xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’กลับมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s foreign reserves rose in March
By Asia Unhedged
07/04/2016

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ได้ลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบถึง 107,900 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ต่อจากนั้นยังหดลงอีก 99,500 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม และ 28,570 ล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ สืบเนื่องจากดอลลาร์สหรัฐฯมีค่าสูงขึ้นและเงินทุนไหลทะลักออกไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทุนสำรองของจีนกลับเพิ่มสูงขึ้น 10,260 ล้านดอลลาร์

หลังจากลดต่ำลงต่อเนื่องอย่างน่าวิตกมาเป็นเวลา 3 เดือน ระดับปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ก็ทำให้ตลาดการเงินพากันเซอร์ไพรซ์ในเดือนมีนาคม ด้วยการกลับขยับเพิ่มสูงขึ้น ตามรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (7 เม.ย.) ของแบงก์ชาติแดนมังกร ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China ใช้อักษรย่อว่า PBOC) (ดูรายละเอียดข่าวนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/us-china-economy-forexreserves-idUSKCN0X41BE)

ทั้งนี้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ซึ่งถึงอย่างไรก็ยังคงอยู่ครองตำแหน่งมีปริมาณสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกมาตลอด ได้เพิ่มขึ้น 10,260 ล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 3.21 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม จากที่เคยยืนอยู่ 3.20 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ นี่ถือเป็นการกลับหัวกลับหางอย่างน่าตื่นใจจากผลโพลการคาดการณ์ของพวกนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์จัดทำไว้ที่มองกันว่า มันยังจะถอยลงต่ำอีกสู่ระดับ 3.18 ล้านล้านดอลลาร์

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนพุ่งขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2014 โดยอยู่ที่ 3.99 ล้านดอลลาร์ และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2015 มันก็มีแต่ลดต่ำลงมาเรื่อยๆ กระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2016 นี่แหละ สำหรับสาเหตุสำคัญของการพลิกผันคราวนี้ เห็นกันว่าน่าจะเนื่องจากแรงกดดันต่อเงินหยวนกำลังอ่อนตัวลง ในเมื่อมีความน่าจะเป็นลดน้อยลงที่สหรัฐฯจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้

“เมื่อมองไปข้างหน้า เราเชื่อว่าแรงกดดันต่อเงินหยวนจะลดระดับลงมาประมาณหนึ่ง ถึงแม้แนวโน้มของการไหลออกไปของเงินทุนน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงอนาคตที่พอจะประมาณการได้นี้” โจว เฮ่า (Zhou Hao) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสดูแลชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ คอมเมอร์ซแบงก์ (Commerzbank) ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นต่อรอยเตอร์

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนได้หดตัวลง 28,570 ล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากหล่นฮวบมา 99,500 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม และ 107,900 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นสถิติการดำดิ่งในรอบเดือนที่แรงที่สุดเป็นประวัติการณ์

นักวิเคราะห์ไม่น้อยเชื่อว่า การเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลการปรับเปลี่ยนค่าระหว่างสกุลเงินตราต่างๆ ออกมาในทางเป็นผลบวกต่อแดนมังกร กล่าวคือ ในเดือนที่แล้ว ทั้งเงินยูโรและเงินเยนญี่ปุ่นต่างมีค่าสูงขึ้นเมื่อแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

โจว บอกกับรอยเตอร์ว่า ผลของการปรับเปลี่ยนค่าระหว่างสกุลเงินตราต่างๆ นี้อยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม อันเป็นการส่อแสดงให้เห็นว่าในเดือนดังกล่าว การไหลเวียนของเงินทุนของแดนมังกรยังคงอยู่ในสภาพเงินทุนไหลออกสุทธิ

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ คือ เรื่องที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะลดฝีก้าวในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของตนให้เชื่องช้าลงมากว่าที่ได้เคยวางแผนคาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2015 ในสัปดาห์ที่แล้ว เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกโรงด้วยตนเองระบุว่า เฟดควรต้องเดินหน้าเรื่องการขยับขึ้นดอกเบี้ยด้วยอาการระมัดระวัง ความเห็นเช่นนี้ของเธอเป็นสาเหตุทำให้ค่าเงินดอลลาร์ลดต่ำลง ซึ่งกลายเป็นการช่วยผ่อนเพลาภาวะเงินทุนไหลออกของประเทศจีน

พวกเจ้าหน้าที่จีนพยายามพูดว่า เศรษฐกิจแดนมังกรเวลานี้กำลังแสดงให้เห็นสัญญาณของการกระเตื้องดีขึ้นหลายๆ ประการ เวลาเดียวกันนั้นภาวะเงินทุนไหลออกก็กำลังลดน้อยลงด้วย

กระนั้น นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า การที่จีนจะพยายามรักษาเงินหยวนให้มีเสถียรภาพนั้น ยังคงเป็นงานลำบากแสนสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ซัปพลายอยู่ในอาการล้นเกินอย่างยืดเยื้อยาวนาน ขณะที่ดีมานด์ภายในประเทศยังอยู่ในอาการกะปริดกะปรอย

และแน่นอนทีเดียวว่า ถ้าหากเงินดอลลาร์มีค่าสูงขึ้น เงินหยวนก็จะกลับตกอยู่ใต้แรงกดดันให้ต้องอ่อนตัวลงใหม่อีก ที่ปรึกษาด้านนโยบายผู้หนึ่งของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน กล่าวยอมรับเรื่องนี้เอาไว้เมื่อเดือนที่แล้ว

ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2015 แบงก์ชาติจีนได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะขจัดการเก็งกำไรค่าเงินหยวน เป็นต้นว่า มีการออกมาตรการจำกัดการลงทุนในกองทุนต่างแดนที่อิงอยู่กับเงินหยวน ตลอดจนการบังคับให้พวกแบงก์ออฟชอร์ทั้งหลายต้องดำรงเงินทุนสำรองตามสัดส่วนเงินฝากสกุลเงินภายในประเทศที่แต่ละแบงก์มีอยู่ นอกจากนั้นธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนยังเริ่มบริหารจัดการค่าเงินหยวนโดยยึดโยงกับระบบตะกร้าเงินตราหลายๆ สกุล

ทิม คอนดอน (Tim Condon) หัวหน้าแผนกวิจัยเอเชีย ของ ไอเอ็นจี (ING) ในสิงคโปร์ ชี้ว่า “ความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเงินตรา ซึ่งจีนนำเอามาบังคับใช้ภายหลังช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นอย่างเข้มงวดต่อการผูกโยงกับตะกร้าสกุลเงินตรา มันเป็นการใช้นโยบายอย่างมีระเบียบวินัยเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม”

“รัฐบาลจีนมองว่า การที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีการลดต่ำน้อยลงมาแล้วเช่นนี้ เป็นผลข้างเคียงอันน่าพอใจของการยึดมั่นกับนโยบายดังกล่าวนี้” เขากล่าวต่อ

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged)


กำลังโหลดความคิดเห็น