเฮกให้ช่วยตัดสินชี้ขาดปัญหาทะเลจีนใต้ และคาดว่าศาลจะประกาศคำพิพากษาออกมาในราวเดือน พ.ค. ขณะที่รัฐบาลจีนนั้นไม่ยอมรับว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ และยืนกรานให้แก้ไขข้อพิพาทผ่านการเจรจาทวิภาคีเท่านั้น