รอยเตอร์ - รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ “จี 20” ชี้ต้องมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดขีดและการพิมพ์ธนบัตรใหม่ เพื่อพาโลกหลุดพ้นจากความเซื่องซึมทางเศรษฐกิจ พร้อมตอกย้ำให้มุ่งมั่นในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทั้งยังเรียกร้องให้ละเว้นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน และให้สัญญาว่าจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในตลาดเงิน
แถลงการณ์จากที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มประเทศจี 20 ที่ออกมาเมื่อวันเสาร์ (26) ระบุว่าการเติบโตของโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง อาทิ ความผันผวนในการไหลของเงินทุน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งฮวบ และแนวโน้ม “ผลกระทบรุนแรง” จากการที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกกันว่า “เบร็กซิต”
แถลงการณ์ที่ออกมาภายหลังการประชุมที่เซี่ยงไฮ้ยังระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงดำเนินอยู่ แต่ไม่สม่ำเสมอและต่ำกว่าเป้าหมายการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
“นโยบายการเงินจะยังคงสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจและรับประกันเสถียรภาพของราคา แต่ลำพังนโยบายการเงินอย่างเดียวไม่อาจสร้างการเติบโตที่สมดุลได้” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ การเติบโตที่ชะลอลงและความปั่นป่วนในตลาดได้ทำให้เกิดแรงเสียดทานด้านนโยบายอย่างรุนแรงระหว่างประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คำแถลงยังแสดงความกังวลต่อความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งวิกฤตผู้อพยพในยุโรป
เจ้าหน้าที่อาวุโสที่เห็นร่างแถลงการณ์หลายฉบับ เผยว่า แถลงการณ์เวอร์ชันแรกๆ ไม่ปรากฏคำว่า “เบร็กซิต” แต่มาเพิ่มหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อังกฤษกดดัน โดยอังกฤษนั้นจะทำประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน เรื่องจะอยูในสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปหรือไม่
จี 20 ยังเห็นพ้องในการใช้ “เครื่องมือนโยบายทั้งหมด ทั้งการเงิน การคลัง การปรับโครงสร้าง การแยกกันดำเนินการหรือร่วมมือกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจของกลุ่ม
กระนั้น จี 20 ไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นร่วมกันที่เฉพาะเจาะจงอย่างที่นักลงทุนบางส่วนคาดหวังภายหลังตลาดทรุดดิ่งตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยในระหว่างการประชุมเห็นได้ชัดว่า บรรดาผู้วางนโยบายยังมีความเห็นขัดแย้งกัน
ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ระดับความผันผวนของตลาดเมื่อเร็วๆ นี้ไม่ได้สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจโลก และการฟื้นเศรษฐกิจโลกจำเป็นต้องมีการผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมแนวโน้มการเติบโตในระยะกลาง และทำให้เศรษฐกิจมีนวัตกรรม ยืดหยุ่น และคงทนมากขึ้น
กระนั้น มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่ชาติชั้นนำเกี่ยวกับการพึ่งพิงหนี้เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต และการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น
เยอรมนีประกาศชัดเจนว่า ไม่มีแผนออกมาตรการกระตุ้นใหม่ โดยรัฐมนตรีคลังเมืองเบียร์ วูลฟ์กัง ชอยบ์เล กล่าวเมื่อวันศุกร์ (25) ว่ารูปแบบการเติบโตที่ผลักดันด้วยหนี้ถึงขีดจำกัดแล้ว อีกทั้งยังสร้างปัญหาใหม่ กล่าวคือการระดมทุนใหม่อาจนำไปสู่ฟองสบู่และการแบกรับความเสี่ยงมากเกินไป
จี 20 ที่มีสมาชิกครอบคลุมประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ อาทิ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไปจนถึงตลาดเกิดใหม่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนและบราซิล และประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก เช่น อินโดนีเซียและตุรกีนั้น เน้นย้ำในแถลงการณ์ให้ละเว้นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงด้วยการลดค่าเงิน และให้สัญญาว่าจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในตลาดเงิน
จีน เจ้าภาพการประชุม ใช้เวทีนี้บรรเทาความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตนที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของโลก รวมทั้งความสามารถในการจัดการสถานการณ์ หลังจากที่ทั่วโลกวิตกมากขึ้นกับการทรุดดิ่งรุนแรงของตลาดหุ้นจีน และการประกาศลดค่าเงินแบบไม่มี่ปี่มีขลุ่ยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
โหลว จี้เหว่ย รัฐมนตรีคลังจีนกล่าวว่า อาจจำเป็นต้องคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับที่เหมาะสมต่อไป แม้บางคนเห็นว่า แนวทางนี้ไม่สามารถทดแทนนโยบายการคลังได้ก็ตาม นอกจากนั้น ระหว่างกล่าวเปิดประชุมเมื่อวันศุกร์ นายกรัฐมนตรีหลี่ เคอะเฉียง ยังยืนยันว่า ไม่มีเหตุผลที่จีนจะต้องลดค่าเงินหยวนต่อ