เอเจนซีส์ - รัฐสภาเวียดนามลงมติด้วยเสียงท่วมท้นในวันพฤหัสบดี (7 เม.ย.) รับรอง เหวียนซวนฟุก ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สืบแทนเหวียนเติ๋นหยุง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ฟุกคงไม่มีบทบาทโดดเด่นเท่าหยุงทั้งภายในประเทศและเวทีโลก หลายคนยังกังขาความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลชุดเก่าทิ้งไว้ให้ ทั้งหนี้สาธารณะ การขาดดุลงบประมาณ และการทุจริต
ฟุกเลื่อนจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล โดยจะต้องมุ่งมั่นยกเครื่องรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางครอบคลุม เพื่อให้เป็นไปตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดมหึมาที่มีอเมริกาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง และเวียดนามเข้าร่วมด้วย
ขณะเดียวกัน ภารกิจท้าทายใหญ่หลวงอีกส่วนหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีใหม่วัย 61 ปีผู้นี้ต้องเผชิญ ได้แก่การสืบทอดผลงานของหยุง นายกรัฐมนตรีคนเก่าซึ่งเป็นนักปฏิรูปที่วาจาแข็งกร้าวและมีความเด็ดขาด ทั้งนี้หยุงได้รับการสนับสนุนอย่างมากรวมทั้งจากโลกตะวันตก แต่ขณะเดียวกันเขาก็มัวหมองอื้อฉาวในเรื่องพัวพันทุจริตคอร์รัปชัน และแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจไร้ประสิทธิภาพไม่ได้ รวมทั้งกลุ่มอนุรักษนิยมก็กังวลว่าเขามีอำนาจมากเกินไป
เมอร์เรย์ ไฮเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาและการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน เชื่อว่า ฟุกจะไม่แสดงบทบาทอย่างโดดเด่นเท่าหยุง และจะปฏิบัติหน้าที่ภายในฉันทามติของคณะกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
ตามรายงานของสื่อทางการ สมาชิกรัฐสภาเวียดนามจำนวน 490 คนที่เข้าร่วมการประชุมในวันพฤหัสบดี (7) ได้โหวตลงมติโดยวิธีลงคะแนนลับว่าจะเลือกฟุกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ ปรากฏว่ามี 446 คน หรือ 90.28% รับรอง อีก 44 คน หรือ 8.91% โหวตไม่รับรอง หลังประกาศผลการลงคะแนนแล้วฟุกก็เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในทันที
ผู้นำรัฐบาลคนใหม่ของเวียดนามเกิดปี 1954 เป็นชาว จ.กว๋างนาม ในภาคกลางของประเทศ เรียนสำเร็จปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ ดำรงตำแหน่งสำคัญมาหลายตำแหน่ง เป็นอดีตประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดบ้านเกิด เป็นรองผู้ตรวจการรัฐบาลในเวลาต่อมา และเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการประจำคณะเลขาธิการพรรค และรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ระหว่างปี 2011-2016
เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ 10, 11 และ 12 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรมการเมืองพรรคชุดที่ 11 และ 12 ซึ่งคือชุดปัจจุบัน และเป็นสมาชิกรัฐสภาชุดที่ 11 และ 12
เก้าอี้นายกรัฐมนตรีทำให้ฟุกกลายเป็นสมาชิกใหม่ในระบบสี่เสาหลักของเวียดนาม ร่วมกับเหวียนฝูจ่อม ที่ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอีกสมัยในการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งที่ 12 เดือนมกราคมที่ผ่านมา และ นางเหวียนถิกิมเงิน ผู้ได้ขึ้นเป็นประธานรัฐสภา กับ พล.อ.เจิ่นไดกวาง ที่ได้รับการรับรองเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.
หลังได้รับการรับรอง ฟุกแถลงต่อสภาว่าจะมุ่งสู่เป้าหมายด้านเศรษฐกิจที่มีอัตราขยายตัวถึง 6.7% ในปีที่ผ่านมา ปราบปรามการทุจริต ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน และปกป้องอธิปไตยของเวียดนาม
ไฮเบิร์ตกล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ระยะแรกฟุกคงจะมีบทบาทในเวทีต่างประเทศน้อยกว่าหยุง ที่ยืนหยัดต่อกรกับความก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับอเมริกา แต่ต่อไปเขาน่าจะตระหนักว่ามีฉันทามติอย่างกว้างขวางในประเทศที่จะไม่ยอมให้เวียดนามอยู่ใต้อาณัติจีน แต่ต้องการให้คัดง้างกับพญามังกรด้วยการหันไปคบค้าสมาคมกับอเมริกาใกล้ชิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากมีปฏิกิริยาต่อการเลือกฟุกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเฉยชา เช่น พลเอก เหวียนจ่องวิง ที่มองว่าฟุกไม่มีความโดดเด่น ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญใดๆ เกิดขึ้น
ด้านเจิ่นต่วนฮุง อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์วัย 76 ปี ไม่คาดหวังว่าฟุกจะสามารถฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลของหยุงทิ้งไว้ ทั้งหนี้สาธารณะ การขาดดุลงบประมาณ และการทุจริต
ในอดีตนั้น ถึงแม้ตำแหน่งผู้นำสำคัญๆ ของประเทศจะตัดสินใจกันไปแล้วระหว่างการประชุมสมัชชาพรรค แต่ตำแหน่งทางภาครัฐ ได้แก่ ประธานรัฐสภา, ประธานาธิบดี, นายกรัฐมนตรี เป็นต้น จะรอให้มีการเลือกตั้งรัฐสภาชุดใหม่เสียก่อนจึงจะมีการโหวตรับรอง ทว่าในคราวนี้กลับให้รัฐสภาชุดเก่าออกเสียงเลือก 3 ตำแหน่งหลักนี้ ตั้งแต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งรัฐสภาชุดใหม่