“ทีเอ็มบี” เตรียมทบทวนเป้าส่งออกปี 59 ชี้หากส่งออกเดือน ก.พ.ยังติดลบต่อเนื่อง โอกาสที่จะกลับมาเป็นบวกยากแน่ สำหรับข้อเสนอที่ให้มีการใช้นโยบาย ดบ.ต่ำเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าสนับสนุนการส่งออกต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีผลกระทบในวงกว้าง ขณะที่ผู้บริหารกองทุนห่วงบริษัทพลังงานทยอยปิดตัว กระทบไม่จ่ายหนี้แบงก์ อาจเป็นต้นเหตุวิกฤตโลกรอบใหม่
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “เดินหน้าเศรษฐกิจไทย กับบริบทใหม่ที่ต้องเผชิญ” โดยระบุถึงการที่กระทรวงพาณิชย์ เตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อปรับปรุงดัชนีรายได้ระหว่างประเทศใหม่ โดยจะรวมรายได้จากภาคบริการ และเงินต่างประเทศด้วยนั้นมองว่า เป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เพื่อจะได้ทราบถึงภาพรวมรายได้จากต่างประเทศว่าเข้ามาในช่องทางใดบ้าง
“แต่ที่สำคัญสำหรับการกระตุ้นการส่งออก คือ รัฐบาลต้องมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนว่าให้ความสำคัญต่อสิ่งใด เนื่องจากตอนนี้รัฐบาลมุ่งแต่พัฒนาการบริโภคในประเทศมากกว่าการส่งออก ซึ่งหากต้องการขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวมากขึ้น ภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมมือในการขยายตลาดต่างประเทศ เพราะผลกระทบเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวยังกดดันการค้าตลาดโลกในปีนี้ และ ไทยยังมีปัญหาภัยแล้งที่กระทบผลผลิตสินค้าเกษตร และกำลังซื้อในประเทศ”
นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กำลังอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) และการส่งออกใหม่ จากที่ประมาณการ GDP ปีนี้เติบโตที่ 3.5% และการส่งออกขยายตัว 1.8% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะการส่งออกเดือนมกราคม ติดลบ 8.9% มากกว่าที่ประมาณการไว้ว่าติดลบ 6.9%
ทั้งนี้ หากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 การส่งออกไทยยังติดลบก็มีความเป็นไปได้ยากที่ส่งออกไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวก โดยจะมีการประกาศตัวเลขอีกครั้งกลางเดือนมีนาคมนี้ สำหรับข้อเสนอที่ให้มีการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และจะช่วยสนับสนุนการส่งออก มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่หากใช้นโยบายการคลัง และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวต่อการส่งออกจะถือเรื่องที่น่าเหมาะสมมากกว่า
ด้าน นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า ปัจจัยโลกที่กังวล คือ บริษัทกลุ่มพลังงาน และแก๊สขนาดเล็กจะปิดกิจการ และไม่ยอมจ่ายหนี้ จะกระทบกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ให้ประมาณ 10-15 บริษัท และกระทบให้มีแรงขายพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งหากมีความกังวลมากขึ้น และมีการเทขายพันธบัตรออกมามากจะกระทบตลาดรุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ติดตามอยู่ เพราะเกรงว่าอาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตโลกในอนาคตได้