เอเอฟพี - ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ “โรดริโก ดูเตอร์เต” ระบุนักข่าวทุจริตจะตกเป็นเป้าสังหารอย่างถูกกฎหมาย พร้อมเสนอให้รางวัลสำหรับการฆ่าพวกค้ายาเสพติด
ดูเตอร์เตชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปแบบถล่มทลายจากการหาเสียงว่าจะจัดการอาชญากรรมให้หมดสิ้นไปภายใน 6 เดือน ด้วยการสังหารพวกผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรหลายหมื่นราย
นักการเมืองปากเสียผู้นี้ได้ออกมาร่ายยาวถึงมาตรการต่างๆ ในการปราบอาชญากรรม หลังชนะการเลือกตั้ง โดยได้ตอกย้ำอยู่เสมอว่าจะสังหารคนพวกนั้น โดยเฉพาะพ่อค้ายาเสพติด พวกก่อเหตุข่มขืน และพวกฆาตกร นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวที่เมืองดาเวาในวันอังคารเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ดูเตอร์เตยังบอกด้วยว่านักข่าวที่รับเงินสินบนหรือมีส่วนร่วมในการทุจริตนั้นสมควรตายด้วยเช่นกัน
“แค่เพียงเพราะแกเป็นนักข่าว ไม่ได้ทำให้ได้รับการยกเว้นจากการสังหาร หากว่าแกเป็นพวกลูกกะหรี่” ดูเตอร์เตกล่าวเมื่อถูกถามว่าจะจัดการอย่างไรกับปัญหาเรื่องที่สื่อมวลชนถูกฆ่าในฟิลิปปินส์ หลังจากมีนักข่าวรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในกรุงมะนิลาเมื่อสัปดาห์ก่อน
ฟิลิปปินส์คือหนึ่งในประเทศอันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักข่าว ด้วยตัวเลขนักข่าวถูกฆาตกรรม 174 ราย นับตั้งแต่ประชาธิปไตยที่สับสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยการทุจริตเข้ามาแทนที่ยุคเผด็จการของ “เฟอร์ดินาน มาร์กอส” เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน
“พวกที่ถูกฆ่าส่วนใหญ่เนี่ย พูดตรงๆ เลยนะ มันต้องทำอะไรสักอย่างไว้ แกไม่ถูกฆ่าหรอกถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด” ดูเตอร์เตกล่าว พร้อมทั้งบอกด้วยว่านักข่าวในฟิลิปปินส์ทุจริตเยอะมาก
ดูเตอร์เตยังบอกด้วยว่า เสรีภาพในการแสดงออกตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นจะต้องปกป้องบุคคลจากความรุนแรงที่เป็นผลของการหมิ่นประมาท
“นั่นไม่ใช่เสรีภาพในการพูด รัฐธรรมนูญไม่ช่วยแกอีกต่อไปแล้ว หากแกดูหมิ่นผู้อื่น” ดูเตอร์เตกล่าว
ดูเตอร์เตได้ยกกรณีของ “จุน ปาลา” ผู้เป็นนักข่าวและนักการเมืองที่ถูกฆาตกรรมในเมืองดาเวาเมื่อปี 2003 ปาลาเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ดูเตอร์เต แล้ววันหนึ่งก็มีมือปืนขับขี่จักรยานยนต์ไปยิงเขาตาย คดีฆาตกรรมของเขาไม่เคยคลี่คลายได้เลย
“ถ้าแกเป็นนักข่าวที่ดีก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับแกหรอก ดูปาลาเป็นตัวอย่าง ฉันไม่อยากทำลายความทรงจำที่คนมีต่อเขาหรอก แต่ไอ้นั่นมันลูกกะหรี่เน่าเฟะ” กล่าวโดยดูเตอร์เต ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวานานเกือบ 2 ทศวรรษ ทั้งยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยล่าสังหารในเมือง
หนึ่งในการโจมตีนักข่าวรุนแรงที่สุดในโลกเกิดขึ้นที่ฟิลิปปินส์เมื่อปี 2009 ตอนนั้นมีนักข่าว 32 รายอยู่ในกลุ่มผู้เสียชีวิต 58 ราย ที่ถูกสังหารโดยผู้มีอิทธิพลที่ตั้งใจจะหยุดยั้งคู่แข่งในการเลือกตั้ง การสังหารหมู่คราวนั้นมีคนถูกดำเนินคดีมากกว่า 100 ราย ในจำนวนนั้นมีสมาชิกของตระกูลอัมปาตวนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการเรื่องทั้งหมด
ดูเตอร์เตได้เอ่ยชื่อ ซัลวาดอร์ ปาเนโล อดีตทนายจำเลยของพวกอัมปาตวน ให้เป็นโฆษกทำเนียบประธานาธิบดี การเสนอชื่อนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากครอบครัวของเหยื่อรวมถึงองค์กรข่าว
ดูเตอร์เตผู้มีกำหนดเริ่มงานในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ยังได้ระบุว่า จะให้เงินรางวัลค่าหัวสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้สังหารพวกค้ายาเสพติด หากจัดการระดับตัวหัวหน้าแก๊งได้จะได้เงินถึง 3 ล้านเปโซ แต่ถ้าเป็นพวกลำดับรองลงมา เงินรางวัลก็จะน้อยลงตามลำดับ
จากแผนคร่าวๆ ในการทำสงครามกับอาชญากรรม ดูเตอร์เตบอกว่าจะสั่งให้อำนาจพิเศษแก่ตำรวจในการยิงเพื่อฆ่า พร้อมทั้งส่งพวกเขาเข้าไปในคุกที่มะนิลา ที่มีพวกค้ายาดำเนินการอยู่ในนั้น
เขายังบอกอีกว่า จะส่งเสริมให้ทหารชั้นผู้น้อยสังหารนายตำรวจระดับสูงที่ทุจริตและเกี่ยวข้องกับพวกค้ายาเสพติด
“ผมจะเรียกพลทหารมาจากกองทัพแล้วบอกว่ายิงมันเลย” ดูเตอร์เตกล่าวพร้อมกับบอกด้วยว่าจะเรียกร้องตำรวจไม่ต้องรอให้ถึงวันที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดี เริ่มฆ่าพวกอาชญากรได้เลย
“เอามันตอนนี้เลย ตอนนี้เลย” เขาเรียกร้องตำรวจ
ตำรวจได้ยืนยันไปก่อนหน้านี้ว่ามีการสังหารคนไป 15 ราย จากการบุกตรวจค้นยาเสพติดหลายครั้งทั่วประเทศในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทางองค์การนิรโทษกรรมสากลได้ระบุว่านั่นเป็นความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นปัญหาที่มีมายาวนานเรื่องการตายที่น่าสงสัยโดยฝีมือกองกำลังความมั่นคงฟิลิปปินส์