xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’กับ ‘แอร์โดอัน’ ทำความตกลงกันในเรื่อง ‘ซีเรีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Putin, Erdogan have a deal on Syria
By M.K. Bhadrakumar
13/08/2016

หลังจากที่ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรี พบปะเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมแล้ว อีกเพียงวันสองวันต่อมา อังการาก็แถลงแสดงความเห็นว่าคณะบริหารชุดต่อไปในซีเรียควรที่จะรวมเอาทุกๆ ฝ่ายเข้าร่วมและเป็นรัฐฆราวาสซึ่งแยกออกมาจากฝ่ายศาสนา เพื่อที่ทุกๆ คนจะสามารถดำเนินชีวิตไปด้วยความเชื่อของพวกเขาได้ ท่าทีเช่นนี้ต้องถือว่าขยับเข้าใกล้มากที่สุดแล้วเท่าที่ตุรกีได้เคยกระทำมา ในการยอมรับว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดนั้น สามารถมีบทบาทอันถูกต้องชอบธรรมที่จะแสดงต่อไปในซีเรีย

ช่วงเวลา “ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น” นั่นแหละคือช่วงที่จำเป็นต้องจับตามองให้ดี เมื่อมีการพบปะเจรจาซัมมิตอันสำคัญยิ่งยวดบังเกิดขึ้น และก็อย่างที่รายละเอียดต่างๆ แบออกมาให้เห็นแล้ว ปรากฏว่าการพบปะหารือระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรกี ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ก่อให้เกิดผลดีต่างๆ อย่างโดดเด่นเป็นพิเศษทีเดียว

ทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายใดเลยที่แสดงความสนใจในการประทับตราความสัมพันธ์ที่ยกระดับในเชิงคุณภาพขึ้นสู่ระดับใหม่นี้ด้วยถ้อยคำที่คุ้นหูชินลิ้นซึ่งถูกนำออกมาใช้อยู่เป็นประจำ มันไม่สำคัญเลยไม่ว่าใครจะเรียกมันว่าเป็น “พันธมิตร” (alliance), “กึ่งพันธมิตร (quasi-alliance), หรือ “ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ” (entente) สิ่งที่สำคัญนั้นอยู่ที่ว่าความสัมพันธ์อันมีความหมายอย่างลึกซึ้งนั้นกำลังเริ่มต้นงอกงามขึ้นมาแล้ว

รัสเซียกับตุรกีนั้นย้อนหลังไปได้ไกลมากทีเดียวในประวัติศาสตร์ และไม่จำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นเล้าโลมอะไรกันอีก ภาวะ “มวลวิกฤต” (critical mass) พัฒนาขึ้นมาเรียบร้อยแล้วภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากการสนทนากันในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ภายในเวลา 1 วันนับแต่ที่แอร์โดอันยื่นข้อเสนอและปูตินก็ตอบรับแนวความคิดของการจัดตั้ง “กลไก” (mechanism) ซึ่งจะประกอบด้วยนักการทูต, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร, และเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรอง จากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหาเจรจาหารือกันถึงรายละเอียดสำคัญต่างๆ ของการสู้รบขัดแย้งในซีเรีย คณะผู้แทนของตุรกีซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานดังกล่าวนี้ ก็ได้เดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงมอสโกเพื่อพบปะหารือกับคณะของฝ่ายรัสเซียในวันที่ 11 สิงหาคม

มีหลักฐานชัดเจนว่าแอร์โดอันเดินทางไปยังเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กคราวนี้พร้อมกับ “แผนปฏิบัติการ” อันที่จริงแล้ว คนหนึ่งซึ่งร่วมเดินทางไปกับคณะของเขาด้วยก็คือ ฮาคาน ฟิดาน (Hakan Fidan) ผู้อำนวยการองค์การข่าวกรองแห่งชาติของตุรกี

ตุรกีแสดงความต้องการที่จะให้ทั้งสองฝ่ายมีจังหวะก้าวเดินที่เป็นรูปธรรมออกมา และเป็นที่คาดหมายกันว่าการเจรจาหารือระหว่างคณะทำงานของ 2 ฝ่ายในกรุงมอสโกจะเป็นการเริ่มต้นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

สำหรับการที่ฝ่ายรัสเซียตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงพลิกผันให้ฐานทัพอากาศฮะเมมีม (Hmeimim Air Base ในจังหวัดลาตาเกีย ของซีเรีย) ให้กลายเป็นฐานสำหรับปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มที่ถาวรในซีเรียนั้น อาจจะไม่ได้มีอะไรข้องเกี่ยวกับการไปเยือนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของแอร์โดอันคราวนี้ ทว่ามันก็เกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างในการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีระหว่างตุรกี-รัสเซียด้วยเช่นกัน

กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้เปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ของแผนการสำหรับฮะเมมีมออกมาแล้ว ซึ่งประกอบด้วยการขยายลานจอดเครื่องบิน, การปรับปรุงทางวิ่งเครื่องบิน, การสร้างโรงทหารสำหรับเป็นที่พักของทหารขึ้นมาหลายโรงและสร้างโรงพยาบาล 1 แห่ง, การกำหนดวางแผนให้เพิ่มเนื้อที่มากขึ้นเพื่อรองรับเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่, การติดตั้งอุปกรณ์วิทยุใหม่ๆ รวมทั้งระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ, การจัดทำที่ตั้งใหม่ๆ สำหรับเอาไว้ประจำการขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นสู่อากาศแบบ “ปันต์ซีร์” (Pantsir) และระบบอาวุธปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และอื่นๆ

รัสเซียกับซีเรียนั้นลงนามในข้อตกลงเรื่องฮะเมมีมตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งอนุญาตให้มอสโกสามารถใช้ฐานทัพอากาศแห่งนี้ได้อย่างไม่มีกำหนดเวลาโดยซีเรียไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทว่าจุดที่สิ่งสนใจก็คือ เป็นวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งมีการบันทึกเอาไว้ในฐานข้อมูลอย่างเป็นทางการของสภาดูมาของรัสเซียว่า ปูตินได้ยื่นเอกสารดังกล่าวนี้เพื่อให้รัฐสภาให้สัตยาบันรับรอง

ไม่มีข้อสงสัยอะไรเลย ฐานทัพสำหรับการปฏิบัติการอย่างเต็มที่ในฮะเมมีม ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วตั้งอยู่ตรงบริเวณติดชายแดนตุรกี คือสัญญาณแสดงถึงการตัดสินใจทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ซึ่งนำเอาปัจจัยเรื่องการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีระหว่างตุรกี-รัสเซียเข้ามาคำนวณด้วย

ในการพูดจาหารือในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องที่ตุรกีจะรื้อฟื้นการปฏิบัติการต่างๆ ในเขตน่านฟ้าของซีเรีย (ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำการโจมตีกลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส”) หลังจากที่ได้ระงับไปนับตั้งแต่เกิดกรณียิงเครื่องบินรบรัสเซียตกในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี เมฟลุต คาวูโซกลู (Mevlut Cavusoglu) ประกาศในวันที่ 10 สิงหาคมว่า อังการา “จะส่งเครื่องบินของตนเข้าร่วมในการปฏิบัติการต่างๆ ด้วยความแข็งขันอีกคำรบหนึ่ง”

“ขอให้เราร่วมมือกันสู้รบเล่นงานกลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ เพื่อให้เราสามารถกวาดข้างพวกมันออกไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” คาวูโซกลู กล่าวเร่งเร้า เขายังพูดต่อไปว่า “เราจะหารือรายละเอียดทุกๆ อย่าง (กับรัสเซีย) เรานั้นเรียกร้องเสมอมาให้รัสเซียมาร่วมมือกันดำเนินการปฏิบัติการต่อต้านพวกดาเอช (Daesh ชื่อย่อภาษาอาหรับของกลุ่ม “รัฐอิสลาม”)”

ด้วยน้ำเสียงอันแสดงถึงความยินดีและความกระตือรือร้น เขาชี้ว่า “ประเทศจำนวนมากกำลังเข้าทำการสู้รบในซีเรียอย่างแข็งขัน มันจึงสามารถที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นมาได้ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ (กลไก) ความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกันและความร่วมมือกันระหว่างพวกเรา (ตุรกีกับรัสเซีย) เข้าสู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองแบบเรียลไทม์”

จากคำพูดของคาวูโซคลู ดูเหมือนจะปรากฏ “ความสบายอกสบายใจ” ในระดับใหม่ขึ้นมา กล่าวได้ว่าในระดับการทหารและข่าวกรองแล้ว มอสโกรู้สึกได้ว่าตุรกีได้เริ่มถอนความสนับสนุนที่พวกเขาให้แก่กลุ่มสุดโต่งชาวซีเรียต่างๆ แล้ว

สำหรับในส่วนของฝ่ายมอสโก รัสเซียได้แถลงในวันที่ 10 สิงหาคมว่า พื้นที่ระเบียงทางมนุษยธรรมสำหรับการออกไปจากเมืองอะเลปโป (Aleppo) จะยังคงเปิดให้เป็นประจำทุกวันโดยจำกัดเอาไว้ที่ครั้งละ 3 ชั่วโมง กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การปฏิบัติการทางทหารเพื่อยึดเมืองใหญ่แห่งนี้จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างเต็มที่ และยังคงถือว่ามีลำดับความสำคัญสูงสุด

แน่นอนทีเดียว ทั่วโลกต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่าสมรภูมิชิงเมืองอะเลปโปนี้จะเป็นตัวตัดสินเส้นทางดำเนินไปของสงครามซีเรีย สำหรับตุรกีนั้น จุดที่สำคัญก็คือศึกชิงอะเลปโปนี้แหละจะเป็นบททดสอบว่าอังการามีเจตนารมณ์อย่างไรกันแน่ต่อระบอบปกครองซีเรีย

รายงานข่าวหลายชิ้นจากเตหะราน ซึ่งต่างอ้างคำบอกเล่าของพวกแหล่งข่าวทหาร ได้ไฮไลสถานการณ์ว่าเกิดการสู้รบอย่างหนักในซีกตะวันตกและซีกใต้ของอะเลปโป ซึ่งพวกกลุ่มกบฏต่างๆที่หนุนหลังโดยซาอุดีอาระเบียได้เปิดฉากการโจมตีขนาดใหญ่โตเพื่อบุกฝ่าวงล้อมของฝ่ายรัฐบาล ขณะที่เครื่องบินไอพ่นของฝ่ายรัสเซียก็กำลังทิ้งระเบิดอย่างไม่ปรานีต่อสถานที่ต่างๆ ของพวกกลุ่มกบฎเหล่านี้ซึ่งรวมตัวกันในนาม “ไจช อัล-ฟาตะห์” (Jeish al-Fatah ภาษาอังกฤษใช้ว่า Army of Conquest)

แน่นอนทีเดียว หากมองเบื้องลึกลงไปอีกจากการสงคราม จุดสำคัญที่สุดย่อมต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพ และในที่นี้ปัญหาอันใหญ่โตที่สุดย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรีย

คาวูโซกลู ได้แถลงที่กรุงอังการาในวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งมีลักษณะเป็นการแสดงจุดยืนอย่างเป็นนัยๆ ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก โดยเขากล่าวว่าตุรกีกับรัสเซียเห็นพ้องกันว่า ระบอบปกครองของซีเรียชุดต่อไป ควรต้องเป็นระบอบปกครองซึ่งทุกๆ ฝ่ายเข้ามีส่วนร่วมด้วย “เราคิดเห็นเช่นเดียวกับรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องอนาคตของซีเรีย คณะบริหารชุดต่อไปในซีเรียควรที่จะต้องรวมเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามาและครอบคลุมทุกๆ คน” เขากล่าว และเสริมด้วยว่า ระบอบปกครองนี้ “ควรจะต้องเป็นคณะบริหารทางฆราวาส แยกออกมาจากฝ่ายศาสนา (secular)”

“เราพูดเสมอมาว่า (ซีเรีย)ต้องใช้หนทางแก้ไขด้วยวิถีทางการเมืองเท่านั้น จึงจะสามารถแก้ไขได้อย่างถาวร โดยที่เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจะต้องยอมรับกัน มีอาทิ จะต้องไม่ทำอันตรายต่อพลเรือน, ทำการแยกฝ่ายค้านที่เป็นพวกสายกลางออกมาจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายต่างๆ, และ (รับประกันให้มีการจัดส่ง) ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ... เรากับรัสเซียมีความเห็นพ้องกันว่า ซีเรียควรที่จะมีคณะบริหารปกครองซึ่งทุกๆ คนสามารถที่จะใช้ชีวิตตามความเชื่อของพวกเขาได้” เขากล่าว

ท่าทีเช่นนี้ต้องถือว่าขยับเข้าใกล้มากที่สุดแล้วเท่าที่ตุรกีได้เคยกระทำมา ในการยอมรับว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดนั้น สามารถมีบทบาทอันถูกต้องชอบธรรมที่จะแสดงต่อไปในซีเรีย ทั้งนี้ คาวูโซกลู แถลงออกมาคราวนี้โดยเป็นที่ชัดเจนว่า เขาได้รับรู้รับทราบอย่างเต็มที่แล้วเกี่ยวกับสิ่งที่แอร์โดอันพูดคุยเจรจาสองต่อสองกับปูติน

อย่างที่ โรเบิร์ต ฟิสค์ (Robert Fisk) มือเก่าประสบการณ์สูงในเรื่องตะวันออกกลางเขียนเอาไว้ว่า “จากโรงละครแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เราสามารถจัดทำรายชื่อยาวเหยียดทีเดียวของผู้ที่น่าจะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ อันดับแรกทีเดียวคือ ไอซิส (ISIS ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส”) และ อัลกออิดะห์/นุสรา/ฟาตะห์ เอล-ชาม (al-Qaeda/Nusra/Fatah el-Sham) รวมไปถึงกลุ่มแนวทางอิสลามิสต์อื่นๆ ทั้งหมดที่กำลังสู้รบกับระบอบปกครองในซีเรียอยู่ในเวลานี้ เพราะจู่ๆ พวกเขาก็พบว่า ผู้ที่เป็นช่องทางลำเลียงอาวุธที่เชื่อถือได้มากที่สุดของพวกเขา ได้เข้าจับมือเป็นทีมเดียวกันกับผู้เป็นศัตรูดุร้ายโหดเหี้ยมที่สุดของพวกเขา ... นั่นก็คือกองทัพอากาศรัสเซีย ผู้ที่อาจกลายเป็นผู้ปราชัยในอันดับถัดๆ มา ก็คือพวกอภิมหาเศรษฐีชาวซาอุดีอาระเบียและชาวกาตาร์ ผู้ซึ่งกำลังซัปพลายทั้งเงินสดและปืนให้แก่พวกนักรบชาวสุหนี่ที่กำลังพยายามโค่นล้มทั้งดามัสกัสและแบกแดด อีกทั้งกำลังพยายามยังความต่ำต้อยให้แก่พวกชีอะห์แห่งอิหร่าน, ซีเรีย ... และเลบานอน”

แต่ถึงเราสามารถที่จะวาดภาพสถานการณ์เช่นนี้ได้ เอาเข้าจริงมอสโกกับอังการาก็ยังจะต้องก้าวเดินกันต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อประคับประคองแรงโมเมนตัมให้เดินหน้าต่อไป และตรงนี้เองที่สหรัฐฯสามารถก้าวเข้ามา ในฐานะที่เป็น “หุ้นส่วนผู้ไม่ได้มีส่วนในการบริหารจัดการ” (sleeping partner) ทั้งนี้จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า แอร์โดอันก็มีสิ่งที่เขาถือว่าเป็น “เส้นสีแดง” ซึ่งไม่อาจละเมิดล่วงเกินได้อยู่เช่นกัน ได้แก่ประเด็นปัญหาว่าด้วยชาวเคิร์ด

ถ้าแอร์โดอันยอมลดขนาดความสนับสนุนที่ตุรกีให้แก่พวกกลุ่มสุดโต่งต่างๆ ลงมาอย่างมากมายฮวบฮาบ และยอมเปิดความคิดจิตใจให้กว้างขวางและสมดุล เกี่ยวกับเรื่องที่อัสซาดจะสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการเจรจาสร้างสันติภาพในซีเรียด้วยแล้ว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน มอสโก (และเตหะราน) ก็จะต้องทุ่มเทใช้ความพยายามในการช่วยเหลือเขาให้สามารถรักษาประคับประคอง “เส้นสีแดง” เอาไว้ได้เช่นกัน กล่าวคือ ห้ามไม่ให้มีการก่อตั้ง “เคอร์ดิสถาน” หรือรัฐของชาวเคิร์ดขึ้นมา

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรียนั้น อยู่ในสภาพถูกใส่สายรั้งเอาไว้ ซึ่งผู้ที่ถือสายรั้งนี้อยู่ในมือก็คือลุงแซม และลุงแซมจะถือสายรั้งนี้เอาไว้อย่างแน่นหนาเข้มงวดแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับข้อพิจารณาจำนวนมากในแต่ละช่วงแต่ละจังหวะเวลา

รวมความแล้ว สามารถที่จะกล่าวได้ว่าปูตินเล่นไพ่ของเขาได้อย่างฉลาดหลักแหลม ในการเป็นเจ้าภาพต้อนรับการมาเยือนอย่างประสบความสำเร็จของแอร์โดอัน โดยมุ่งเน้นหนักในเรื่องการนำพาเอาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้หวนกลับคืนสู่เส้นทางซึ่งเป็นวงโคจรมุ่งไต่ระดับสูงขึ้นไป เขายังแสดงให้เห็นว่าไม่มีความสนใจที่จะสร้างภาระให้แก่การฟื้นคืนสัมพันธไมตรีอันละเอียดอ่อนนี้ ด้วยการอัดฉีดประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เบาโหวงไร้ความจริงจังเข้ามา

ตรงกันข้าม ปูตินฝึกฝนตระเตรียมความคิดของเขาให้รวมศูนย์อยู่ที่ “สิ่งที่สามารถทำได้” (doables) และ “สิ่งที่สามารถมอบให้ได้” (deliverables) และในการฟื้นฟูสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดูอบอุ่นและจริงใจกับแอร์โดอัน ทั้งนี้สามารถที่จะมองเห็นได้ชัดเจนทีเดียวจาก “ภาษากาย” ของพวกเขาทั้งสอง

มอสโกมีความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีเช่นกันว่า ความเป็นหุ้นส่วนกันนี้จะมีความกระฉับกระเฉงและความมีชีวิตชีวามากน้อยแค่ไหน เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ารัสเซียสามารถตอบสนองความจำเป็นอันสำคัญยิ่งยวดทั้งหลายของแอร์โดอันได้เพียงใด ในขณะที่แอร์โดอันกำลังพยายามกำหนดจัดวางนโยบายการต่างประเทศใหม่ที่เป็นอิสระ(จากโลกตะวันตก) ในช่วงเวลาภายหลังจากวิกฤตการณ์แห่งการดำรงคงอยู่ที่ตุรกีเพิ่งผ่านพ้นมา

ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการเน้นน้ำหนักอย่างแรงๆ ทีเดียว ในเรื่องการค้าและการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขึ้นมา [1]

เมื่อพิจารณากันในทางการเมืองแล้ว ปูตินจัดว่ามีแต้มต่ออยู่มาก จากการที่มอสโกแสดงบทบาทอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการเตือนภัยอังการา เกี่ยวกับการรัฐประหารที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม

แต่เขาก็ปฏิเสธอย่างตรงๆ ไม่ขอคาดการณ์ถึงสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ โดยที่อนาคตของสายสัมพันธ์นี้จะเป็นเช่นใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่อย่างมากกับเรื่องที่ว่าตุรกีจะอยู่ได้อย่างสบายอกสบายใจแค่ไหนในอนาคต ภายในระบบพันธมิตรของฝ่ายตะวันตก

แน่นอนที่สุดทีเดียวว่า ปูตินจะไม่รู้สึกขุ่นแค้นไม่พอใจแอร์โดอัน ถ้าหากแอร์โดอันจะนำเอา “ไพ่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” ขึ้นมาอวดโอ่เพื่อการต่อรองปกป้องศรัทธาความเชื่อของเขา, บัลลังก์ของเขา, และปิตุภูมิของเขา ในตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัคฐฯ เดินทางไปเยือนตุรกีเพื่อหยั่งท่าทีกันและกันในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

หมายเหตุผู้แปล

[1] การทำความตกลงกันในด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ จากการพูดจาหารือกันระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กับประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมคราวนี้ เอเชียไทมส์ได้เสนอรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งพูดถึงประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอเก็บความนำเสนอในที่นี้:

รัสเซียกับตุรกีเดินหน้าไปก้าวใหญ่สู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้เป็นปกติเมื่อวันอังคาร (9 ส.ค.) โดยที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ประกาศเร่งรัดเพิ่มพูนสายเชื่อมโยงทางการค้าและพลังงาน ในเวลาเดียวกับที่ประเทศทั้งสองต่างประสบปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจและมีความตึงเครียดกับฝ่ายตะวันตก

การไปเยือนรัสเซียของแอร์โดอันคราวนี้ กำลังเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดในโลกตะวันตก ซึ่งมีบางคนหวั่นเกรงว่าชายทั้งสองคนนี้ที่ต่างเป็นผู้นำทรงอำนาจที่รังเกียจพวกที่มาคัดค้านไม่เห็นด้วย อาจใช้การฟื้นฟูสัมพันธไมตรีของพวกเขาเพื่อแผ่แรงกดดันบีบคั้นต่อวอชิงตันและสหภาพยุโรป และก่อกวนให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในองค์การนาโต้ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่ตุรกีก็เป็นรัฐสมาชิกรายหนึ่ง

ปูตินกล่าวว่า มอสโกจะค่อยๆ ยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรอังการา ซึ่งได้ประกาศใช้หลังจากฝ่ายตุรกียิงเครื่องบินขับไล่ลำหนึ่งของรัสเซียตกที่บริเวณใกล้ๆ ชายแดนซีเรียเมื่อ 9 เดือนก่อน พร้อมกับระบุว่าการนำเอาสายสัมพันธ์ของพวกเขากลับคืนไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ

“พวกเราต้องการฟื้นฟูให้ความสัมพันธ์กลับคืนไปสู่ระดับเบ่งบานเต็มที่ไหม? แน่นอน และเราก็จะบรรลุถึงจุดนั้นด้วย” ปูตินกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับแอร์โดอัน ภายหลังการหารือรอบแรก “ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทีเดียว”

ขณะที่แอร์โดอันบอกว่าจะมีการเพิ่มพูนความร่วมมือกันในโครงการต่างๆ เป็นต้นว่า โครงการสร้างสายท่อส่งก๊าซธรรมชาติมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ที่มีการวางแผนเอาไว้ก่อนหน้านี้ และโครงการที่ฝ่ายรัสเซียจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 โรงขึ้นในตุรกี ตลอดจนความร่วมมือกันในภาคการป้องกันประเทศ

แอร์โดอันกล่าวว่า ตุรกีกับรัสเซียจะหวนกลับไปสู่การตั้งเป้าหมายให้การค้าทวิภาคีของพวกเขาไต่สูงขึ้นสู่ระดับปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ทอดทิ้งไปภายหลังมอสโกประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรอังการา

รายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของตุรกี ถูกกระทบกระเทือนหนักจากการที่อาคันตุกะชาวรัสเซียหดหายลดน้อยลงไปถึง 87% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

ปูตินบอกว่าปัญหาเกี่ยวกับการรื้อฟื้นเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากรัสเซียไปยังตุรกีขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็หยุดไปเนื่องจากการคว่ำบาตรเช่นเดียวกันนั้น จะได้รับการแก้ไขคลี่คลายในอนาคตอันใกล้นี้

ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องกันที่จะรื้อฟื้นโครงการวางสายท่อส่งก๊าซ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “เติร์กสตรีม” (TurkStream) สายท่อส่งนี้จะนำเอาก๊าซรัสเซียไปยังตุรกีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะส่งต่อไปยังชาติต่างๆ ในยุโรปในอนาคตอีกด้วย

รัสเซียนั้นกำลังวางแผนโครงการจำนวนหนึ่งซึ่งจะจัดส่งก๊าซของตนไปขายให้ยุโรปโดยไม่ต้องผ่านยูเครน ทว่าที่ผ่านมาสหภาพยุโรปคัดค้านโครงการเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความต้องการที่จะลดการพึ่งพาก๊าซจากมอสโกให้น้อยลง

รัฐมนตรีพลังงาน อเล็กซานเดอร์ โนวัค ของรัสเซียกล่าว่า สายท่อส่งก๊าซ “เติร์กสตรีม” ช่วงแรกซึ่งจะเป็นการซัปพลายก๊าซสู่ตุรกีนั้น อาจจะสร้างกันได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2019 ทว่าจำเป็นที่จะต้องได้รับการค้ำประกันอย่างมั่นคงจากพวกชาติในยุโรปเสียก่อน จึงจะสามารถสร้างสายท่อส่งช่วงที่สองจากรัสเซียไปยังอียูโดยข้ามผ่านตุรกีได้

สำหรับโครงการที่รัสเซียจะจัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อัคคูยู (Akkuyu nuclear power plant) ในตุรกี ซึ่งเวลานี้ชะงักไปนั้น ผู้นำทั้งสองระบุว่าจะรื้อฟื้นเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ในปี 2013 รอสอะตอม (Rosatom) ของรัสเซียเป็นผู้ชนะได้สัญญามูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของตุรกีนี้ ทว่าการก่อสร้างได้หยุดลงภายหลังเกิดเหตุยิงเครื่องบินทหารรัสเซีย


(ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://atimes.com/2016/08/putin-and-erdogan-move-towards-repairing-russia-turkey-ties/)


กำลังโหลดความคิดเห็น