เอเอฟพี - เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายของอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ชวดตำแหน่งรองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ไปแบบเฉียดฉิว จากผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ (27 พ.ค.)
ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ ที่ประกาศออกมาหลังผ่านวันเลือกตั้งไปแล้ว 3 สัปดาห์ ถือเป็นการดับอนาคตทางการเมืองของครอบครัวมาร์กอส ซึ่งคาดหวังว่าตำแหน่งรองประธานาธิบดีของ “บองบอง” จะเป็นบันไดให้เขาก้าวขึ้นไปสู่บัลลังก์ผู้นำสูงสุดของประเทศที่บิดาเคยครอบครองมาก่อน
ในขณะที่ โรดริโก ดูเตอร์เต นายกเทศมนตรีผู้อื้อฉาวจากเมืองดาเวา สามารถคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ มาครองด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พ.ค. สนามเลือกตั้งรองประธานาธิบดีกลับแข่งขันกันอย่างดุเดือดกว่า โดย มาร์กอส นั้นพ่ายให้กับ เลนี โรเบรโด นักการเมืองหญิงหน้าใหม่ ด้วยคะแนนเสียงห่างกันเพียง 263,000 คะแนน
“ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก แต่เราจำเป็นต้องฟื้นฟูประเทศชาติขึ้นมาใหม่ เขา (ดูเตอร์เต) ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูประเทศ” โรเบรโด ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ หลังจากที่สภาคองเกรสประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ
มาร์กอส วัย 58 ปี ยังไม่ตอบรับผู้สื่อข่าวที่โทรศัพท์ไปขอสัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (27) แต่ จอร์จ การ์เซีย ทนายความของเขา บอกกับเอเอฟพีว่า บุตรชายอดีตผู้นำเผด็จการเตรียมที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า มีคะแนนเสียงอีกราว 3.9 ล้านเสียง ที่เป็นของเขาสูญหายไปจากผลคะแนนอย่างเป็นทางการ
“เราสงสัยว่าอาจจะมีการโยกคะแนนของเราไปให้ผู้สมัครคนอื่น... เราเชื่อว่าคะแนนส่วนนี้เป็นของ บองบอง มาร์กอส” การ์เซีย กล่าว
ชาวฟิลิปปินส์สามารถออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีได้โดยตรง
หาก บองบอง มาร์กอส คว้าตำแหน่งรองประธานาธิบดี ได้ในคราวนี้ จะถือเป็นชัยชนะทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของตระกูล นับตั้งแต่พ่อของเขาสูญเสียอำนาจทางการเมืองจากการปฏิวัติประชาชนในปี 1986 จนต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปต่างประเทศ
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ปกครองฟิลิปปินส์ด้วยระบอบเผด็จการอยู่นานถึง 2 ทศวรรษ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนโค่นล้มอำนาจของเขาลงได้ในปี 1986 ซึ่งทำให้ มาร์กอส ต้องหอบลูกเมียไปลี้ภัยในสหรัฐฯ
หลังจาก มาร์กอส ผู้พ่อถึงแก่กรรมลงที่รัฐฮาวาย ในปี 1989 ครอบครัวของเขาก็เดินทางกลับฟิลิปปินส์ในปี 1991 และค่อย ๆ สั่งสมอิทธิพลทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ภายใต้การนำของ อิเมลดา ภริยาหม้ายของอดีตจอมเผด็จการ แม้นางจะถูกกล่าวหาว่าปล้นทรัพย์แผ่นดินไปหลายพันล้าน และมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม
เฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส สอบผ่านสนามเลือกตั้ง ส.ว. ในปี 2010 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกในครอบครัวจอมเผด็จการแห่งฟิลิปปินส์ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วน อีมี มาร์กอส น้องสาวของเขา ก็ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการจังหวัดอิโลกอสนอร์เต มาแล้วเป็นสมัยที่ 3
ด้าน อิเมลดา มาร์กอส วัย 86 ปี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าชอบความหรูหราฟุ่มเฟือย ก็ครองตำแหน่ง ส.ส. จังหวัดอิโลกอสนอร์เตซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของสามีมาตั้งแต่ปี 2010 มิหนำซ้ำ ยังเคยพูดออกสื่ออยู่บ่อย ๆ ว่า อยากให้ลูกชายกลับมาทวงเก้าอี้ประธานาธิบดีคืนแก่ครอบครัว