xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ทดสอบยิง “ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป” ลูกที่ 2 ในรอบสัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - กองทัพสหรัฐฯ ทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile - ICBM) ลูกที่ 2 ในรอบสัปดาห์เมื่อค่ำวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) เพื่อแสดงศักยภาพของระบบป้องปรามนิวเคลียร์ของอเมริกา ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดทางยุทธศาสตร์กับรัสเซียและเกาหลีเหนือ

ขีปนาวุธ “ไมนิวท์แมน 3” (Minuteman III) เคลื่อนตัวออกจากฐานยิงที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กในมลรัฐแคลิฟอร์เนียก่อนเวลาเที่ยงคืนเพียงเล็กน้อย และมุ่งหน้าสู่พื้นที่เป้าหมายใกล้ๆ เกาะปะการังควาจาลีน (Kwajalein Atoll) ในหมู่เกาะมาร์แชล มหาสมุทรแปซิฟิกใต้

โรเบิร์ต เวิร์ค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า การทดสอบขีปนาวุธ ICBM ของสหรัฐฯ ซึ่งทำมาแล้วอย่างน้อย 15 ครั้งตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2011 เป็นการประกาศให้คู่แข่งทางยุทธศาสตร์อย่างรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ ตระหนักว่าวอชิงตันมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ที่ทรงประสิทธิภาพแค่ไหน

“นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราทำเช่นนี้” เวิร์ค ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว ก่อนที่การทดสอบยิงจะเริ่มขึ้น

“กองทัพสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน มีการทดสอบยิงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบปฏิบัติการด้านขีปนาวุธของเราเชื่อถือได้ และเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ป้องกันประเทศในยามจำเป็น”

ทั้งนี้ การอวดแสนยานุภาพของกองกำลังนิวเคลียร์สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น ในห้วงเวลาที่คลังอาวุธนิวเคลียร์ส่วนใหญ่ใกล้หมดอายุการใช้งาน อีกทั้งข่าวการทุจริตสอบวัดความชำนาญที่เกิดขึ้นเมื่อช่วง 2 ปีที่แล้วก็ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความพร้อมของกองกำลังนิวเคลียร์

รัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ของบประมาณอุดหนุนกองกำลังนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีก 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อ “ยกเครื่อง” อาวุธทางยุทธศาสตร์ที่ใช้งานมาอย่างยาวนาน เช่น เครื่องบินทิ้งระเบิด ขีปนาวุธ เรือดำน้ำ และอื่นๆ

งบประมาณ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยให้เพนตากอนและสำนักงานพลังงานสามารถดำเนินแผนปรับปรุงระบบโครงสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายราว 320,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 10 ปี และอาจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 30 ปี

การตัดสินใจอัดฉีดงบหนุนกองกำลังนิวเคลียร์อย่างมหาศาลในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” สำหรับ โอบามา ที่เคยลั่นวาจาเอาไว้ในปีแรกๆ ที่บริหารประเทศว่าจะทำให้อเมริกาลดการพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์

โอบามา เคยกล่าวปาฐกถาที่กรุงปรากเรียกร้องให้ทุกประเทศช่วยให้ทำให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งยังบรรลุข้อตกลงลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (START) ฉบับใหม่กับรัสเซีย จนนำมาสู่การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้

“เขาเคยประกาศนโยบายความมั่นคงที่ลดบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในความเป็นจริงช่วง 2-3 ปีมานี้ เราจะเห็นได้ว่า โอบามา เพิ่มงบอุดหนุนกองกำลังนิวเคลียร์มาโดยตลอด” จอห์น ไอแซค จากสภาเพื่อโลกที่อยู่อาศัยได้ (Council for a Livable World) ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์เรื่องการควบคุมอาวุธ ระบุ

นักวิจารณ์ชี้ว่า แผนของเพนตากอนมีค่าใช้จ่ายมากเกินไปและไม่จำเป็น เพราะมุ่งสร้างกองกำลังนิวเคลียร์ที่สามารถใช้หัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ได้สูงสุด 1,550 หัวตามที่เงื่อนไขของ START กำหนดไว้ แต่เพนตากอนจะประหยัดงบประมาณได้อีกหลายพันล้านดอลลาร์ หากสร้างกองกำลังที่มีศักยภาพรองลงมา รวมถึงเลื่อนโครงการผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลออกไปก่อน ยกเลิกโครงการขีปนาวุธร่อน และลดจำนวนเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่จะผลิตใหม่

เวิร์ค ระบุว่า เพนตากอนตระหนักดีถึงปัญหางบประมาณที่จำกัด ซึ่งทางกระทรวงจำเป็นต้องใช้งบถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 2021-2035 เพื่อปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัย และจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายก้อนโตสำหรับจัดหาเรือรบและเครื่องบินตามแบบแผนในช่วงเวลาเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น