นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐคอมมิวนิสต์โดดเดี่ยวอย่างเกาหลีเหนือสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่สหรัฐฯ และประเทศข้างเคียง เมื่อ คิม จอง อึน ออกมาประกาศความสำเร็จในการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ย่อส่วน (miniaturized nuclear warhead) และอ้างว่านักวิทยาศาสตร์โสมแดงสามารถคิดค้นระบบ re-entry นำขีปนาวุธพิสัยไกลกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้แล้ว ซึ่งการครอบครองเทคโนโลยีนี้ย่อมหมายถึงความสามารถในการควบคุมจรวดให้พุ่งไปทำลายเป้าหมายที่อยู่ข้ามทวีปได้อย่างแม่นยำ และถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อทั้งอเมริกา และชาติอื่นๆ ในภูมิภาค
สัปดาห์นี้สำนักข่าวเคซีเอ็นเอได้เผยแพร่ภาพผู้นำ คิม จอง อึน เดินทางไปเยี่ยมชมการจำลองทดสอบระบบ re-entry ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นสำหรับจรวดพิสัยไกลที่อาจนำหัวรบไปโจมตีได้ถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ
เคซีเอ็นเอ ระบุว่า คิม ได้สั่งการให้กองทัพ “ทดสอบการระเบิดของหัวรบและขีปนาวุธหลายๆ ชนิด... ในเร็ววันนี้” เพื่อพัฒนาระบบป้องปรามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือให้มีศักยภาพดียิ่งกว่าที่เป็นอยู่
สำหรับการจำลองระบบนำขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศโลกนั้น สื่อเกาหลีเหนือได้เผยแพร่ภาพ 2 ภาพ โดยภาพหนึ่งแสดงให้เห็นวัตถุรูปทรงโดมถูกวางไว้ใต้สิ่งที่ดูเหมือนเครื่องยนต์จรวด โดยที่วัตถุทรงโดมและสิ่งที่ดูเหมือนเครื่องยนต์ดังกล่าวกำลังระเบิด มีเปลวไฟพวยพุ่งออกมา ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพขณะที่ผู้นำคิมกำลังจ้องมองวัตถุซึ่งเคซีเอ็นเอระบุว่าเป็น “ปลายหัวรบ”
เกาหลีเหนืออ้างว่า การทดสอบครั้งนี้สำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยหัวรบนิวเคลียร์ที่โสมแดงผลิตขึ้นเองนั้นใช้วัสดุที่สามารถทนความร้อนได้มากกว่าการเดินทางของจรวดพิสัยไกลข้ามทวีปถึง 5 เท่า
ท่าทียั่วยุของเกาหลีเหนือมีขึ้น หลังจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเริ่มบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระลอกใหม่เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งประกอบด้วยการปิดกั้นธุรกรรมทางการเงิน และขัดขวางการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมายเข้าและออกจากรัฐคอมมิวนิสต์ โดยปักกิ่งซึ่งถือเป็นมหามิตรหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือก็สนับสนุนให้ใช้มาตรการนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจ เหมือนกรณีอิหร่าน
บทลงโทษเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะผู้ปกครองเกาหลีเหนือต้องประสบความเดือดร้อนจากการทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 ม.ค. รวมไปถึงการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่โสมแดงอ้างว่าเป็นการส่งดาวเทียมสำรวจขึ้นสู่วงโคจร
รัฐบาลเกาหลีเหนือยังออกคำขู่รายวันในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ว่าจะนำ “อาวุธนิวเคลียร์” ออกมาใช้ตอบโต้ปฏิบัติการซ้อมรบร่วม “คีย์ รีโซล์ฟ” และ “โฟล อีเกิล” ครั้งใหญ่ที่สุดของโซลและวอชิงตัน ซึ่งโสมแดงเชื่อว่าเป็นแผน “ซ้อมรุกราน”
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เกาหลีเหนือมีคลังอาวุธนิวเคลียร์อยู่ไม่มากนัก แต่เรื่องที่เปียงยางสามารถย่อส่วนหัวรบไปติดบนปลายขีปนาวุธเพื่อส่งไปโจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตรได้นั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
นักวิทยาศาสตร์ต่างแสดงความกังขาเกี่ยวกับระบบส่งอาวุธของเกาหลีเหนือ โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าเปียงยางยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะก้าวหน้าไปถึงขั้นผลิตจรวดพิสัยไกลข้ามทวีป (inter-continental ballistic missile - ICBM) ที่สามารถล็อคถล่มเป้าหมายบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ได้
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้แถลงว่า จากการวิเคราะห์ทางทหารเชื่อว่าเปียงยางยังไม่สามารถคิดค้นระบบ re-entry ได้อย่างที่กล่าวอ้าง ส่วนประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย ก็ชี้ว่า การใช้วาจาข่มขู่แบบไม่รู้จบสิ้นของเกาหลีเหนือกำลังสะท้อนให้เห็น “สถานการณ์ขั้นวิกฤต” ในเปียงยาง ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกประชาคมโลกโดดเดี่ยวและคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
“ถ้าเกาหลีเหนือยังใช้วิธียั่วยุ ต่อต้านข้อเรียกร้องจากประชาคมโลก และไม่เร่งดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง พวกเขาก็กำลังเดินไปสู่หนทางแห่งการทำลายตัวเอง” พัค กล่าว
เกาหลีเหนือยังไม่เคยทดสอบจรวด ICBM มาก่อน แต่ก็เคยนำจรวดประเภทนี้ (KN-08) ออกมาอวดโฉมในพิธีสวนสนามกองทัพซึ่งจัดขึ้นที่จัตุรัสใจกลางกรุงเปียงยาง
ชาง ยอง-ซ็อก นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อสันติภาพและการปรองดองศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่เกาหลีเหนือจะลงมือทดสอบจรวดพิสัยไกลที่มีระบบ re-entry นำกลับสู่ชั้นบรรยากาศในอีกไม่ช้า
“เกาหลีเหนือต้องการให้โลกรู้ว่า มาตรการคว่ำบาตรใดๆ ก็ไม่มีทางหยุดยั้งพวกเขาได้ และระบบป้องปรามของเกาหลีเหนือก็มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือพอ”
สหรัฐฯ เคยทดสอบขีปนาวุธติดตั้งหัวรบจริงที่เรียกว่าการทดสอบ ฟรีเกต เบิร์ด ในปี 1962 ส่วนจีนก็เคยทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยกลางติดหัวรบนิวเคลียร์น้ำหนัก 12 กิโลตันเมื่อปี 1966 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในโลกที่ขีปนาวุธนิวเคลียร์ถูกทดสอบยิงเหนือพื้นที่ชุมชน
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทั่วโลกต้องเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของเปียงยางกันแบบวันต่อวัน ดังที่ เมลิสสา แฮนแฮม ผู้เชี่ยวชาญโครงการอาวุธทำลายล้างสูงของเกาหลีเหนือจากสถาบันมิดเดิลเบอรีเพื่อศึกษาการระหว่างประเทศ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เตือนว่า เปียงยางอาจลุกขึ้นมาทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพื่อให้นานาชาติเลิกสงสัยในศักยภาพของพวกเขา แต่ที่อันตรายที่สุดก็คือ หากถึงเวลานั้นประเทศเพื่อนบ้านของเกาหลีเหนือจะแยกแยะได้หรือไม่ว่า นั่นเป็นแค่การทดสอบ หรือเป็นการโจมตีจริง