xs
xsm
sm
md
lg

“ดูเตอร์เต” เมิน!! ไม่ร่วมพิธีรัฐสภารับรองให้เป็น “ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>เลนี โรเบรโด ว่าที่รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (กลาง) ชูยกมือของเธอพร้อมกับของ แฟรงคลิน ดริลลอน ประธานวุฒิสภา (ซ้าย) และ เฟลิเซียโน เบลมอนเต จูเนียร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ขวา) ภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาฟิลิปปินส์ ประกาศรับรองในวันจันทร์ (30 พ.ค.) ว่าเธอเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งตำแหน่งนี้ </i>
เอเอฟพี - รัฐสภาฟิลิปปินส์ประกาศอย่างเป็นทางการในวันนี้ (30 พ.ค.) ว่า โรดริโก ดูเตอร์เต คือ ประธานาธิบดีคนต่อไปของประเทศ ภายหลังที่เขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ตัวเขาเองกลับเมินเฉยไม่เดินทางไปเมืองหลวงมะนิลา เพื่อร่วมพิธีการอันตื่นเต้นเอิกเกริกคราวนี้ โดยเลือกที่จะพำนักอยู่ในเมืองดาเวา บ้านเกิดทางภาคใต้ของเขาต่อไป

การประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในกรุงมะนิลา มีมติรับรองผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏออกมาว่า ดูเตอร์เต ชนะโดยมีชัยเหนือคู่แข่งคนที่ได้คะแนนรองลงมาถึงกว่า 6 ล้านเสียง

วาระลงมติรับรองนี้ ถือเป็นพิธีการสำคัญสำหรับผู้คนจำนวนมากในฟิลิปปินส์ จนกระทั่งมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ระดับชาติ ทว่า ดูเตอร์เตเลือกที่จะไม่เข้าร่วม และกลับยังคงพำนักอยู่ในเมืองดาเวา ซึ่งนับเป็นการหักล้างธรรมเนียมปฏิบัติอย่างแรง และสร้างความผิดหวังให้หลาย ๆ ฝ่าย แม้กระทั่งพวกผู้สนับสนุนดูเตอร์เตเองบางส่วน ขณะที่กลายเป็นการตอกย้ำกิตติศัพท์ของนักการเมืองปากไม่มีหูรูดวัย 71 ปีผู้นี้ ว่าเป็นคนนอกผู้หัวแข็งที่พึงพอใจกับการได้ดูหมิ่นหยามหยันชนชั้นนำผู้ทรงอิทธิพลบารมีทางการเมือง

“ผมไม่เคยไปเข้าร่วมการประกาศรับรองอะไรแบบนี้ ผมไม่เคยไปเข้าร่วมการประกาศรับรองใด ๆ เลยเท่าที่ผ่านมาในชีวิตของผม” ดูเตอร์เต กล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เมืองดาเวา ซึ่งอยู่ห่างจากมะนิลากว่า 900 กิโลเมตร และเป็นเมืองที่เขาขึ้นนั่งตำแหน่งนายกเทศมนตรีมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี

<i>ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต เมินเฉยไม่เดินทางไปกรุงมะนิลา เพื่อเข้าร่วมพิธีในวันจันทร์ (30 พ.ค.) ซึ่งรัฐสภาประกาศรับรองเขาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งตำแหน่งนี้  ทั้งนี้ดูเตอร์เตยังคงพำนักอยู่ที่เมืองดาเวา บ้านเกิดของเขา โดยที่เขาชอบจัดการแถลงข่าวในเวลาเที่ยงคืนตามโรงแรมต่างๆ ในเมืองนั้น ดังที่เห็นในภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 26 พ.ค.นี้ </i>
ดูเตอร์เต ซึ่งเรียกคะแนนนิยมได้เป็นกอบเป็นกำจากการใช้หลักนโยบายหาเสียงที่เน้นใช้วิธีรุนแรงเด็ดขาดในการการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยคุยลั่นว่าจะกวาดล้างอาชญากรรมให้หมดสิ้นภายในเวลา 6 เดือน มีกำหนดที่จะสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

เขาให้สัญญาว่า จะออกคำสั่งให้กองกำลังความมั่นคงยิงทิ้งผู้กระทำความผิด และโว ว่า อาชญากรจำนวนเรือนหมื่นจะต้องจบชีวิต ภายหลังการเลือกตั้ง ดูเตอร์เต ก็ยังคงกระตุ้นส่งเสริมครั้งแล้วครั้งเล่าให้ตำรวจสังหารผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด อีกทั้งบอกว่าเขาจะรื้อฟื้นนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่

ข้อความสำคัญอีกประการหนึ่งในการรณรงค์หาเสียงของดูเตอร์เต ก็คือ คำมั่นสัญญาของเขาที่จะจัดการต่อกรกับพวกชนชั้นนำทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่เขากำลังขายตัวเขาเองแก่ผู้ออกเสียงในฐานะเป็นคนนอก ซึ่งสามารถสั่นคลอนโครงสร้างแห่งอำนาจที่กำกับดูแลให้ฟิลิปปินส์ กลายเป็นประเทศซึ่งมีความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

ดูเตอร์เต กล่าวโทษวิพากษ์ชนชั้นนำของฟิลิปปินส์ อีกทั้งสัญญาที่จะต่อสู้เพื่อคนจน ถึงแม้เขากำลังสร้างราชวงศ์ทางการเมืองของเขาเองขึ้นมาในดาเวา รวมทั้งผู้ที่ลงสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีเคียงคู่กับเขาในคราวนี้ ก็มาจากตระกูลร่ำรวยที่สุดตระกูลหนึ่งของประเทศ

ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง เขาชักเข้าชักออกประเดี๋ยวยอมรับประเดี๋ยวปฏิเสธเรื่องที่ว่าเขาเกี่ยวข้องโยงใยกับหน่วยล่าสังหารลับ ๆ ซึ่งคอยเข่นฆ่าผู้ต้องสงสัยแบบใช้อำนาจศาลเตี้ยอยู่ในดาเวา เมืองใหญ่ที่สุดบนเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งตึงเครียด
<i>เมื่อว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต ปักหลักอยู่ที่เมืองดาเวา ยังไม่เดินทางเข้ามะนิลา  พวกนักการเมืองและใครต่อใครจึงต้องไปเข้าพบเขาที่เมืองในภาคใต้แห่งนั้น  ดังในภาพนี้ซึ่ง ดูเตอร์เต (ซ้าย) จับมือกับ แมนนี ปาเกียว ทั้งนี้นักมวยชื่อดังซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกใหม่หมาดๆ ผู้นี้ เดินทางไปเยี่ยมคำนับดูเตอร์เต เมื่อวันเสาร์ (28 พ.ค.) </i>
ดูเตอร์เตสัญญาที่จะอยู่ในดาเวาไปจนกระทั่งวาระเป็นประธานาธิบดีของเขาเริ่มต้นขึ้น แล้วยังจัดการประชุมแถลงข่าวช่วงเวลาเที่ยงคืนตามโรงแรมต่าง ๆ ของเมืองใหญ่ทางภาคใต้แห่งนี้ สภาวการณ์เช่นนี้บังคับให้เหล่านักการเมือง, นายหน้านักวิ่งเต้นต่อรองอำนาจ, ผู้นำภาคธุรกิจ, ตลอดจนพวกประจบประแจงทั้งหลาย ต้องพากินบินจากมะนิลาเพื่อขอเข้าพบเขา

เขายังกำลังเริ่มต้นจัดตั้งคณะรัฐมนตรีของเขาจากดาเวา โดยระบุชื่อนักการเมืองในภาคใต้หลายต่อหลายคนให้ครองตำแหน่งสำคัญ เขายังพบปะหารือกับตัวแทนกองจรยุทธ์ก่อความไม่สงบของคอมมิวนิสต์และของชาวมุสลิม ก่อนหน้าจะมีการเปิดเจรจาสันติภาพ

ดูเตอร์เต กล่าวว่า เขาต้องการอยู่ในดาเวาต่อไป เพราะเขารู้สึกสบายเมื่อพำนักที่นั่น เขายังแสดงความรังเกียจครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องที่ต้องขึ้นมาอยู่ที่มะนิลา ซึ่งเขากล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า เป็น “เมืองตายซาก” ที่เต็มไปด้วยสลัม

เขาบอกด้วยว่าเมื่อครองตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว จะใช้เวลาอยู่ในเมืองหลวงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเขาหวังว่าจะสามารถบินไป-กลับเมืองดาเวา ได้ทุก ๆ วันด้วยซ้ำ

ทางด้าน รามอน คาซิเปิล ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันการปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ (Institute of Political and Economic Reforms) ในฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นว่า การที่ดูเตอร์เตไม่เข้าร่วมพิธีในกรุงมะนิลาคราวนี้ เป็นการส่งข้อความว่าเขาไม่รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณพวกสมาชิกรัฐสภา และไม่ต้องการถูกรัฐสภามาจำกัดขีดกรอบ

กระนั้น ก็มีผู้สนับสนุนบางส่วนของดูเตอร์เต ซึ่งแสดงความผิดหวังที่ดูเตอร์เตไม่ไยดีกับวันสำคัญวันหนึ่งในปฏิทินทางประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์เช่นนี้

“พวกเราพยายามขอให้เขาเปลี่ยนใจ แต่โชคร้าย เขาไม่ยินยอม” วีตาเลียโน อากีร์เร ผู้ซึ่ง ดูเตอร์เต ระบุชื่อว่าจะเป็นรัฐมนตรียุติธรรมของเขา บอกกับโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์ พร้อมกับย้ำว่า ยังจะมีความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ติดตามมาอีก
<i>เลนี โรเบรโด ว่าที่รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (ที่3จากซ้าย) ยกมือของเธอพร้อมกับของ แฟรงคลิน ดริลลอน ประธานวุฒิสภา (ที่2จากซ้าย) และ เฟลิเซียโน เบลมอนเต จูเนียร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ที่4จากซ้าย) โดยมีบุตรสาว 3 คนของโรเบรโด ยืนอยู่เคียงข้าง </i>
นอกจากรับรองดูเตอร์เตแล้ว ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาในวันจันทร์ (30) ยังประกาศรับรองให้ เลนี โรเบรโด เป็นผู้มีชัยในการเลือกตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยเธอทำคะแนนเฉือนชนะ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชาย ซึ่งใช้ชื่อเดียวกันของจอมเผด็จการฟิลิปปินส์ผู้ล่วงลับไปแล้ว

โรเบรโด ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคลิเบอรัลของประธานาธิบดี เบนีโญ อากีโน ก้าวขึ้นสู่เวทียกพื้นพร้อมกับบุตรสาว 3 คนของเธอ เมื่อได้รับการประกาศรับรอง เธอยังได้แสดงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ โดยจับมือของประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาชูขึ้นอีกด้วย

ทว่า จากนั้นก็เหมือนกับฉากแอนตี้ไคลแม็กซ์ เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวแสดงความยินดีต่อดูเตอร์เต โดยที่ไม่มีใครก้าวขึ้นมาตอบรับ และประธานวุฒิสภาก็ประกาศปิดประชุมไปอย่างเงียบเชียบ

ในฟิลิปปินส์นั้น ตำแหน่งประธานาธิบดี และ รองประธานาธิบดี ถือว่าเลือกตั้งแยกขาดจากกัน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว สมัยละ 6 ปี

กำลังโหลดความคิดเห็น