รอยเตอร์ - ว่าที่ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ระบุเมื่อวันจันทร์ (23 พ.ค.) อนุญาตให้ฝังศพ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตผู้นำจอมเผด็จการที่สุสานวีรชนของฟิลิปปินส์ แม้ถูกคัดค้านอย่างหนัก
นายกเทศมนตรีจากเมืองดาเวาผู้นี้ยังไม่ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม แต่ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการโดยหน่วยเฝ้าระวังที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง พบว่าเขามีคะแนนนำหน้าคู่แข่งที่ใกล้ที่สุดถึง 6 ล้านเสียง และเขามีกำหนดเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 30 มิถุนายน
“ผมจะอนุญาตให้ฝังศพมาร์กอสที่สุสานลีบีงันนางมางาบายานี ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นวีรชน แต่เพราะเขาคือทหารนายหนึ่งของฟิลิปปินส์” ดูเตอร์เตกล่าวในเมืองดาเวา อ้างถึงสุสานในกรุงมะนิลา ซึ่งศพของอดีตผู้นำประเทศบางส่วนถูกฝังอยู่
นายมาร์กอสหลบหนีไปฮาวายในปี 1986 ตามหลังถูกปฏิวัติของประชาชนโค่นล้มอำนาจ ทั้งนี้เขาปกครองฟิลิปปินส์ยาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งระหว่างครองอำนาจนั้น ครอบครัวของเขาสะสมทรัพย์สินรวมกันราว 10,000 ล้านดอลลาร์
รัฐบาลทวงทรัพย์สินคืนมาได้ไม่ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ ในรูปแบบของทั้งเงินสด หุ้น อสังหาริมทรัพย์ งานศิลปะ และเพชรพลอยต่างๆ จากครอบครัวมาร์กอสและคนสนิทของพวกเขา
อดีตผู้นำรายนี้เสียชีวิตขณะอยู่ระหว่างลี้ภัยในต่างแดนในปี 1989 และเวลานี้ศพของเขาถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในบ้านเกิดของเขา ทางภาคเหนือของฟิลิปปินส์
เหล่ารัฐบาลชุดก่อนๆ ต่างไม่อนุญาตให้ครอบครัวของนายมาร์กอสนำศพของเขาไปฝังที่สุสานวีรชน ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากประชาชนชาวฟิลิปปินส์หลายหมื่นคน ในนั้นรวมถึงเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้การปกครองของเขาและครอบครัว
ลูกชายของนายมาร์กอสได้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ และมีคะแนนตามหลังนางเลนี โรเบรโด ส.ส.หญิง ในผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการราว 200,000 ถึง 300,000 คะแนน
อาร์ล ปาร์เรโน นักวิเคราะห์จากสถาบันการเมืองและปฏิรูปการเลือกตั้ง บอกว่าการตัดสินใจฝังนายมาร์กอสที่สุสานวีรชนจะก่อความแตกแยก “มันเป็นก้าวย่างที่ผิดพลาดที่ใช้ต้นทุนทางการเมืองไปกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ทั้งที่เขาควรสนับสนุนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” พร้อมระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจกระพือการชุมนุมประท้วง
นอกจากนี้แล้ว ดูเตอร์เตอาจสร้างความขุ่นเคืองแก่ชาวฟิลิปปินส์เพิ่มเติม หากว่าเขาปล่อยนางกลอเรีย อาร์โรโย เป็นอิสระ ขณะที่เวลานี้อดีตประธานาธิบดีหญิงรายนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 5 ปี ตามข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน “เธอควรได้รับการปล่อยตัว” ดูเตอร์เตกล่าว โดยเน้นว่าผู้ถูกกล่าวหาร่วมของนางอาร์โรโยก็ได้รับการประกันตัวออกไปแล้ว