เอเอฟพี - สงครามและข้อพิพาทที่ร้อนระอุในหลายภูมิภาคทั่วโลกส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารเพิ่มสูงขึ้นในปี 2015 ซึ่งถือเป็นการขยับขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ (5 เม.ย.)
ตลอดปี 2015 รัฐบาลทั่วโลกใช้จ่ายงบประมาณทางทหารรวมกันราวๆ 1.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อนหน้า ซึ่งตัวแปรสำคัญอยู่ที่การใช้จ่ายงบกลาโหมเพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศแถบยุโรปตะวันออก เอเชีย และตะวันออกกลาง ขณะที่ยุโรปยังคงใช้งบการทหารลดลงในระดับเดียวกับปีก่อนๆ
สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเบอร์หนึ่งในด้านการงบประมาณกองทัพ โดยอยู่ที่ราวๆ 596,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงเพียง 2.4% จากปีก่อนหน้า
แซม เปอร์โล-ฟรีแมน นักวิจัยอาวุโสของ SIPRI ระบุว่า เวลานี้สหรัฐฯ ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับ “ปฏิบัติการฉุกเฉินในต่างประเทศ” (Overseas contingency operations) ซึ่งก็คือการทำสงครามกวาดกล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส)
จีนซึ่งเป็นชาติที่จ่ายงบอุดหนุนการทหารมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ได้ทุ่มเงินไปราว 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบียซึ่งขยับขึ้นมาสู่อันดับ 3 ด้วยวงเงินงบประมาณ 87,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัสเซียถูกเบียดตกไปอยู่ที่ 4 ด้วยงบเพียง 66,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วง 1 ทศวรรษระหว่างปี 2006-2015 สหรัฐฯ ใช้งบทางทหารลดลงไป 4% ในขณะที่จีนอัดฉีดเพิ่มในช่วงเวลาเดียวกันถึง 132% ส่วนซาอุฯ และรัสเซียเพิ่มขึ้นราว 97% และ 91% ตามลำดับ
ฝรั่งเศสซึ่งเคยเป็นชาติที่ใช้จ่ายงบทางทหารสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2014 หล่นลงมาอยู่อันดับ 7 ตามหลังอังกฤษ และอินเดียในปี 2015
SIPRI ยังพบว่างบประมาณกองทัพในภูมิภาคยุโรปตะวันตกลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ลงอย่างฮวบฮาบในช่วง 2-3 ปีมานี้ก็ตาม
“ตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือรัสเซีย ไอเอส และการเมืองของกลุ่มนาโต้” เปอร์โล-ฟรีแมน ระบุ พร้อมให้ข้อมูลเสริมว่า สมาชิกนาโต้ได้ตกลงที่จะคงงบประมาณกองทัพไว้ที่ 2% ของจีดีพีจนถึงปี 2014
ในทวีปเอเชีย SIPRI ชี้ว่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ต่างทุ่มงบประมาณอุดหนุนภารกิจกองทัพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อันสะท้อนถึงปัญหาความขัดแย้งกับจีนและเกาหลีเหนือ