xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญชี้ "อาวุธจีน" ในวันนี้ไม่ธรรมดา ส่งขายนอกบ้านเพิ่มขึ้นเท่าตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อาวุธที่ถูกนำมาโชว์ภายในขบวนสวนสนามครั้งใหญ่ของกองทัพจีน เมื่อเดือนก.ย. ปีก่อน (ภาพ รอยเตอร์ส)
รอยเตอร์ส - ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารชี้ “จีนส่งออกอาวุธเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา” ขณะเดียวกันก็ “ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในประเทศ” เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บและความแข็งแกร่งของกองทัพมังกร

อ้างอิงรายงานว่าด้วยการขนส่งอาวุธทั่วโลกของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่าระหว่างปี 2554-2558 จีนนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศน้อยลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับกรอบเวลาเดียวกันก่อนหน้า สะท้อนถึงความมั่นใจมากขึ้นในอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตดัวยตัวเอง

ส่วนการส่งออกอาวุธรายการหลักของจีน (ไม่รวมอาวุธเบา) เติบโตขึ้นร้อยละ 88 แต่ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดส่งออกอาวุธทั่วโลกเพียงร้อยละ 5.9 เท่านั้น ยังห่างชั้นจากสหรัฐฯ และรัสเซีย สองมหาอำนาจทางการส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก

“จากสิบปีก่อนที่จีนเคยขายแต่อุปกรณ์เทคโนฯ ต่ำ มาวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว” ซีโมน เวซแมน นักวิจัยอาวุโสประจำโครงการศึกษางบประมาณทางทหารและอาวุธ สถาบันฯ กล่าว “สิ่งที่จีนผลิตได้ มีความก้าวหน้าสูงกว่าของทศวรรษก่อนมาก และกำลังดึงผลประโยชน์จากตลาดรายใหญ่กว่าบางแห่งมาอยู่ในมือ”

จีนได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ยกระดับอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของตัวเอง เพื่อส่งเสริมเป้าหมายเพิ่มอำนาจทางทะเล โดยเฉพาะน่านน้ำทะเลจีนใต้และมหาสมทุรอินเดีย รวมถึงโอกาสทางการค้าในตลาดอาวุธต่างประเทศ ที่เริ่มสนใจเทคโนโลยีราคาถูกกว่าของจีน

ทั้งนี้ งบประมาณสุทธิของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ในปี 2558 อยู่ที่ 886,900 ล้านหยวน หรือราว 141,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2557

ด้านสหรัฐฯ และรัสเซีย ก็มีการเติบโตของการส่งออกอาวุธ ร้อยละ 27 และร้อยละ 28 ตามลำดับ ตรงข้ามกับฝรั่งเศสและเยอรมัน ผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลกอันดับ 4 และ 5 ที่มีการส่งออกอาวุธลดลง

รายงานฯ ฉบับเดิมเผยอีกว่า ยอดขายอาวุธของจีนเกือบทั้งหมด ปีกหมุดอยู่ที่กลุ่มประเทศแถบเอเชียและโอเชเนีย โดยมี “ปากีสถาน” เป็นลูกค้ารายใหญ่ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 35 ตามมาด้วยบังคลาเทศและเมียนมาร์

อย่างไรก็ดี จีนยังคงต้องนำเข้าอาวุธและอุปกรณ์บางประเภท อาทิ เครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน ยานยนต์ และเรือ โดยจีนได้เซ็นสัญญาซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ และเครื่องบินสู้รบมากกว่า 20 ลำ จากรัสเซียในปีก่อน
ภาพกราฟิคแสดงกลุ่มประเทศที่เป็นลูกค้าซื้ออาวุธจากจีน (ภาพ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)

กำลังโหลดความคิดเห็น