ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน เกาะแก่ง และน่านน้ำบริเวณทะเลจีนใต้ (South China Sea) ที่เป็นประเด็นร้อนสั่นคลอนความสัมพันธ์ ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงสหรัฐอเมริกาต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ได้กลับกลายมาเป็นข่าวร้อนฉ่าอีกครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สืบเนื่องจากการออกโรงตั้งโต๊ะแถลงข่าวแบบเผ็ดร้อนของหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นการแถลงข่าวครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นไปเมื่อวันอังคารที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งหวัง ยืนกรานว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีแนวความคิดที่จะแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของตน ก้าวเข้ามาแทนที่สหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด รวมถึงไม่เคยปรารถนาที่จะนำพาประเทศของตนให้กลายเป็นแบบสหรัฐอเมริกาไปอีกประเทศหนึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐมนตรีต่างประเทศแดนมังกรรายนี้ ยังออกโรงย้ำว่า น่านน้ำทะเลจีนใต้ยังคงมีสถานะที่ไม่เปลี่ยนแปลงในฐานะที่เป็น “น่านน้ำนานาชาติ” ที่ทุกประเทศในโลกสามารถใช้ประโยชน์ และเดินเรือได้อย่างเสรีและปลอดภัยมากที่สุด แต่ทั้งนี้ รัฐบาลจีนก็ขอปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตัวเองในการเข้าควบคุมเกาะแก่งน้อยใหญ่ในน่านน้ำแห่งนี้ เหตุเพราะจีน คือ ชาติที่ค้นพบดินแดนเหล่านี้ตัวจริงเสียงจริงก่อนชาติใดในโลก
รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนยังตำหนิว่า ในความเป็นจริงแล้วมีกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นในอเมริกา ที่ยังคงทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง โดยระบุ คนกลุ่มนี้ยังคงเป็น “รากเหง้าของความขัดแย้ง” ที่คอยสร้างความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจ ตลอดจน บ่มเพาะ “ทัศนคติที่บิดเบือน” ในหมู่ผู้มีอำนาจของสหรัฐฯ ว่า “สักวันหนึ่ง จีนจะก้าวขึ้นแทนที่สหรัฐฯ” ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงแม้แต่น้อย
“ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า จีนไม่ใช่สหรัฐฯ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จีนจะกลายเป็นแบบสหรัฐฯ ไปอีกประเทศหนึ่ง เราไม่เคยมีเจตนารมณ์ที่จะเข้าแทนที่ใครหรือที่จะชี้นำผู้ใด และข้าพเจ้าขอเสนอแนะให้มหามิตรชาวอเมริกัน ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ขนบทางวัฒนธรรมตลอดจนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมายาวนานกว่า 5,000 ปีของจีน และไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการหยิบนำเอาความคิดแบบอเมริกันมาประยุกต์ใช้อย่างคนตาบอด ในการตัดสินจีนแบบผิดๆ อย่างที่ผ่านมา” หวัง อี้ กล่าว
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียต่างออกโรงวิพากษ์ต่อการที่จีนเข้าไป “ถือวิสาสะ”ถมทะเลสร้าง “เกาะเทียม” ขึ้นในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่เป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดของโลก
ขณะที่สหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินรบและเรือพิฆาตแล่นเข้าไปเฉียดใกล้เกาะเทียมของจีนหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงกระแสข่าวที่แพร่สะพัดในสื่อสัญชาติอเมริกันหัวต่างๆ ที่ระบุว่าจีนส่งระบบขีปนาวุธสุดล้ำ ตลอดจนเครื่องบินขับไล่ และระบบเรดาร์ไปไว้บนเกาะเทียม ยิ่งกลายเป็นปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อความตึงเครียดในทะเลจีนใต้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ หรือ “นายใหญ่แห่งเพนตากอน”ได้กล่าวเตือนจีนให้ระวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา จากการดำเนินนโยบายที่ก้าวร้าวในน่านน้ำทะเลจีนใต้ พร้อมโวลั่นว่า รัฐบาลวอชิงตันพร้อมเดินหน้าขยายบทบาททางทหารของตนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยได้จัดสรรงบประมาณ 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับใช้จนถึงปี ค.ศ.2020 เพื่อสนับสนุนภารกิจในการจัดซ้อมรบร่วมกับชาติพันธมิตรในภูมิภาคแห่งนี้ที่ต่างไม่พอใจกับความพยายามแผ่ขยายอิทธิพลและบทบาทแบบไร้จิตสำนึกของรัฐบาลปักกิ่ง
ในอีกด้านหนึ่ง มีการออกมายืนยันว่าสหรัฐฯ อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล บี-1 เข้าไปประจำการในออสเตรเลีย ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการขยายอิทธิพลทางทหารของปักกิ่งในทะเลจีนใต้
โดยผู้ที่ออกมายืนยันข่าวนี้ คือพลอากาศเอกหญิง ลอรี โรบินสัน ผู้บัญชาการของกองกำลังรบทางอากาศ ประจำภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Pacific Air Forces) ระบุว่า เวลานี้ทางกองทัพ กำลังเปิดเจรจากับรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อขอส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-1 ตลอดจนเครื่องบินสำหรับภารกิจเติมน้ำมันกลางอากาศ ให้เข้าไปประจำการชั่วคราวในเบื้องต้น ณ พื้นที่ภาคเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ประชิดติดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นที่ตั้งประจำของกองทหารอเมริกันจำนวนหนึ่งมาพักใหญ่
ก่อนหน้านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศ “ปรับใหญ่”ยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อ “ปักหมุด” ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า แนวนโยบายนี้มีเป้าประสงค์หลักอยู่ที่การสกัดกั้นอิทธิพลของปักกิ่งในภูมิภาคแห่งนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งทางการเมือง การทหาร และในทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งใกล้หมดวาระในอีกไม่ถึงขวบปีนับจากนี้ ได้เปิดแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมครั้งประวัติศาสตร์กับผู้นำประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ (อาเซียน) โดยโอบามาเผยว่าตนเองและผู้นำชาติอาเซียน ได้หารือและต่างเห็นพ้องกันถึงความ จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยลดทอนการกระทบกระทั่ง และความตึงเครียดรูปแบบต่างๆ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และว่าที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียนเห็นตรงกันว่า ควรแก้ไขข้อพิพาทนี้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ เป็นประเทศคู่กรณีอย่างสันติผ่านช่องทางด้านการทูตและช่องทางตามหลักกฎหมาย ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า ถ้อยแถลงร่วมที่ถือเป็นผลิตผลจากการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีโอบามา กับ 10 ผู้นำชาติอาเซียน ที่สถานตากอากาศซันนีแลนด์ส เมืองแรนโชมิราจ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.ที่ผ่านมา กลับไม่ได้มีการกล่าวพาดพิงอย่างโจ่งแจ้งถึงการที่รัฐบาลปักกิ่งใช้นโยบายที่แข็งกร้าวเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนพิพาททั้งปวงในน่านน้ำทะเลจีน ใต้
“พวกเราได้หารือกันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสำหรับลดทอนความตึงเครียดในน่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนต้องมีมาตรการที่จำเป็นสำหรับยับยั้งการแปรสภาพที่ดิน การก่อสร้าง และการส่งกำลังทหารในรูปแบบต่างๆ เข้าไปควบคุมพื้นที่พิพาททางทะเลแห่งนี้ และเมื่อใดก็ตามที่อาเซียนประกาศจุดยืนชัดเจนร่วมกันได้ เมื่อนั้นความมั่นคง โอกาสแห่งสันติ ตลอดจนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันก็จะถูกยกระดับขึ้นตามมา” โอบามากล่าว
ที่ผ่านมารัฐบาลจีนประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำและเกาะแก่ง เกือบทั้งหมดหรือกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและเป็นแหล่งพลังงานขนาดมหึมาแล้ว น่านน้ำทะเลจีนใต้ยังถือเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการที่มีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละขวบปี
แต่จีนมิได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่อ้างว่าตนเองมีสิทธิเหนืออธิปไตย ในดินแดนและน่านน้ำทะเลจีนใต้ เพราะพื้นที่พิพาททางทะเลแห่งนี้ยังถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนโดยรัฐบาลของหลายประเทศทั้งไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไนดารุสซาลาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้น่านน้ำแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งที่ร้อนระอุ และกลายเป็นเวทีประลองกำลังทางการเมืองและทางทหารอย่างแข็งขันของสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและจีนอย่างมิต้องสงสัย