เอเอฟพี - ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับ ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรกี แสดงท่าทีที่จะสานสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองขึ้นมาใหม่ ขณะที่พวกเขาพบปะหารือกันในวันนี้ (9 ส.ค.) ซึ่งเป็นการเจรจากันครั้งแรกนับตั้งแต่ที่อังการายิงเครื่องบินรบลำหนึ่งของมอสโกตก เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
การที่แอร์โดอันเดินทางมาเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของปูตินคราวนี้ ยังถือเป็นการเดินทางออกสู่ต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำตุรกี นับแต่เกิดความพยายามก่อรัฐประหารโค่นล้มเขา ทว่าล้มเหลวเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นชนวนทำให้เกิดการกวาดล้างจับกุมพวกที่เป็นปรปักษ์คัดค้านเขา และกลายเป็นเงาดำทะมึนปกคลุมเหนือความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี กับโลกตะวันตก
“การมาเยือนของท่านในวันนี้ ทั้งที่สถานการณ์เกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศอยู่ในภาวะอันยากลำบากมาก เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า พวกเราทั้งหมดต่างต้องการเริ่มต้นการสนทนากันใหม่ และฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตุรกีขึ้นมาใหม่” ปูติน กล่าวหลังจากที่ผู้นำทั้งสองสัมผัสมือกัน
แอร์โดอัน ซึ่งระบุว่า การเดินทางเที่ยวนี้ของเขาเป็นตัวแทนแห่ง “หลักหมายใหม่” ในความสัมพันธ์ของสองประเทศ ได้กล่าวกับปูติน ว่า สายสัมพันธ์นี้ได้เข้าสู่ “ระยะที่แตกต่างออกไปจากเดิมเป็นอย่างมาก” พร้อมกับแสดงความขอบคุณผู้นำวังเครมลินที่ให้การหนุนหลังเขาภายหลังมีความพยายามก่อรัฐประหารโค่นล้มเขา
เหตุการณ์ที่เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ของตุรกี ยิงเครื่องบินขับไล่รัสเซียลำหนึ่งตกที่บริเวณชายแดนติดต่อระหว่างซีเรียกับตุรกีเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ปูตินผู้แสดงอาการโกรธเกรี้ยวหนัก ประกาศใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อตุรกี และเปิดฉากทำสงครามน้ำลายอย่างเผ็ดร้อนกับแอร์โดอัน จนดูเหมือนจะสร้างความเสียหายอย่างสุดเยียวยาให้แก่สายสัมพันธ์ซึ่งทำท่าจะเบ่งบานเติบใหญ่อยู่ทีเดียว
แต่แล้วเมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปูตินก็ทำให้ฝ่ายต่าง ๆ เซอร์ไพรส์ ด้วยการยอมรับสารแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ยิงเครื่องบินรบรัสเซียจากแอร์โดอัน ในฐานะที่เป็นคำขอโทษ แล้วจากนั้นก็เร่งยกเลิกมาตรการห้ามขายแพกเกจให้ชาวรัสเซียไปท่องเที่ยวที่ตุรกี ซึ่งเป็นตัวสร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่อังการา รวมทั้งยุติการห้ามนำเข้าอาหารจากตุรกี และห้ามบริษัทก่อสร้างตุรกีเข้ามาทำกิจกรรมในแดนหมีขาว
ยิ่งในเวลานี้ที่เป็นช่วงหลังความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ในเมืองหลวงต่าง ๆ ของฝ่ายตะวันตกกำลังบังเกิดความหวาดเกรงกันว่า ตุรกีซึ่งเป็นชาติสมาชิกองค์การนาโตชาติหนึ่ง อาจถูกดึงให้เข้าใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้นไปอีก โดยที่แอร์โดอันแสดงท่าทีอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนว่า เขารู้สึกว่าถูกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทอดทิ้ง
ทั้งนี้ ปูตินเป็นหนึ่งในผู้นำต่างประเทศคนแรก ๆ ซึ่งโทรศัพท์ไปหาแอร์โดอัน พร้อมแสดงความสนับสนุนหลังเกิดความพยายามโค่นล้มเขา อีกทั้งไม่เหมือนกับพวกผู้นำอียู ปูตินไม่ได้หยิบยกข้ออ้างเหตุผลทางศีลธรรมมาทักท้วงการปราบปรามกวาดล้างที่แอร์โดอันกำลังดำเนินการอยู่ภายประเทศ
สัญญาณล่าสุดประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างตุรกีกับฝ่ายตะวันตก ก็คือ รัฐมนตรียุติธรรมตุรกี เพิ่งออกมาแถลงเตือนในวันนี้ (9) ว่า สหรัฐฯจะต้อง “เสียสละความสัมพันธ์” หากยังไม่ยอมส่งตัว เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนมาให้ตุรกี เนื่องจากอังการาประณามกล่าวโทษว่า นักการศาสนาชาวตุรกีที่กำลังลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯผู้นี้ เป็นผู้บงการการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวคราวนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี กับรัสเซีย สองมหาอำนาจที่ต่างต้องการแผ่อิทธิพลบารมีในย่านทะเลดำ และตะวันออกกลาง ในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีลักษณะราบรื่นตรงไปตรงมาแต่อย่างใด
กระนั้นก่อนจะเกิดวิกฤตยิงเครื่องบินตก มอสโก กับอังการา มีความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้การพิพาทไม่ลงรอยกันทั้งในกรณีซีเรีย และกรณียูเครน มาสร้างอันตรายให้แก่ความร่วมมือกันเชิงยุทธศาสตร์ในประเด็นอย่างเช่นโครงการสร้างสายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ “เติร์กสตรีม” เพื่อส่งก๊าซรัสเซียผ่านตุรกีเข้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป หรือโครงการที่รัสเซียสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในตุรกี
ครั้นเมื่อเกิดวิกฤตดังกล่าวขึ้นมา โครงการเหล่านี้ได้ถูกแช่แข็ง เช่นเดียวกับการค้าระหว่างประเทศทั้งสองก็ตกลงมาถึง 43% จนมีปริมาณเหลือเพียง 6,100 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนมกราคม ถึงพฤษภาคมปีนี้ ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตุรกีก็ต้อนรับทัวริสต์จากรัสเซียลดน้อยลงถึง 93%
เวลานี้จากการที่รัสเซียตกอยู่ในวิกฤตทางเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากมาตรการลงโทษคว่ำบาตรของโลกตะวันตกในกรณียูเครน รวมทั้งราคาน้ำมันที่เป็นสินค้าออกสำคัญของแดนหมีขาวก็ตกต่ำ ขณะที่ทิศทางแนวโน้มอนาคตของตุรกีก็อยู่ในอาการสะดุดติดขัด ดังนั้น ผู้นำทั้งสองจึงมีความต้องการอย่างมากที่จะเดินหน้าสานความร่วมมือซึ่งกันและกันอีกคำรบหนึ่ง
สื่อมวลชนตุรกีรายงานว่า ในคณะผู้ติดตามมาเยือนรัสเซียของแอร์โดอันคราวนี้ ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ มากกว่าครึ่งโหล โดยรวมถึงรัฐมนตรีพลังงานเบรัต อัลไบรัค ผู้เป็นบุตรเขยของแอร์โดอัน และ ฮาคาน ฟิดัน ผู้อำนวยการองค์การข่าวกรองแห่งชาติ (เอ็มไอที) ซึ่งมีอำนาจมากในตุรกี
ไม่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ รัสเซียกับตุรกียังต่างมีบทบาทสำคัญในสงครามซีเรีย โดยที่ปูตินให้ความสนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ขณะที่แอร์โดอัน ยืนยันว่า อัสซาดต้องลงจากเวทีไป อย่างไรก็ตาม แอร์โดอันบอกกับสื่อมวลชนรัสเซีย ว่า ความขัดแย้งนี้ซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้ตุรกีแตกหักร้าวฉานกับรัสเซียในช่วงที่ผ่านมานั้น เวลานี้สามารถกลายเป็นจุดโฟกัสสำหรับความร่วมมือกันครั้งใหม่ระหว่างสองประเทศ
“รัสเซียคือผู้เล่นรายหลัก, รายหัวใจ และรายสำคัญมากรายหนึ่งในการสถาปนาสันติภาพขึ้นในซีเรีย” แอร์โดอัน กล่าวให้ความเห็น ตามที่มีการแปลเผยแพร่เอาไว้ในสื่อรัสเซีย “ปัญหานี้จำเป็นที่จะต้องแก้ไขด้วยความช่วยเหลือของการก้าวเดินร่วมกันระหว่างรัสเซีย กับตุรกี”