อุดรธานี - โรงงานน้ำตาลเกษตรผลจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนเตรียมขยายกำลังการผลิตน้ำตาลเป็น 30,000 ตันอ้อยต่อวัน พร้อมสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 140 เมกะวัตต์ ด้านชาวบ้านเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 เม.ย.) บริษัท โรงน้ำตาลเกษตรผล จำกัด ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท โรงน้ำตาลเกษตรผล จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 140 เมกะวัตต์ ของบริษัท เกษตรผล เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด ซึ่งจัดโดยบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด ผู้แทนจากจังหวัด ผู้แทนจากอำเภอ และประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบเขตโรงงาน ในตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมประชุมที่บริษัท โรงน้ำตาลเกษตรผล จำกัด
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ได้รับอนุญาตก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีกำลังการผลิต 12,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งกำลังผลิตไม่ทันต่อผลผลิตที่ชาวไร่นำมาส่งขายให้โรงงาน ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ดำเนินการขยายกำลังการผลิตได้เป็น 30,000 ตัน อ้อยต่อวัน ทางโครงการจึงมีแผนงานที่จะดำเนินการในระยะแรก คือ การติดตั้งชุดเครื่องจักรในสายการผลิตใหม่ เพื่อรองรับกำลังการผลิตให้เป็น 18,000 ตัน และขยายกำลังการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ จากเดิม 500 ตันต่อวันเป็น 1,500
ส่วนระยะที่ 2 โครงการจัดทำการปรับปรุงชุดเครื่องจักรในสายการผลิตเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยทำการติดตั้งชุดเครื่องจักรใหม่ทดแทนชุดเครื่องจักรเก่าโดยยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ 12,000 ตันอ้อยต่อวัน ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวเมื่อรวมกับการปรับปรุงระยะที่ 2 แล้วจะมีกำลังการผลิตเป็น 30,000 ตัน อ้อยต่อวัน
จากการที่บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตจาก 12,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 30,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งในกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำตาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไอน้ำและไฟฟ้าจึงมีแผนการก่อตั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 140 เมกะวัตต์จากเชื้อเพลิงซากอ้อยขึ้นภายใต้ชื่อบริษัท เกษตรผล power plant จำกัด เพื่อเป็นแหล่งต้นกำลังในการจ่ายไอน้ำและไฟฟ้าให้แก่โรงงานน้ำตาล ในส่วนไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานจะส่งจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าต่อไปในอนาคต จึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ภาครัฐและประชาชนได้รับทราบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อระดมความคิดเห็นต่างๆ ไปพิจารณาป้องกันผลกระทบ สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนเพื่อความยั่งยืนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยประชาชนที่เข้ามารับฟังทุกคนต่างเห็นด้วย