xs
xsm
sm
md
lg

IMF ชี้ ศก.โลกถูกรุมเร้าใกล้ตกราง เร่ง G20 ออกแผนกระตุ้นการฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ผู้สื่อข่าวชาวจีนเดินชมห้องประชุม ก่อนที่การประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม จี20 จะเริ่มขึ้นในนครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 26-27 ก.พ. -- Agence France-Presse/Pool/Rolex Dela Pena.</font></b>
เอเจนซีส์ - ไอเอ็มเอฟคาดอาจต้องปรับลดเป้าหมายการเติบโตของปีนี้อีกครั้งในเดือนเมษายน เรียกร้องกลุ่มจี 20 ร่วมวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อป้องกันไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตกรางท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นโลกดิ่ง ค่าเงินผันผวน ชีพจรเศรษฐกิจแผ่วทั่วโลก ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ตกฮวบ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่จัดเตรียมสำหรับนำเสนอในที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มจี 20 ที่เซี่ยงไฮ้ในวันศุกร์และเสาร์นี้ (26-27) เร่งเร้าให้จี 20 ร่วมกันสนับสนุนอุปทานโดยใช้เครื่องมือทางการคลังที่มีอยู่เพื่อกระตุ้นการลงทุนสาธารณะ

ขณะนี้ เริ่มมีหลายคนนำการประชุมที่เซี่ยงไฮ้ไปเปรียบเทียบกับการประชุมจี 20 เมื่อเดือนเมษายน 2009 ที่ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกระหว่างวิกฤตการเงินครั้งใหญ่

กระนั้น แจ็ค ลูว์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ลดกระแสความคาดหวังว่า จี 20 จะออกแผนการฉุกเฉินในสัปดาห์นี้ โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศชั้นนำบางชาติไปได้ดีกว่าที่คิด และนักลงทุนไม่ควรคาดหวังมาตรการรับมือวิกฤตทั้งที่ไม่มีวิกฤต

ทว่า เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟยืนยันว่า เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว และเกิดสภาวะการเงินตึงตัวในตลาดเกิดใหม่ที่ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอตัวในจีน ขณะที่ราคาน้ำมันโลกไหลรูดจากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อปี 2014 อยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์ในขณะนี้ ตลอดจนแนวโน้มที่อังกฤษอาจถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ตลาดหุ้นทั่วโลกเทกระจาดตั้งแต่ต้นปี มิพักต้องพูดถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากวิกฤตผู้ลี้ภัยซีเรีย รวมถึงการระบาดของไวรัสซิกาในละตินอเมริกา

“สถานการณ์เหล่านี้ชี้ว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นที่การฟื้นตัวจะตกราง” รายงานที่ออกมาเมื่อวันพุธ (24) ยังเตือนว่า โลกอาจต้องสร้างกลไกการระดมทุนใหม่เพื่อช่วยตลาดเกิดใหม่และผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์บางชาติที่มีความเสี่ยงสูงจากกระแสเงินทุนไหลออก

.

.
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟมีแผนทบทวนแนวทางการจัดการการไหลเวียนเงินทุนของประเทศต่างๆ ภายในปีนี้ โดยจะเน้นที่แหล่งเงินทุนและพื้นที่เป้าหมายในการจัดสรรเงินทุน

ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักลงทุนต่างถอนทุนออกจากประเทศยากจนหรือประเทศที่มีผลตอบแทนต่ำและโยกเงินไปอเมริกา ส่งผลให้ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่อ่อนลง สินค้าส่งออกจึงแพงขึ้นในขณะที่ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกตกต่ำ

เดือนมกราคมที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกประจำปีนี้อยู่ที่ 3.4% จาก 3.6% และรายงานล่าสุดบ่งชี้ว่า อาจมีการลดเป้าหมายการเติบโตลงอีกครั้งในเดือนเมษายนที่จะถึง ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เพิ่งลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีปัจจุบันจาก 3.3% อยู่ที่ 3%

ไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าลดการพึ่งพิงนโยบายการเงิน และหันไปใช้นโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการเติบโตแทน และว่าตลาดเกิดใหม่ควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นเมื่อเป็นไปได้ และใช้การแทรกแซงตลาดเงินเป็นการชั่วคราวเท่านั้น พร้อมกันนี้ยังเตือนว่า ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงเฟด จำเป็นต้องจับตานโยบายการเงินเพื่อให้แน่ใจว่า มาตรการคุมเข้มทางการเงินไม่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น