เอเอฟพี - รัฐบาลฟิลิปปินส์มีแผนจัดซื้อเรือดำน้ำฝูงแรกของประเทศ เพื่อใช้ในการป้องกันอธิปไตยเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ ประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน แถลงวันนี้ (30 มี.ค.)
จากประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่มีเรือดำน้ำเป็นของตนเองและต้องพึ่งพาเรือรบเสริมของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ล่าสุดทางการฟิลิปปินส์เตรียมทุ่มงบกลาโหมก้อนใหญ่ เพื่อยกระดับศักยภาพของกองทัพให้สามารถรับมือการขยายอิทธิพลของจีน
รัฐบาลจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและแหล่งพลังงานขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก ซึ่งแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจีนได้เข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียม ตลอดจนทางวิ่งเครื่องบินและสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ เพื่อยืนยันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านี้
การกระทำของปักกิ่งสร้างความไม่พอใจต่อเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนอยู่
ประธานาธิบดี อากีโน เตือนว่า ฟิลิปปินส์อาจสูญเสียน่านน้ำชายฝั่งตะวันตกทั้งหมด หากจีนใช้กำลังยึดอาณาเขตทางทะเลตามที่พวกเขาอ้างได้สำเร็จ
“เราจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของกองทัพให้มีความทันสมัยเพื่อป้องกันเขตแดนของเราไว้” อากีโน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่กรุงมะนิลา
“ประเทศของเราเป็นชุมทางโดยธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิก และรัฐบาลก็อยู่ระหว่างศึกษาว่ากองเรือดำน้ำจะเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่”
สหรัฐฯ ระบุว่า จีนใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีในการปรับสภาพที่ดินสร้างเกาะเทียมขึ้นในทะเลจีนใต้ เป็นพื้นที่กว่า 2,900 เอเคอร์ (ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร) และยังส่งระบบขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศไปประจำการที่เกาะพิพาทแห่งหนึ่งด้วย
แม้รัฐบาล อากีโน จะจัดสรรงบด้านการทหารเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งยังจัดซื้อเรือรบและฝูงบินขับไล่ใหม่ ๆ แต่เมื่อเทียบกับมหาอำนาจอย่างจีน กองทัพฟิลิปปินส์ก็ยังมีศักยภาพด้อยกว่ามาก
ทางการจีนทุ่มงบอุดหนุนกองทัพสูงถึง 954,000 ล้านหยวน (ราว 5.2 ล้านล้านบาท) ในปีนี้ หรือประมาณ 59 เท่าตัวของงบกองทัพฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ที่ราว ๆ 115,800 ล้านเปโซ (ราว 89,000 ล้านบาท)
มะนิลาหันไปพึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์จากพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐฯ รวมถึง “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นอริเก่าสมัยสงครามโลก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเผชิญหน้ากับจีน นอกจากนี้ ยังยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ที่กรุงเฮกเพื่อให้ช่วยชี้ขาดปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมาในช่วงเดือน พ.ค.
รัฐบาลจีนไม่ยอมรับว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวน โดยยืนกรานให้แก้ไขข้อพิพาทผ่านการเจรจาทวิภาคีเท่านั้น
ผู้นำฟิลิปปินส์เตือนว่า ข้อพิพาททะเลจีนใต้ “ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ” เพราะท้องทะเลแถบนี้เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ และยังเป็นทางผ่านของสินค้าและน้ำมันดิบราว 1 ใน 3 ของโลก
อย่างไรก็ตาม อากีโน ซึ่งจะหมดวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีในเดือน มิ.ย. ยอมรับว่า แม้การปกป้องอธิปไตยของชาติจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญหาปากท้องของชาวฟิลิปปินส์คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก
“เราไม่เคยคิดเพ้อฝันว่าจะเทียบรัศมี สะสมอาวุธ หรือสร้างกองทัพที่เข้มแข็งแข่งกับชาติใด” เขากล่าว