xs
xsm
sm
md
lg

ทหารตำรวจเตรียมพร้อม ก่อนการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์วันจันทร์นี้ ที่มีการหาเสียงดุมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>โปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งต่างๆ ในฟิลิปปินส์ แขวนกันเต็มพืดบนถนนสายหนึ่งในเขตปริติล, ตอนโดซิตี้ ในเขตมหานครมะนิลาของฟิลิปปินส์วันอาทิตย์ (8 พ.ค.)  ก่อนหน้าวันเลือกตั้งจันทร์ที่ 9 พ.ค. </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงกระจายกำลังออกไปรักษาการณ์ทั่วทั้งฟิลิปปินส์ ในวันนี้ (8 พ.ค.) อันเป็นวันสุกดิบก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะมีทั้งการชิงชัยตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร และสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงท้องถิ่น ทั้งนี้ ภายหลังจากช่วงเวลาการรณรงค์หาเสียงที่มีการโจมตีใส่กันอย่างดุเดือด ขมขื่น และมีเหตุบาดเจ็บล้มตาย โดยจุดเด่นที่สุดย่อมเป็นเรื่องที่ โรดริโก ดูเตอร์เต ตัวเก็งที่จะชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ปราศรัยข่มขู่ว่าจะใช้วิธีเข่นฆ่าอาชญากรจำนวนนับพันนับหมื่นให้จบสิ้นชีวิตไปเลย

ผลการสำรวจความนิยมของสำนักต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า ดูเตอร์เต นายกเทศมนตรีของดาเวา เมืองทางภาคใต้ของประเทศ เป็นผู้ที่มีคะแนนนำอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์ (9) เมื่อผู้ออกเสียงนับล้าน ๆ ต่างแสดงความพอใจต้อนรับการประกาศกร้าวของเขาที่จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้าจัดการเด็ดขาดกับอาชญากรรมซึ่งกำลังทวีตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งคำขู่คุกคามของเขาที่ว่าจะปิดรัฐสภาเสียเลย หากฝ่ายนิติบัญญัติคัดค้านไม่ให้ความร่วมมือกับเขา

ประธานาธิบดี เบนีโญ อากีโน ซึ่งไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ในคราวนี้ เนื่องจากข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญที่ให้ดำรงตำแหน่งประมุขประเทศได้เพียงสมัยเดียว 6 ปีเท่านั้น ได้ออกมากล่าวเตือนหลายต่อหลายครั้งถึงอันตรายที่เมื่อได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว ดูเตอร์เต จะกลายเป็นจอมเผด็จการ และในการกล่าวปราศรัยวันสุดท้ายของการหาเสียงเมื่อวันเสาร์ (7) เพื่อช่วย มาร์ โรซาส ที่เป็นผู้สมัครซึ่งพรรคลิเบอรัลของเขาส่งเข้าประกวด อากีโน ถึงขั้นเปรียบเทียบ ดูเตอร์เต กับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำของพรรคนาซีเยอรมัน

ทางด้าน ดูเตอร์เต ก็กล่าวหาโจมตีคณะบริหารของอากีโน ว่า กำลังวางแผน “โกงอย่างมโหฬาร” เพื่อทำให้อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย โรซาส ซึ่งผลโพลชี้ว่ามีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 2 กลายเป็นผู้ชนะได้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป

พวกผู้สนับสนุนของนายกเทศมนตรีปากกล้าผู้นี้ ยังเตือนว่า จะเกิด “การปฏิวัติ” ของประชาชน ถ้าดูเตอร์เตกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ทว่า ในเวลาเดียวกันนั้นก็มีบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับฝ่ายทหาร ออกมาข่มขู่ว่าอาจจะเกิดการทำรัฐประหารยึดอำนาจ หากดูเตอร์เตเป็นผู้ชนะ
<i>บริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในย่านถนนทัฟต์เอเวนิว เขตมหานครมะนิลาของฟิลิปปินส์ เมื่อวันอาทิตย์ (8 พ.ค.) ก็เต็มไปด้วยโปสเตอร์หาเสียง </i>
บรรยากาศของช่วงการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ ซึ่งตามปกติก็มีความสับสนอลหม่าน และมีความเคยชินในวัฒนธรรมทางการเมืองที่นิยมใช้ความรุนแรงกันอยู่แล้ว จึงยิ่งเพิ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้นไปอีก

“ถ้อยคำโวหารที่พวกเขาพูดกันออกมามีความเลวร้ายเอามาก ๆ การตอบโต้กันของพวกเขาก็มีความเลวร้ายเอามาก ๆ และนี่เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปถึงพวกผู้สนับสนุนจำนวนมากให้เตรียมตัวและใช้ความก้าวร้าวรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีก” อีริก อัลเวีย ผู้นำของกลุ่มเฝ้าติดตามการเลือกตั้งที่ใช้ชื่อว่า “ขบวนการพลเมืองแห่งชาติเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี” (National Citizens Movement for Free Elections) กล่าวให้ความเห็นกับเอเอฟพี

“การรณรงค์หาเสียงคราวนี้ ก่อให้เกิดการแตกแยก และทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดการแตกขั้วแบ่งข้าง พวกเขาต่างรู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้เพื่อให้พวกเขาได้สิ่งที่ต้องการ”

อัลเวีย ชี้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมานั้นส่วนใหญ่เกิดในระดับท้องถิ่น แต่เมื่อพวกผู้นำออกมาใช้ถ้อยคำโวหารอันโกรธเกรี้ยวเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้เรื่องลุกลามออกไป
<i>ทหารผู้หนึ่งเดินออกจากประตูของโรงเรียนซึ่งใช้เป็นหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลาเมื่อวันอาทิตย์ (8 พ.ค.)  ทหารตำรวจฟิลิปปินส์เรือนแสนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์ (9) </i>
ตามตัวเลขของตำรวจทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 15 คน จากเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในปีนี้

คดีต้องสงสัยว่าจะเป็นเหตุรุนแรงเช่นนี้กรณีล่าสุด ได้แก่ คดีที่มีคนร้ายขว้างระเบิดมือเข้าไปในบ้านของขุนศึกทางการเมืองทรงอำนาจผู้หนึ่งในเขตจังหวัดมากีนดาเนา เมื่อคืนวันเสาร์ (7) ซึ่งทำให้เด็กหญิงอายุ 9 ปี ผู้หนึ่งเสียชีวิต ทั้งนี้ ตามคำแถลงของ ผู้บังคับการตำรวจ โจนาธาน เดล โรซาริโอ ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่กองกำลังเฉพาะกิจตำรวจติดตามการเลือกตั้ง ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงมะนิลา

โฆษกผู้นี้กล่าวว่า กำลัง 90% ของตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ราว 135,000 คน ได้เข้าทำหน้าที่ต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้ว และได้รับอำนาจให้ถือปืนเล็กยาวจู่โจมได้

ทางด้านกองทัพก็แถลงเช่นกันว่า กำลังทหารก็ได้รับมอบหมายให้เข้าทำหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
<i>ภาพของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คราวนี้ ที่จะเลือกตั้งกันในวันจันทร์ (9 พ.ค.) (จากซ้ายไปขวา) นายกเทศมนตรีเมืองดาเวา โรดริโก ดูเตอร์เต, วุฒิสมาชิก เกรซ โป, อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย มานูเอล “มาร์” โรซาส, รองประธานาธิบดี เจโจมาร์ บินาย, และวุฒิสมาชิก มิเรียม ซานติอาโก </i>
การเลือกตั้งของฟิลิปปินส์นั้น จัดพร้อมกันในวันเดียวตั้งแต่การชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี, รองประธานาธิบดี, สมาชิกวุฒิสภาจำนวนครึ่งสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ไปจนถึงระดับท้องถิ่นตั้งแต่ ผู้ว่าการจังหวัด, สมาชิกสภาจังหวัด จนถึง นายกเทศมนตรี, สมาชิกสภาเทศบาล

จากการที่มีผู้สมัครมากกว่า 44,000 คน เข้าแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งต่าง ๆ ราว 18,000 ตำแหน่งทั่วประเทศเช่นนี้ ยังส่งผลทำให้มีเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด

“ยุทธศาสตร์ที่ใช้กันก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เราได้เห็น ... การเปลี่ยนจากเพียงแค่ใช้เงินเพื่อซื้อเสียงกันโดยตรง มาเป็นการใช้มูลค่าของสิ่งของอื่น ๆ อย่างเช่น หมู, วัวควาย” เจมส์ จิเมเนซ โฆษกของคณะกรรมการการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ บอกกับเอเอฟพี

“เรากำลังได้รับแจ้งเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเช่น มีคนแจกข้าวของที่บรรจุอยู่ในถัง (พลาสติก) ซึ่งติดชื่อของผู้สมัครเอาไว้ บางรายก็แจกปี๊บที่ใส่พวกของชำต่าง ๆ เอาไว้ข้างใน”
<i>ชาวบ้านตรวจดูรายชื่อที่หน้าหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในเมืองดาเวา ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เมื่อวันอาทิตย์ (8 พ.ค.) 1 วันก่อนหน้าการเลือกตั้ง </i>
จิเมเนซ กล่าวว่า พวกนักการเมืองกำลังถูกบังคับให้ต้องหันมาใช้วิธีซื้อเสียง เพราะกลอุบายอย่างอื่น ๆ เป็นต้นว่า การโกงในขั้นตอนนับคะแนน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากการลงคะแนนได้เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติเป็นส่วนมากนับตั้งแต่ปี 2000

พวกกลุ่มสังเกตการณ์ติดตามการเลือกตั้ง บอกว่า การจ่ายเงินซื้อเสียงอาจจะมีราคาต่ำมากเพียงแค่ 100 เปโซ (2.10 ดอลลาร์) สำหรับตำแหน่งอย่างเช่น สมาชิกสภาเทศบาลตำบล และจะมีราคาสูงขึ้นสำหรับตำแหน่งสูง ๆ ขึ้นไป

ของขวัญของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ทว่า มีประสิทธิภาพทีเดียว สำหรับที่พวกนักการเมืองจะนำมาใช้เรียกแรงสนับสนุน ในประเทศซึ่งประมาณอย่างหยาบ ๆ แล้ว ราวหนึ่งในสี่ของประชากรจำนวนทั้งสิ้น 100 ล้านคน ยังคงมีชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าเส้นยากจน

มาตรการหนึ่งที่ประกาศออกมาใช้เพื่อขัดขวางการซื้อสิทธิขายเสียง ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในสถานที่ลงคะแนน ทั้งนี้ ด้วยจุดประสงค์ที่จะห้ามไม่ให้ใครถ่ายภาพบัตรลงคะแนนของพวกเขา เพื่อนำไปเป็นหลักฐานยืนยันแก่ผู้ซื้อเสียง ว่า พวกเขากาบัตรให้แก่ผู้สมัครถูกคนแน่ ๆ
<i>ผู้สนับสนุนของ โรดริโก ดูเตอร์เต ที่เป็นตัวเก็งจะชนะได้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในการเลือกตั้งวันจันทร์ (9 พ.ค.) นี้ พากันเข้าแถวเพื่อรับเสื้อรณรงค์หาเสียง ในวันอาทิตย์ (8) ที่เมืองดาเวา ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของแดนตากาล็อก </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น