xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงที่ ‘ไอเอส’ จะก่อการร้ายด้วย ‘วัสดุนิวเคลียร์’ โดยอาศัยเส้นทางลำเลียงผ่าน ‘ตุรกี’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: คริสตินา ลิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The risk of nuclear terrorism via ISIS’ supply line through Turkey
BY CHRISTINA LIN
01/04/2016

เวลานี้มีความเป็นไปได้อย่างชัดเจนว่า กลุ่ม “ไอซิส” (ISIS ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งที่มีผู้เรียกขานกันของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” Islamist State หรือ ไอเอส IS) กำลังมุ่งหาหนทางก่อการร้ายด้วยวัสดุนิวเคลียร์ต่อเมืองใหญ่ๆ ในโลกตะวันตก ขณะเดียวกัน ความเป็นไปได้เช่นนี้ก็ตอกย้ำให้เห็นว่าเส้นทางลำเลียงผ่านตุรกีซึ่งองค์การนี้กำลังใช้อยู่ มีบทบาทสำคัญอย่างไรในการทำให้สภาวการณ์เช่นนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมา

ในวันที่ 30 มีนาคม หรือ 1 วันก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summit) ขึ้นที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้ “อัล-ฟูรัต” (al-Furat) หน่วยงานด้านสื่อของกลุ่มไอซิส ได้ออกมาข่มขู่คุกคามที่จะโจมตีเล่นงานเยอรมนี หลังจากเหตุโจมตีในกรุงบรัสเซลส์ผ่านพ้นไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ [1]

อัล-ฟูรัต ทำภาพตัดต่อเป็นรูปสำนักนายกรัฐมนตรีเยอรมนีอยู่ในท่ามกลางเพลิงลุกท่วม และมีธงของไอซิสปักอยู่บนยอดอาคารท่าอากาศยานโคโลญ บอนน์ (Cologne Bonn Airport) พร้อมกับมีข้อความเรียกร้องว่า “จงทำอย่างที่พี่น้องของท่านในเบลเยียมได้ทำแล้ว”

อันที่จริง การก่อเหตุโจมตีแบบก่อการร้ายในกรุงบรัสเซลส์ ก็มีส่วนซึ่งเน้นย้ำเตือนภัยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางนิวเคลียร์อยู่เช่นกัน เมื่อพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของเบลเยียมตรวจสอบพบว่า พวกไอซิสกำลังทำการติดตามสอดแนมนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ท้องถิ่นคนหนึ่งตลอดจนครอบครัวของนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้

หรือหากสาวย้อนกลับไปยังเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ไม่นานนักหลังจากเกิดเหตุโจมตีในกรุงปารีสขึ้นมาแล้ว พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของเบลเยียมได้จับกุม โมฮัมเหม็ด บัคคาลี (Mohammed Bakkali) และค้นพบว่าเขามีคลิปวิดีโอการแอบสอดแนมนักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งในสถานวิจัยนิวเคลียร์ เอสซีเค-ซีอีเอ็น (SCK-CEN nuclear research facility) ของเบลเยียม ที่เมืองโมล (Mol) คลิปวิดีโอนี้รวบรวมจัดทำขึ้นมาโดย 2 พี่น้อง เอล-บาคราวี (el-Bakraoui) ซึ่งเป็น 2 มือระเบิดฆ่าตัวตายในเหตุโจมตีกรุงบรัสเซลส์ [2]

จนท.รักษาความปลอดภัยศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ถูกฆ่า

ระหว่างการโจมตีในกรุงบรัสเซลส์ซึ่งเกิดขึ้นทั้งที่ท่าอากาศยานและสถานีรถไฟใต้ดินนั้น ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้หนึ่งซึ่งทำงานกับบริษัท จีฟอร์เอส ซีเคียวริตี้ (G4S security) โดยปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ของเบลเยียมแห่งหนึ่ง ก็ได้ถูกฆ่าตายด้วย ทำให้ยิ่งเพิ่มลู่ทางความเป็นไปได้ที่กลุ่มไอซิสมีแผนร้ายจะเข้าเข้าโจมตีสถานที่แห่งนั้น และปล่อยของเสียเปื้อนกัมมันตรังสีออกสู่บรรยากาศ หรือไม่ก็อาจจะโจรกรรมวัสดุกัมมันตรังสีเพื่อนำเอาไปทำ “เดอร์ตี้ บอมบ์” (dirty bomb ข้อมูลจาก Wikipedia อธิบายว่า คือ ระเบิดกัมมันตรังสีที่คาดเดากันว่าสามารถผลิตขึ้นมาโดยใช้วัสดุกัมมันตรังสีผสมกับวัตถุระเบิดธรรมดา ดูรายละเอียดได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Dirty_bomb ผู้แปล)

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีรายงานว่าพนักงาน 2 คนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เบลเยียม ในเมืองโดเอล (Doel) ได้เข้าไปร่วมกับกลุ่มไอซิสแล้ว โดยพนักงานทั้ง 2 คนนี้มีความรู้อันสำคัญเกี่ยวกับสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์แห่งนี้ ซึ่งอาจถูกกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้นำไปใช้ประโยชน์ได้ [3]

ผลต่อเนื่องที่ติดตามมาก็คือ บรัสเซลส์ได้ยกระดับการรักษาความปลอดภัย และส่งเจ้าหน้าที่ติดอาวุธไปเฝ้ารักษาตามสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์แห่งต่างๆ ของประเทศ

ในเวลาเดียวกันนั้น ความกลัวเกรงเกี่ยวกับไอซิสและการก่อการร้ายโดยใช้วัสดุนิวเคลียร์ ก็ทำท่ากลายเป็นเรื่องใหญ่ในการประชุมซัมมิตนิวเคลียร์ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งมีมากกว่า 50 ประเทศเข้าร่วม และเตรียมพูดจาหารือกันถึงวิธีรับมือกับลู่ทางความเป็นไปได้อันน่าหวั่นหวาดนี้

ทั้งนี้เรื่องที่ผู้ก่อการร้ายอาจก่อการโจมตีด้วยวัสดุนิวเคลียร์ซึ่งสามารถสร้างความหายนะให้แก่พื้นที่เขตเมืองใหญ่ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก, ลอนดอน, หรือเบอร์ลิน กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนเพียงพอที่จะบรรดาผู้นำเหล่านี้จะจัดวาระพิเศษขึ้นมาเพื่อหารือกันถึงภัยคุกคามนี้ทีเดียวในระหว่างการประชุมซัมมิต 2 วันดังกล่าว (รายละเอียดการประชุมซัมมิตคราวนี้ ดูได้ที่ “โอบามาเตือนโลกอย่าไว้วางใจ IS ทะเยอทะยานสร้างอาวุธนิวเคลียร์ล้างผลาญชีวิตผู้คน” http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000033827 –ผู้แปล)

ผอ.ซีไอเอระบุให้กำจัดเส้นทางลำเลียงผ่านตุรกี

อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ไขสำคัญที่สุดซึ่งสามารถที่จะคลี่คลายภัยคุกคามดังกล่าวนี้ได้ ได้ถูกระบุเน้นย้ำออกมาตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์แล้วโดย จอห์น เบรนนัน (John Brennan) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) นั่นก็คือ การตัดเส้นทางลำเลียงของกลุ่มไอซิสซึ่งกระทำผ่านดินแดนของตุรกี

โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ระหว่างให้สัมภาษณ์แบบบันทึกเทปเอาไว้ล่วงหน้า ในรายการ “60 มินิตส์” (60 Minutes) ของ ซีบีเอสนิวส์ (CBS News) เบรนนันเปิดเผยว่า กลุ่มไอซิสมีสมรรถนะในการโจมตีด้วยอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรง (Weopon of Mass Destruction ใช้อักษรย่อว่า WMD) อยู่ในความครอบครองแล้ว โดยที่ได้เคยใช้อาวุธเคมีในสมรภูมิสู้รบมาแล้วหลายครั้ง และยังอาจจะพยายามขายอาวุธเหล่านี้เพื่อให้นำไปใช้โจมตีพวกประเทศตะวันตกตลอดจนประเทศอื่นๆ อีกด้วย

ดังนั้น เบรนนันจึงเตือนว่า “เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ที่จะต้องตัดเส้นทางขนส่งและเส้นทางลักลอบอันหลากหลายซึ่งพวกเขาใช้อยู่”

เส้นทางเหล่านี้พุ่งผ่านตุรกี อย่างไรก็ตาม (ประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป) เออร์โดกัน ของตุรกีนั้น คัดค้านการปิดตายเส้นทางลำเลียงของกลุ่มไอซิส

ในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “การ์เดียน” (Guardian) เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “Turkey could cut off Islamic State’s supply lines. So why doesn’t it?” (ตุรกีสามารถตัดเส้นทางลำเลียงของกลุ่มรัฐอิสลามได้ แต่ทำไมไม่ทำ?) เดวิด กรีเบอร์ (David Graeber) ตั้งคำถามต่อแรงจูงใจของอังการา สำหรับการที่ยังคงปล่อยให้เส้นทางลำเลียงของไอซิสผ่านตุรกีได้ต่อไป [4]

มาถึงสัปดาห์นี้ มีการเปิดเผยกันว่า ระหว่างหารือแบบปิดประตูพูดจากันกับพวกนักการเมืองสหรัฐฯย้อนหลังไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา กษัตริย์อับดุลเลาะห์ (King Abdullah) แห่งจอร์แดน ได้ทรงกล่าวหาตุรกีว่ากำลังส่งออกพวกผู้ก่อการร้ายมายังยุโรป [5]

พระราชาธิบดีแห่งจอร์แดนได้ทรงแจ้งให้พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯทราบว่า พรรค AKP (พรรครัฐบาลตุรกีในปัจจุบัน ภาษาอังกฤษใช้ชื่อพรรคว่า Justice and Development Party) นั้น มุ่งหาทางนำเอา “วิธีแก้ไขปัญหาแบบอิสลามหัวรุนแรง” มาใช้ในตะวันออกกลาง และการส่งออกผู้ก่อการร้ายไปยังยุโรป ก็ “เป็นส่วนหนึ่งแห่งนโยบายของตุรกี” ขณะเดียวกันก็คอยโหมเติมเชื้อให้แก่วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย เพื่อให้กลายเป็นสงครามลูกผสมรูปแบบหนึ่งขึ้นมา และจะได้เรียกร้องการอ่อนข้อยอมผ่อนปรนจากสหภาพยุโรป (อียู)

กษัตริย์อับดุลเลาะห์ยังทรงชี้ให้เห็นว่า ตุรกีทำกำไรจากการขายน้ำมันของกลุ่มไอซิสด้วยวิธีใด โดยที่ประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่รัสเซียได้นำมาเน้นย้ำในช่วงหลายๆ เดือนก่อนหน้านี้เช่นกัน

จีนก็ตระหนักถึงภัยคุกคาม

ประเทศจีนก็แสดงความสงสัยข้องใจในเรื่องนี้เหมือนกัน ศาสตราจารย์ หาน สือถง (Han Xudong) จากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA National Defense University) เขียนลงในเว็บไซต์ ซีซีทีวี (CCTV) โดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่ตุรกีรุกรานเข้าไปในพื้นที่ภาคเหนือของอิรักเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น น่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาบริเวณชายแดนให้ยังคงสามารถเปิดรับ “ขบวนลำเลียง” ของตุรกี ซึ่งจะเข้ามายังตุรกีจากอิรัก สืบเนื่องจาก “การเพิ่มแสนยานุภาพทางอากาศของกองทัพอากาศรัสเซีย ได้ทำให้เป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ “ขบวนลำเลียง” นี้ จะเข้าตุรกีจากทางซีเรีย” [6]

ด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปประจำในพื้นที่ภาคเหนือของอิรักดังกล่าว ก็ทำให้ตุรกีสามารถพิทักษ์คุ้มครองขบวนลำเลียงที่เดินทางเข้ามาจากฝั่งอิรัก ทั้งนี้ หานยังมีความเห็นด้วยว่า “การกระทำของตุรกี น่าจะที่ปรากฏแก่ประชาคมระหว่างประเทศว่า ตุรกีมีความตั้งใจที่จะพิทักษ์คุ้มครองและขยายกำลังของรัฐอิสลาม”

ทั้งหมดเหล่านี้บังเกิดขึ้นโดยที่มีการกล่าวหากันอย่างหนาหูว่า เออร์โดกันกำลังใช้กลุ่มไอซิสเป็นกองกำลังตัวแทนในการสู้รบกับ (ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-) อัสซาด (ของซีเรีย) และกลุ่มชาวเคิร์ดต่างๆ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการกล่าวหากันด้วยว่าครอบครัวของเออร์โดกันทำกำไรเข้าพกเข้าห่อส่วนตัว ด้วยการขายน้ำมันให้แก่กลุ่มไอซิส ทั้งๆ ที่มีข้อสงสัยข้องใจเช่นนี้ แต่ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐฯและอียูกลับเลือกที่จะเอาอกเอาใจทำตามข้อเรียกร้องของผู้นำตุรกีผู้นี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนการรณรงค์ต่อสู้ต่อต้านไอซิส ให้กลายเป็นการรณรงค์ต่อสู้ต่อต้านอัสซาดและต่อต้านชาวเคิร์ด อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าไอซิสกำลังกลายปีศาจร้ายที่มีสมรรถนะทางด้านอาวุธทำลายร้ายแรงอยู่ในครอบครอง และมุ่งดำเนินการก่อการร้ายด้วยวัสดุนิวเคลียร์ เรื่องนี้ก็กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกม

ในสถานการณ์เช่นนี้ พวกมหาอำนาจรายสำคัญทั้งหลายจะต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่าในการปิดผนึกชายแดนติดต่อระหว่างกลุ่มไอซิสกับตุรกี พวกเขาต้องเลิกพะเน้าพะนอเออร์โดกัน และทำให้ความปลอดภัยของโลกกลายเป็นตัวประกันที่ผู้นำตุรกีผู้นี้นำไปใช้ต่อรองเพื่อบรรลุวาระส่วนตัวของเขาในตะวันออกกลาง

หมายเหตุ

[1] Gilad Shiloach, ‘ISIS Threatens German, Calls for Attack on International Airport’, Voactiv, March 31, 2016, http://www.vocativ.com/news/303858/isis-threatens-germany-calls-for-attack-international-airport/

[2] Patrick Tucker, Ä Nuclear-Armed ISIS? It’s Not That Farfetched, Expert Says”,Defense One, March 29, 2016,http://www.defenseone.com/technology/2016/03/nuclear-armed-isis-its-not-farfetched-expert-say/127039/

[3] Jennifer Newton, “Two Belgian nuclear power plant workers have joined ISIS leading to fears the jihadis have the intelligence to cause a meltdown disaster”, Mail Online, march 26, 2016, http://www.dailymail.co.uk/news/article-3510384/Belgian-nuclear-plant-guard-murdered-security-pass-stolen-two-days-Brussels-attacks.html

[4] David Graeber, “Turkey could cut off Islamic State’s supply lines. So why doesn’t it?”, The Guardian, November 18, 2015,http://www.theguardian.com/commentisfree/2015/nov/18/turkey-cut-islamic-state-supply-lines-erdogan-isis

[5] Ishaan Tharoor, “Jordan’s King Abdullah accused Turkey of sending terrorists to Europe, report says”, The Washington Post, March 28, 2016,https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2016/03/28/jordans-king-abdullah-accused-turkey-of-sending-terrorists-to-europe-report-says/; http://www.middleeasteye.net/news/jordans-king-accuses-turkey-sending-terrorists-europe-1687591648

[6] Han Xudong, “Four strategic aims for Turkey’s deployment of troops in Iraq”, CCTV, October 12, 2015,http://english.cntv.cn/2015/12/10/ARTI1449735091622544.shtml

ดร.คริสตินา ลิน เป็นนักวิจัยผู้ชำนาญการในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ตะวันออกกลาง/เมดิเตอร์เรเนียน ของศูนย์เพื่อความสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติก (Center for Transatlantic Relations) วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) และเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัยให้แก่ ศูนย์เจนส์ด้านข่าวกรองทางเคมี, ชีวภาพ, รังสี, และนิวเคลียร์ (Jane’s Chemical, Biological, Radiological, and Nuclear Intelligence Centre) ณ บริษัทวิจัย ไอเอสเอส เจนส์ (IHS Jane’s)

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น