xs
xsm
sm
md
lg

‘น้ำตาแห่งชัย’: ‘ดูเตอร์เต’พูดถึงการเปลี่ยนแปลงหลังชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   โดย: ลอเรนซ์ นีล ซานโตส

<i>โรดริโก ดูเตอร์เต ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์  ซึ่งเป็นคนที่ดูห้าวเป้งและหยาบโลน  เดินทางไปเยี่ยมเคารพสถานที่บรรจุศพบิดามารดาของเขาเมื่อเช้าตรู่วันอังคาร (10 พ.ค.) และร้องไห้สะอึกสะอื้นต่อหน้าช่องบรรจุศพของมารดา </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Tears of victory: Duterte talks transition after Philippines presidential win
BY Lorenz Niel Santos
10/05/2016

ภายหลังผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการปรากฏออกมาว่า โรดริโก ดูเตอร์เต นำโด่งและจะได้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนต่อไป เขาได้ไปร้องไห้สะอึกสะอื้นในสถานเก็บศพบิดามารดาของเขา นอกจากนั้นเขาได้ให้สัมภาษณ์ทางทีวีพูดถึงเรื่องต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้รวมถึงเรื่องที่เขาจะต้องควบคุมปากงดพูดคำหยาบโลน

มะนิลา - ไม่ว่าจะมีอายุขนาดไหน, ห้าวแกร่งเพียงใด, เป็นคนที่ประสบความสำเร็จหรือมีอำนาจมากมายระดับไหน เขาหรือเธอก็ยังมักจะต้องวิ่งไปหาแม่เสมอเมื่อเผชิญกับเรื่องยากเย็นและโหดหิน หลักฐานพิสูจน์เรื่องนี้นะรึ? โรดริโก ดูเตอร์เต นายกเทศมนตรีนครดาเวา ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรเหมือนเด็กๆ ทีเดียว เมื่อเขาไปเยี่ยมคารวะสถานที่เก็บศพบิดามารดาของเขาในตอนเช้าตรู่ของวันอังคาร (10 พ.ค.)

หลังจากให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ในดาเวาเมื่อตอนตี 3 ก่อนฟ้าสางแล้ว ดูเตอร์เตก็ได้เดินทางไปยังสุสานสาธารณะดาเวา (Davao Public Cemetery) เพื่อเยี่ยมคารวะบิดามารดาของเขา ณ ที่นั้น ต่อหน้าช่องบรรจุศพมารดาของเขา (ผู้มีนามว่า โซเลแดด Soledad) เขาร้องไห้สะอึกสะอื้น

จากคลิปวิดีโอ เราได้ยินชายผู้สารภาพว่าตัวเองเป็น “ลูกแหง่ของแม่” ร้องอ้อนวอนขอให้มารดาของเขาช่วยชี้แนะนำทาง ในเรื่องที่ว่าเขาจะปกครองประเทศที่มีผู้คนกว่า 100 ล้านอย่างไร ต่อจากนั้นเขาก็เดินทางที่โลงศพของบิดาของเขาและจูบแสดงความเคารพรัก
<i>หลังจากร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรหน้าช่องบรรจุศพของมารดาแล้ว เขาก็เดินมาจูบหีบศพของบิดา </i>
บิดาของ ดูเตอร์เต เป็นอดีตผู้ว่าการจังหวัดดาเวา ส่วนมารดาของเขาเป็นครูโรงเรียนรัฐบาล

นายกเทศมนตรีผู้พูดจาห้าวเป้งอยู่เป็นประจำผู้นี้บอกว่า ก่อนหน้านี้เขาก็รู้สึกอยากร้องไห้ ทว่าต้องมัวยุ่งเหยิงอยู่กับการรณรงค์หาเสียงจนไม่มีเวลา “ตรงนี้มีผีนะ คุณได้ยินแต่เสียงร้องไห้” เขากล่าว

ดูเตอร์เต ซึ่งเป็นที่รู้จักเรียกขานกันอย่างแพร่หลายว่า “ดิกง” (Digong) คุยโวว่าตัวเองเป็นนักเข่นฆ่าประหัตประหารอาชญากร รวมทั้งประกาศจะขี่เจ๊ตสกีไปปักธงชาติฟิลิปปินส์บนเกาะต่างๆ ที่พิพาทช่วงชิงกับจีนใน ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (West Philippine Sea ชื่อที่ฟิลิปปินส์ใช้เรียกทะเลจีนใต้ -ผู้แปล) หากศาลระหว่างประเทศตัดสินว่ามันเป็นกรรมสิทธิ์ของฟิลิปปินส์ แล้วจีนเพิกเฉยไม่ยอมคืนให้ -- ทั้งนี้ เป็นการพูดก่อนหน้าที่เขาจะมีชัยชนะได้ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ

เวลานี้ ดูเตอร์เตได้เสียงโหวตจากผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนน มากเกินกว่าคะแนนทั้งหมดที่ประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน ที่3 ได้รับเมื่อตอนที่เขาคว้าชัยในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2010 แล้ว ในตอนนั้นอากีโนได้คะแนนทั้งหมด 15,208,678 เสียง หรือคิดเป็น 42% ของผู้ที่ออกมาโหวต ขณะที่ดูเตอร์เตกวาดมาได้แล้ว 15,582,454 เสียงโดยที่การนับคะแนนยังไม่ทันหมดสิ้น

คณะกรรมการรับมอบอำนาจ

ค่ายของดูเตอร์เตกำลังจัดตั้งคณะกรรมการรับมอบอำนาจชุดหนึ่งขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อเริ่มต้นการดำเนินงานจัดเตรียมคณะบริหารของเขาให้เป็นรูปเป็นร่างต่อไป ปีเตอร์ ติอู ลาบิญา (Peter Tiu Laviña) โฆษกของดูเตอร์เต กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คณะกรรมการรับมอบอำนาจนี้จะประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ 3 ชุดด้วยกัน ได้แก่ชุดพิธีการสาบานตัวเข้ารับตำแหน่ง, ชุดนโยบาย, และชุดคัดสรรบุคลากร

ว่าที่ประธานาธิบดีผู้นี้กำลังมองหาบุคลากรทางทหารที่จะดึงเข้ามาอยู่ในคณะรัฐมนตรีของเขา ทั้งนี้ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ย่อมต้องมีรัฐมนตรีระดับวงในผู้หนึ่งทำหน้าที่เป็นตัวตายตัวแทนของประธานาธิบดี

ระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์แพร่ภาพไปทั่วประเทศทางรายการทีวีของ ศาสนาจารย์ อปอลโล กีโบลอย (Pastor Apollo Quiboloy) ดูเตอร์เตสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงสไตล์ของเขา นายกเทศมนตรีผู้ชอบทะเลาะวิวาท อีกทั้งขึ้นชื่อในความเป็นผู้นำแบบใช้กำปั้นเหล็กของเขาในดาเวามาเป็นเวลากว่า 20 ปี ตลอดจนการรณรงค์หาเสียงด้วยการใช้ภาษาหยาบโลนผู้นี้ ยังได้ประกาศให้คำมั่นว่าจะควบคุมการใช้ถ้อยคำหยาบคายของตัวเอง

“ผมจำเป็นต้องควบคุมปากของผมเอง ผมไม่สามารถทำตัวไม่สุภาพ เพราะผมจะต้องเป็นตัวแทนประเทศชาติของเรา” ดูเตอร์เตกล่าว เขายังชี้ด้วยว่าประธานาธิบดีควรเป็นทำตัวเป็นผู้ที่มี “ความสุภาพเป็นระเบียบเรียบร้อย”

ขณะที่ วิตาเลียโน อากีร์เร (Vitaliano Aguirre) ผู้เป็นเพื่อนและทนายของเขามายาวนานแล้ว กล่าวว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังภาพลักษณ์ความเป็นชายชาตรีผู้ห้าวแกร่งและความหยาบโลนของดูเตอร์เต คือ คนที่มีความจริงใจ “เราควรมองให้ลึกซึ้งไปถึงเบื้องหลังของภาษาถ้อยคำที่บกพร่องไม่ถูกต้อง เขามีความจริงใจจริงๆ ที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศชาติของเรา” อากีร์เร ยืนยัน

พูดคุยเยียวยาสมานไมตรี

ถึงแม้ยังไม่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ดูเตอร์เตก็ได้แสดงท่าทีพร้อมที่จะจับมือกับพวกปรปักษ์ระหว่างการหาเสียงของเขา เขากล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องสามัคคีกันและเริ่มต้นการเยียวยาสมานไมตรี “ขอให้พวกเรามาเป็นเพื่อนกัน ลืมความเจ็บช้ำที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้ง” เขาบอก

ดูเตอร์เตกล่าวว่า เขาได้พูดคุยกับวุฒิสมาชิก เกรซ โป (Grace Poe) ไปเรียบร้อยแล้ว วุฒิสมาชิกหญิงซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคราวนี้ด้วยผู้นี้ ได้โทรศัพท์ถึงเขาเพื่อแจ้งให้ทราบว่า เธอกำลังจะออกรายการทีวีแพร่ภาพทั่วประเทศเพื่อประกาศยกธงขาวยอมแพ้แก่ดูเตอร์เต “เธอสง่างามเหลือเกินที่โทรศัพท์มาถึงผม” ดูเตอร์เตกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ทางรายการทีวีของศาสนาจารย์ กีโบลอย

เขาให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการป่าวประกาศเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ทางการเมืองของ โป เป็นต้นว่า การปฏิรูปการเลือกตั้ง ดูเตอร์เตกระทั่งกล่าวว่า ถ้าหาก โป ต้องการหาตัวเขาแล้ว เขาจะเป็นฝ่ายไปเยี่ยมเธอถึงที่ทำงานของเธอ แทนที่จะต้องให้เธอเดินทางไปยัง “มาลากาญัง” ซึ่งเป็นชื่อทำเนียบของประธานาธิบดีในกรุงมะนิลา

ดูเตอร์เตยังกล่าวยกย่องสรรเสริญ โป ที่ยืนยันไม่ยอมเปลี่ยนจุดยืน โดยปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของประธานาธิบดีอากีโน ซึ่งจะให้ตำแหน่งรองประธานาธิบดี แลกกับการที่เธอต้องยอมสนับสนุน มาร์ โรซาส (Mar Roxas) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งคณะบริหารของอากีโนหนุนหลังอยู่ ดูเตอร์เตยังยกย่องสรรเสริญเธอ ที่ไม่ได้จับมือกับ โรซาส เพื่อป้องกันขัดขวางไม่ให้ ดูเตอร์เต ชนะการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ในวันอังคาร (10 พ.ค.) นั่นเอง โรซาส ก็ได้ประกาศยอมแพ้ต่อ ดูเตอร์เต ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นเดียวกัน “ผมขออวยพรให้ ดิกง ประสบความสำเร็จ” โรซาสกล่าว อันเป็นการสะท้อนคำเรียกร้องของดูเตอร์เต ที่ขอให้หันมาสามัคคีกันและมุ่งโฟกัสไปที่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศชาติ

แม้กระทั่งผู้ที่คอยตามจิกวิพากษ์วิจารณ์ดูเตอร์เต อย่าง วุฒิสมาชิก อันโตนิโอ ตริลลาเนส ที่ 4 (Antonio Trillanes IV) ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง ได้กล่าวหาดูเตอร์เตว่ามีทรัพย์สินเงินทองที่ซุกซ่อนไว้ไม่ยอมแจ้งต่อสาธารณชนตามกฎหมาย เป็นจำนวนกว่า 200 ล้านเปโซ ก็ได้ออกมากล่าวว่า เขาจะไม่ขัดขวางการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของดูเตอร์เต

อากีร์เร กล่าวว่า ดูเตอร์เตเป็นประธานาธิบดีคนแรกซึ่งชนะเลือกตั้งโดยใช้วิธีให้ประชาชนช่วยเป็นอาสาสมัคร “เราไม่ได้มีเงินทอง ไม่ได้มีองค์การและกลไกใหญ่โตอะไรเลย” เขาบอก

ถึงแม้กล่าวกันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่มีการใช้จ่ายเงินทองแพงลิ่วที่สุดในประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ เห็นกันว่าผู้สมัครแต่ละคนน่าจะใช้จ่ายเงินกันมากกว่า 300 ล้านเปโซ (ราว 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยที่ในจำนวนผู้สมัครทั้ง 5 คน ดูเตอร์เตเป็นผู้ใช้จ่ายต่ำสุดเป็นลำดับที่ 2 ทั้งนี้เขาใช้ไปราว 140 ล้านเปโซ เฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาทางการเมือง

อากีร์เร บอกว่าการที่ดูเตอร์เตเข้าแข่งขันและรณรงค์หาเสียงได้ ก็ด้วยความช่วยเหลือของพวกเพื่อนนักเรียนเก่าตลอดจนพวกพี่ๆ น้องๆ ที่เคยเข้าวิทยาลัยนิติศาสตร์ซานเบดา (San Beda College of Law) แห่งเดียวกับนายกเทศมนตรีดาเวาผู้นี้ “พวกเราถึงขนาดก่อตั้ง ‘กลุ่มพี่น้องเพื่อดูเตอร์เต’ (Brotherhood for Duterte) ขึ้นมา เพื่อผลักดันให้การลงแข่งขันของเขาสามารถเดินหน้าต่อไปได้” อากีร์เร กล่าว และบอกอีกวา พวกเขากระทั่งไม่มีเงินทองใช้จ่ายเพียงพอสำหรับการส่งคนไปคอยเฝ้าสังเกตการณ์ตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทั่วประเทศ

เขายืนยันว่า คนจำนวนน้อยที่พวกเขาส่งไปสังเกตการณ์นั้นเป็นพวกอาสาสมัคร “เขาจะบอกพวกเราอยู่เรื่อยๆ ว่า ถ้าหากโชคชะตาจะทำให้เขาเป็นผู้ชนะแล้ว เขาก็จะเป็นผู้ชนะ” อากีร์เร กล่าว และเสริมด้วยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงนั้น มีเงินบริจาคอยู่บ้างที่ไหลเข้ามาสนับสนุนดูเตอร์เต “บางทีพวกเขาคงจะสังเกตมองเห็นเขาแล้ว เพราะเขาได้เรตติ้งสูงในการสำรวจความคิดเห็นของสำนักต่างๆ” อากีร์เร บอก

ลอเรนซ์ นีล ซานโตส เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงมะนิลา

กำลังโหลดความคิดเห็น