xs
xsm
sm
md
lg

ชาติเอเชียเปิดตำรางัดสารพัดวิธี แก้ผลกระทบเศรษฐกิจจีนซบเซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ - เคยมีคนพูดว่า อเมริกาจามเมื่อไหร่ ประเทศอื่นๆ บนพื้นพิภพมีหวังจับไข้กันทั่วหน้า แต่วันนี้ จีนแย่งชิงบทผู้กุมหัวใจเศรษฐกิจโลกเป็นที่เรียบร้อย และความไม่ชอบมาพากลของเศรษฐกิจแดนมังกรในเวลานี้ก็กำลังทำให้เพื่อนบ้านในเอเชียหนาวๆ ร้อนๆ และต้องเตรียมมาตรการเยียวยากันขนานใหญ่
ภาพจากแฟ้มแสดงให้เห็นป้ายโฆษณาลดราคาของร้านอาหารต่างๆ ในย่านช็อปปิ้งแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว  การที่เศรษฐกิจจีนซบเซาลงและต้องการสินค้าญี่ปุ่นลดน้อยลง ไม่เพียงทำให้อัตราเติบโตของแดนปลาดิบย่ำแย่ แต่ยังก่อให้เกิดคำถามถึงมนตร์ขลังของ “อาเบะโนมิกส์”
**เริ่มต้นที่ญี่ปุ่น**

ความต้องการผลิตภัณฑ์เมด อิน เจแปน จากจีนที่เซื่องซึมลง ไม่เพียงบีบให้เศรษฐกิจแดนปลาดิบติดลบ 1.1% ในไตรมาสส่งท้ายปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อ “อาเบะโนมิกส์” หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเดิมพันสูงยิ่งคือตำแหน่งผู้นำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ

ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ดิ่งลง 6.2% ซึ่งถือว่า รุนแรงที่สุดนับจากปี 2011 ที่เกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ และสะท้อนความซบเซาของกิจกรรมการผลิตอันเนื่องมาจากดีมานด์ทรุดดิ่งทั้งในและนอกบ้าน

ภาคส่งออกของญี่ปุ่นยังทรุดลงถึง 8.5% ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ จากที่ตกไปแล้ว 8% ในเดือนธันวาคม

ฮารูมิ ทากูชิ นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ ชี้ว่า การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลงบ่งชี้ความตกต่ำของภาคการผลิตและการชะลอตัวเรื้อรังในด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความเสี่ยงขาลงสำหรับการขยายตัวที่แท้จริงในระยะสั้นของญี่ปุ่น

โรเบิร์ต อลัน เฟลด์แมน กรรมการผู้จัดการมอร์แกน สแตนเลย์ เจแปน ขานรับว่า นักลงทุนจำนวนมากกังวลว่า อาเบะโนมิกส์กำลังเสียศูนย์ ทั้งนี้อาเบะโนมิกส์นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ มาตรการทางการเงินซึ่งดูแลโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ), มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ, และนโยบายปฏิรูปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว

เฟลด์แมนชี้ว่า การลงมือกระทำการเมื่อเร็วๆ นี้ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ไม่สามารถทำให้ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเกิดเสถียรภาพได้ มิหนำซ้ำยังดูเหมือนว่า องค์ประกอบอื่นๆ อีก 2 อย่างของอาเบะโนมิกส์ อันได้แก่ มาตรการทางการคลัง และนโยบายปฏิรูปต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโต กลับกำลังหายไปจากการถกเถียงอภิปรายนโยบายเสียแล้ว

ทั้งนี้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรก เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจแก่นักลงทุน และจุดชนวนการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของแบงก์ชาติในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แมนพรีต กิลล์ จากแผนกธนบดีธนกิจของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ก็ชี้ว่า ตราบเท่าที่สถานการณ์ค่าเงินเยนยังน่าเป็นห่วง บีโอเจก็อยู่ในอาการถูกมัดมือ ไม่อาจใช้มาตรการทางการเงินอย่างได้ผล เขายังมองด้วยว่า ญี่ปุ่นควรต้องมีมาตรการปฏิรูประยะยาว เช่น การส่งเสริมกระตุ้นให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานจนประสบความสำเร็จ

ไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า ญี่ปุ่นใช้ตัวเลือกแบบมุ่งกระตุ้นการเติบโต จนกระทั่งหมดสิ้นแล้ว และดังนั้นจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

ปลายเดือนมีนาคม อาเบะบอกกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลกำลังตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 40 ล้านคนในปี 2020 และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในปี 2030 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
คณะนักท่องเที่ยวจีนรับประทานอาหารในงานซึ่งบริษัทแดนมังกรแห่งหนึ่งจัดขึ้นที่สวนสาธารณะในเมืองอินชอน, เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม  รัฐบาลโสมขาวกำลังเร่งหาทางดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้น เพื่อหารายได้ชดเชยสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งส่งออกสู่แดนมังกรได้ลดน้อยลง
**เกาหลีใต้**

จีนถือเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ โดยรองรับการส่งออกของแดนกิมจิถึง 30% ด้วยเหตุนี้ เมื่อจีนสั่งซื้อน้อยลง ภาคส่งออกโสมขาวจึงหดตัวต่อเนื่องในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา

ที่สำคัญเศรษฐกิจเกาหลีใต้พึ่งพิงการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

เพื่อแก้ไขสถานการณ์การส่งออกทรุดดิ่ง โซลจึงลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับปักกิ่งมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ควบคู่ไปกับการพยายามหาคู่ค้าใหม่ อาทิ อิหร่าน ที่เพิ่งลงนามข้อตกลงการค้ามูลค่า 5,000 ล้านยูโรกันเมื่อเร็วๆ นี้

และแม้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะซบเซาลง แต่เกาหลีใต้ก็คิดอ่านแก้เกมด้วยการจับตลาดชนชั้นกลางของจีนที่กำลังขยายตัวด้วยการโปรโมทอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค นำทีมโดยผลิตภัณฑ์ความงามและผลิตภัณฑ์สำหรับทารกที่ได้อานิสงส์จากป็อปคัลเจอร์เกาหลีใต้ที่กำลังบานสะพรั่งในแดนมังกร

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนเพิ่มความช่วยเหลือบริษัทผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคในการเข้าถึงตลาดจีน

การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักที่ส่งเสริมเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเยือนแดนอารีดังเพิ่มขึ้นถึง 5.7% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจจีนชะลอความร้อนแรงลงก็ตาม

เอชเอสบีซีคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้นถึง 25% ในปีนี้ จากการที่เกาหลีใต้เปิดร้านค้าปลอดภาษีใหม่ๆ และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปยังเกาะเจจู ซึ่งเป็นสถานที่ตากอากาศยอดนิยม โดยไม่ต้องขอวีซ่า
เรือสำเภาจีนแล่นอยู่ในอ่าววิกตอเรีย ของฮ่องกง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2016  เศรษฐกิจฮ่องกงนั้นผูกพันพึ่งพาเศรษฐกิจจีนเป็นอย่างมาก  ดังนั้นจึงกำลังอยู่ในอาการหงอยเงา
**ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์**

สำหรับออสเตรเลีย ผู้ส่งออกถ่านหินและแร่เหล็กรายใหญ่ ได้รับผลกระทบสองต่อ ทั้งจากการก่อสร้างที่ชะลอตัวในจีน และทั้งจากการที่ปักกิ่งรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะกระตุ้นให้แหล่งพลังงานสะอาดกลายเป็นทางเลือกใหม่

สตีเวน ซิโอโบ รัฐมนตรีพาณิชย์ออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์เครือข่ายซีเอ็นบีซีเมื่อไม่นานมานี้ว่า ออสเตรเลียกำลังหันไปพึ่งภาคบริการในการผลักดันการเติบโต เนื่องจากแม้ภาคนี้มีสัดส่วนเท่ากับ 70-80% ของระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในการส่งออกแล้วกลับมีสัดส่วนเพียง 20% ทั้งนี้หลายคนทีเดียวฝากความหวังไว้กับการท่องเที่ยว โดยเล็งกลุ่มเป้าหมายที่ชนชั้นกลางของจีนที่กำลังขยายตัว

นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว การลงทุนของออสเตรเลียในเทคโนโลยีทางการเงิน และในโครงสร้างพื้นฐานที่อาศัยความสนับสนุนจากเทคโนโลยี ก็กำลังผลิดอกออกผลงดงามประมาณหนึ่ง โดยบริษัทจัดหางาน โรเบิร์ต วอลเตอร์ส เผยว่า บริษัทเทคโนโลยีอเมริกากำลังสนใจแรงงานที่มีทักษะด้านไอทีสูงของออสเตรเลีย ขณะที่การอ่อนค่าของดอลลาร์ออสเตรเลียก็ช่วยดึงดูดได้อีกทาง

ทางด้านนิวซีแลนด์ ได้รับผลกระทบจากการที่ดีมานด์จากจีนหยุดนิ่งเช่นเดียวกัน เนื่องจากแดนมังกรเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผลิตภัณฑ์จากฟาร์มของประเทศนี้ กระนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า การท่องเที่ยวน่าจะเป็นทางออกสำคัญในการผลักดันการเติบโตของแดนกีวี

นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ดัง Lord of the Rings ต้อนรับนักท่องเที่ยว 373,400 คนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 8.7% โดยในส่วนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นถึง 28% ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

**เอเชียตะวันออกเฉียงใต้**

อินโดนีเซีย และไทย สองชาติผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบจากราคาแร่ธาตุ น้ำมันปาล์ม และยางตกต่ำ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นองค์ประกอบถึง 60% ของสินค้าออกทั้งหมดของอินโดนีเซีย และ 10% ในกรณีของไทย

ทั้งนี้ จีนเป็นลูกค้าหลักสั่งซื้อน้ำมันปาล์มและยาง ซึ่งเป็นสินค้าออกภาคเกษตรกรรมสำคัญสำหรับสองประเทศนี้

ไทยและอินโดนีเซียพยายามดูดซับอุปทานที่มีอยู่มากมายบางส่วนด้วยการก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนนและทางรถไฟ ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เช่น ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียรายงานว่า การบริโภคในครัวเรือนขยายตัว 4.9% ในไตรมาส 4 และ 4.8% สำหรับตลอดทั้งปีที่แล้ว

ชีพจรเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเข้มแข็งเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาสส่งท้ายปี 2015 จีพีดีขยายตัวเร็วที่สุดในรอบปี จากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นผ่านการใช้จ่ายด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค และยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้ามามากที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของดีมานด์ในท้องถิ่นและการส่งออกได้

ด้านสิงคโปร์ ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานว่า การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันติดลบ 4.1% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม แม้เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หลังจากลดลง 10.1% ในเดือนก่อนหน้าก็ตาม

ข้อมูลของทางการสิงคโปร์ยังระบุว่า การปลดพนักงานในปีที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดนับจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ตอกย้ำผลกระทบแง่ลบจากราคาน้ำมันขาลง

ปลายเดือนมีนาคม รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศทุ่มงบประมาณ 53,000 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณปัจจุบัน (เม.ย.2016 - มี.ค.2017) หรือเพิ่มขึ้น 7.3% จากปีงบประมาณที่แล้ว โดยงบประมาณก้อนใหญ่จะจัดสรรสำหรับการสนับสนุนธุรกิจโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วยมาตรการที่รวมถึงการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม

**ฮ่องกงและไต้หวัน**

ฮ่องกงที่เคยได้อานิสงส์จากการขยายตัวอย่างร้อนแรงของจีนมาหลายทศวรรษ บัดนี้กลับมีการเติบโตชะลอตัวตามจีนท่ามกลางกระแสความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นของผู้คนในสังคม

ปัจจัยลบที่กดดันเศรษฐกิจฮ่องกงอีกประการคือ การชะลอการจับจ่ายสินค้าหรูของนักท่องเที่ยวจีนที่สืบเนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดและการปราบปรามการทุจริตในประเทศ

ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์แสดงให้เห็นว่า จีดีพีฮ่องกงในปีที่ผ่านมาขยายตัว 2.4% และคาดว่า จะลดเหลือเพียง 1-2% ในปีนี้

เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางการฮ่องกงจึงออกมาตรการลดภาษีสำหรับเอสเอ็มอี และละเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับธุรกิจต้อนรับและงานบริการที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัว

ที่ไต้หวัน อีกหนึ่งดินแดนที่ถูกหางเลขจากการชะลอตัวในจีนอย่างจัง เนื่องจากสินค้าออก 40% ของไต้หวันมีปลายทางอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ตลอดช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ คำสั่งซื้อจากจีนร่วงลงถึง 12.1%

เพื่อลดการพึ่งพิงจีน ทางการไทเปจึงพยายามพาตัวเองเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่มีอเมริกาเป็นโต้โผใหญ่ ทว่า จนถึงขณะนี้ ไต้หวันยังไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาใดๆ ในข้อตกลงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น