xs
xsm
sm
md
lg

‘ซาอุดีฯ’หมกมุ่นมุ่งกำจัด ‘อัสซาด’ สงครามซีเรียกำลังขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: ซัลมาน ราฟี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Saudi Arabia’s obsession with removing Assad may prove self-destructive
BY Salman Rafi
16/02/2016

ถึงแม้เมื่อเร็วๆ นี้มีการพูดคุยถึงเรื่องการหยุดยิงในซีเรีย แต่ความเป็นจริงก็คือสงครามในประเทศนี้กำลังไต่ระดับและขยายตัวแผ่กว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อซาอุดีอาระเบียและตุรกีประกาศจะส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย

ถึงแม้มีการประโคมบทเพลงโหมโรงไปเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับ “การหยุดยิง” ในซีเรีย แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม สงครามในประเทศนี้กำลังไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังกำลังทำท่าจะขยายตัวออกไปจนถึงขนาดที่ว่า ในไม่ช้าไม่นานบรรดารัฐที่อยู่ในภูมิภาคแถบนี้และที่อยู่ประชิดติดกับภูมิภาคแถบนี้ อาจพบว่าพวกตนตกอยู่ในภาวะหนีเสือปะจระเข้ โดยถูกบังคับให้ต้องเลือกว่า จะเข้าร่วมกับ “ฝ่ายตะวันออก” หรือ “ฝ่ายตะวันตก”

ขณะที่การพูดจาหารือของ “กลุ่มระหว่างประเทศสนับสนุนซีเรีย” (International Syria Support Group ใช้อักษรย่อว่า ISSG) เมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ นครมิวนิก, เยอรมนี ดูเหมือนจะฉายแสงสว่างแห่งความหวังที่จะมีการทำข้อตกลงหยุดยิงในซีเรียขึ้นมาได้ ทว่า “ความเข้าใจ” ซึ่งบรรลุกันในที่นั้นกลับขาดไร้กลไกสำหรับบังคับให้บังเกิดผลที่เป็นจริง ความกลวงโบ๋ของการพูดจากันปรากฏออกมาเป็นหลักฐานชัดเจน เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ของสหรัฐฯ ถึงขนาดออกปากกล่าวว่า “สิ่งที่เรามีอยู่ในที่นี้ คือถ้อยคำซึ่งปรากฏบนกระดาษ แต่สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องได้เห็นในช่วงเวลาไม่กี่วันข้างหน้านี้คือการลงมือปฏิบัติการจริงๆ ในภาคสนาม”

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า “การลงมือปฏิบัติการจริงๆ ในภาคสนาม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา มีแต่จะยิ่งย้ำยืนยันว่าสงครามซีเรียไม่ได้มีท่าทีจะสิ้นสุดลงในเร็ววัน ตรงกันข้าม สงครามนี้กลับทำท่าแผ่กว้างครอบคลุมไปทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ด้วยซ้ำ

เวลานี้ซาอุดีอาระเบียและตุรกีกำลังวางแผนการที่จะส่งกองทหารภาคพื้นดินเข้าไปในซีเรีย (ซาอุดีอาระเบียนั้นได้ส่งเครื่องบินขับไล่ของตนจำนวนหนึ่งไปยังตุรกีแล้วด้วย) โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อทำการสู้รบกับกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ทว่านี่เป็นเพียงการปล่อยม่านควันของราชสกุลซาอุด (House of Saud) เท่านั้น

ขณะที่การเจรจาในมิวนิก และ “ความเข้าใจ” ที่บรรลุกัน ได้รับการป่าวประกาศอย่างเกรียวกราวจากสื่อมวลชน สิ่งหนึ่งที่ดำเนินไปอย่างไม่ค่อยได้มีการสังเกตเห็นกันสักเท่าใดเลย ก็คือ การที่ซาอุดีอาระเบียมีความหมกมุ่นอย่างเหลือเกินอยู่กับเรื่องที่ต้องหาทางกำจัดประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัซซาด ออกจากการครองอำนาจในซีเรีย พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของประเทศนี้ประกาศยืนกรานซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ต้องการให้เอาตัวอัสซาดออกจากเวทีการเมืองในซีเรียไปตลอดกาล เมื่อวันศุกร์ (12 ก.พ.) ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของราชอาณาจักรแห่งนี้แถลงย้ำว่า เป้าหมายของซาอุดีอาระเบียคือต้องนำเอาตัวอัสซาดออกไป พร้อมกับระบุแสดงความมั่นใจว่า “เราจะบรรลุสิ่งนี้” แน่นอน

ระหว่างขึ้นพูดในเวทีประชุมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นในเมืองมิวนิก รัฐมนตรีต่างประเทศ อาเดล อัล-จูเบร์ (Adel al-Jubeir) ระบุว่า อัสซาดเป็น “แม่เหล็กแท่งเดียวซึ่งทรงประสิทธิภาพที่สุดในการดึงดูดพวกหัวรุนแรงสุดโต่งและพวกผู้ก่อการร้ายในภูมิภาคนี้” พร้อมกับยืนกรานว่าจะต้องผลักดันให้อัสซาดลงจากตำแหน่ง จึงจะสามารถฟื้นฟูเสถียรภาพในภูมิภาคแถบนี้ขึ้นมาได้ใหม่

“นี่คือวัตถุประสงค์ของเรา และเราจะบรรลุสิ่งนี้” เขาระบุ “ตราบจนกระทั่งและตราบจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในซีเรีย ไม่เช่นนั้นแล้ว ดาเอช (Daesh) ก็จะไม่มีทางตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในซีเรีย” รัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียผู้นี้กล่าว โดยเรียกพวกไอเอสด้วยชื่อย่อในภาษาอาหรับของกลุ่มนี้

เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะต้องหมายเหตุเอาไว้ว่า ราชสกุลซาอุดกำลังมองเห็นว่า ความจำเป็นในการยังความพ่ายแพ้ให้แก่อัสซาดซึ่งเป็น “ผู้นำที่ถูกต้องชอบธรรม” ของซีเรียนั้น มีค่าเท่าเทียมกับการยังความปราชัยให้แก่พวกไอเอสทีเดียว อย่างไรก็ดี ถ้าหากเราเพ่งพินิจอย่างใกล้ชิดไปยังบริบทของสงครามจากการที่ซาอุดีอาระเบียกับตุรกี ต่างเพิ่งประกาศการตัดสินใจที่จะส่งกำลังภาคพื้นดินรุกรานเข้าไปในซีเรียแล้ว วาระซ่อนเร้นของสองประเทศนี้ก็จะกระจ่างชัดเจนออกมา กล่าวคือ นอกเหนือจากการนำเอาอัสซาดออกจากอำนาจแล้ว ทั้ง 2 ประเทศนี้ยังต้องการที่จะพิทักษ์ปกครองกองกำลังอาวุธที่พวกเขาเรียกว่า “กลุ่มฝ่ายค้าน” ในซีเรีย โดยที่รวมไปถึงพวกไอเอสด้วย

สงครามช่วงชิงอำนาจควบคุมเมืองอะเลปโป (Aleppo) ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างดุเดือดในตอนนี้ ดูเหมือนส่งผลผลักดันให้เกิดพัฒนาการความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องกว้างไกลมาก ทั้งนี้ถ้ากองทัพซีเรียที่ได้รับการสนับสนุนด้วยการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย สามารถตีเมืองอะเลปโปกลับคืนไปได้ใหม่ พวกเขาก็จะสามารถตัดเส้นที่อาจใช้เป็นเส้นทางลำเลียงจาก “พวกประเทศเพื่อนบ้าน” ของซีเรียบางราย ต่อจากนั้นพวกเขาจะสามารถไล่ต้อน “กองกำลังฝ่ายค้านต่างๆ” ให้เข้าสู่มุมอับและสูญเสียฐานะที่กองกำลังเหล่านี้เป็นผู้ควบคุมดินแดนต่างๆ เอาไว้มากกว่ารัฐบาลซีเรียเสียอีก

นี่เองคือฉากสถานการณ์ความเป็นไปได้ที่ราชสกุลซาอุด รวมทั้ง ‘สกุลเออร์โดกัน’ (House of Erdogan หมายถึงประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน แห่งตุรกี -ผู้แปล) ด้วย ต่างกำลังพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้บังเกิดขึ้นมา กระทั่งถึงขั้นต้องประกาศพร้อมส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าซีเรีย ซึ่งก็คือวิธีการยั่วยุด้วยกำลังทหารนั้นเอง อย่างไรก็ตาม มันเป็นความลับที่รู้กันให้แซดอยู่แล้วว่า สิ่งที่เรียกกันว่า “กองกำลังพันธมิตรอาหรับ” (Arab coalition) นั้น ไม่ได้มีแสนยานุภาพทางทหารเพียงพอที่จะประจันหน้ากับกำลังผสมของซีเรีย, อิหร่าน, และรัสเซียได้ ในขณะที่ “กองกำลังพันธมิตรอาหรับ” เวลานี้กำลังประสบความเพลี่ยงพล้ำล้มเหลวอยู่ในเยเมน (โดยที่นั่นพวกเขาไม่ได้ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซียด้วยซ้ำ) พวกเขาจึงแทบไม่มีโอกาสใดๆ เลยที่จะสู้รบและเอาชนะในสมรภูมิที่ซีเรีย

เหตุผลของการแสดงการยั่วยุทางทหารดังกล่าว แท้ที่จริงแล้วคือการพยายามทำให้ความสนับสนุนทางการทหารจากฝ่ายตะวันตกซึ่งทยอยมาถึงแล้ว ได้รับการขยายให้แผ่คลุมกว้างขวางออกไปอีก ทั้งนี้ เหตุการณ์หนึ่งที่จะต้องจับตามองกันก็คือ การซ้อมรบที่ใช้ชื่อรหัสว่า “ชามัล สตอร์ม” (Shamal Storm) โดยที่มีรายงานว่าอังกฤษกำลังจัดส่งกำลังทหาร 1,600 คนและยานยนต์อีก 300 คันไปยังจอร์แดน เพื่อเข้าร่วมการฝึกซ้อมคราวนี้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว บรรยากาศเช่นนี้คล้ายคลึงอยู่มากทีเดียวกับการเตรียมพร้อมของสหรัฐฯกับพันธมิตร ก่อนหน้าที่จะทำการรุกรานและยึดครองอิรัก

รัสเซียกับซีเรียต่างกำลังอ้างอยู่พอดีว่าเส้นทางลำเลียงความช่วยเหลือให้แก่ “กองกำลังฝ่ายค้าน” ในซีเรียเวลานี้นั้น มีหลายเส้นทางที่เข้ามาจากจอร์แดน ดังนั้นการส่งทหารอังกฤษเข้าไปประจำการในจอร์แดนเช่นนี้ จึงอาจเป็นสิ่งบ่งชี้ความเป็นไปได้ที่สงครามซีเรียจะขยายตัวออกไปครอบคลุมประเทศอื่นๆ ถึงแม้หนังสือพิมพ์เดลี่เทเลกราฟ (Daily Telegraph) รายงานข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวอังกฤษหลายๆ ราย ที่ต่างปฏิเสธว่าไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ ทั้งสิ้นระหว่างการส่งกำลังทหารอังกฤษเข้าไปยังจอร์แดน กับการสู้รบทำศึกกับกลุ่มไอเอส ทว่าเรื่องนี้กลับกลายเป็นหลักฐานชี้ชัดในตัวมันเองว่า ซาอุดีอาระเบียกับตุรกีกำลังพยายามดึงฝ่ายตะวันตกให้ถลำลึกเข้าไปในการสู้รบขัดแย้งนี้ เพื่อบรรลุผลในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถกระทำได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

น่าสังเกตว่า ในช่วงเวลานี้สิ่งที่วอชิงตันกระทำ ก็มีแต่การให้คำมั่นสัญญา ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯประกาศแผนการที่จะจัดส่งเครื่องบินรบแบบ อีเอ-18 โกรว์เลอร์ (EA-18 Growler) ซึ่งติดตั้ง “สมรรถนะในการก่อกวนเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง” ไปยังฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งในตุรกี ในความพยายามที่จะตอบโต้กับระบบป้องกันขีปนาวุธ เอส-400 (S-400) ซึ่งรัสเซียลำเลียงเข้ามาติดตั้งในซีเรียแล้ว ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของตุรกีเป็นผู้ที่ต้องรับบทหนัก ในการใช้ความพยายามอย่างกระเสือกกระสนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางภาคพื้นดิน

มีรายงานว่า หน่วยปืนใหญ่พิสัยไกลของตุรกี กำลังระดมยิงใส่พื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเขตภูเขาในจังหวัดลาตาเกีย (Latakia) ขณะที่ในอะเลปโป ตุรกีกำลังพยายามนำเอากองกำลังอาวุธต่างๆ ของตนมารวมตัวกัน เพื่อให้กลายเป็นเสมือน “กำปั้นหุ้มเกราะ” ซึ่งมีความเหนือล้ำกว่าพวกกองกำลังที่กำลังต่อต้านตน นอกจากนั้น ประเทศนี้ยังกำลังโยกย้ายหน่วยอาวุธหนักของตนจากชายแดนด้านที่ติดต่อกับกรีซ ไปประจำการยังพื้นที่ชายแดนประชิดกับซีเรีย ด้วยวิธีนี้ โมเมนตัมแห่งการส่งทหารเข้าประจำการและการระดมเรียกทหารเตรียมพร้อม จึงกำลังพัฒนาดำเนินไปด้วยความคึกคัก

“กองกำลังพันธมิตรอาหรับ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย มีความต้องการที่จะนำเอาโมเมนตัมนี้ ไปแพร่ขยายต่อเข้าสู่ “อาณาเขตเป้าหมาย” แห่งอื่นๆ อย่างเช่นเยเมน ซึ่งกองกำลังของซาอุดีอาระเบียต้องประสบความเพลี่ยงพล้ำในการสู้รบเอาชนะพวกกบฏฮูตี (Houthi) อันที่จริงแล้วการที่ซาอุดีอาระเบียเข้าแทรกแซงในเยเมนเช่นนี้ ยังกำลังกลายเป็นการบ่มเพาะสถานการณ์ที่มีโอกาสระเบิดตูมตามอย่างสูง ในดินแดนภาคตะวันออกของราชอาณาจักรแห่งนี้เอง โดยที่ประชากรในแถบนั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชิอะห์ อาจก่อการลุกฮือด้วยการเข้าจับมือเป็นพันธมิตรกับพวกฮูตีในเยเมน

เมื่อเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะถูก “กรรมตามสนอง” เช่นนี้ ทางราชสกุลซาอุด จึงกำลังวิ่งวุ่นเพื่อปรับปรุงแก้ไขจุดยืนอันอ่อนแออย่างยิ่งยวดของตนเอง สำหรับพวกเขาแล้ว การเอาชนะสงครามในซีเรียให้ได้ ไม่ได้มีความสำคัญเพียงในแง่ของการยังความปราชัยให้แก่ปรปักษ์รายใหญ่ของตนอย่างอิหร่านเท่านั้น มันยังมีความสำคัญพอๆ กันในแง่ของการประกันความอยู่รอดทางการเมืองให้แก่ระบบกษัตริย์ซาอุดีเองด้วย

ขณะที่สหรัฐฯนั้น จวบจนถึงเวลานี้ ดูเหมือนแน่วแน่อยู่กับการก้าวย่างไปบนเส้นทางอย่างระมัดระวังตัว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวพันพัวกับความยุ่งยากทางทหารที่แผ่ขยายวงกว้างออกไปในภูมิภาคแถบนี้ ดังนี้นจึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วอะไรจะมาเหนี่ยวรั้งป้องกันไม่ให้ “กองกำลังพันธมิตรอาหรับ” และตุรกี ลงมือดำเนินการยั่วยุทางทหารอย่างจงใจขึ้นมา?

หากเกิดการปะทะสู้รบทางทหารโดยตรงระหว่างกองกำลังอาวุธของซีเรียกับของตุรกี หรือระหว่างกองกำลังซีเรียกับ “พันธมิตรอาหรับ” ขึ้นมาแล้ว รัสเซียและสหรัฐฯจะตัดสินใจนั่งดูอยู่ข้างๆ เฉยๆ เท่านั้นหรือ? อย่างไรก็ตาม เป็นที่กระจ่างชัดเจนแล้วว่าพวกเพลเยอร์ที่เป็นชาวตะวันออกกลาง ต่างกำลังตระเตรียมสถานการณ์ที่จะกลายเป็นความวิบัติหายนะอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ความวิบัติหายนะดังกล่าวนี้ ยังน่าจะทำลายล้างพวกเขาเองด้วย

ซัลมาน ราฟี ชัยค์ (Salman Rafi Sheikh) เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ และนักวิเคราะห์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตลอดจนกิจการด้านต่างๆ ของปากีสถาน อาณาบริเวณความสนใจของเขาคือการเมืองเอเชียใต้และเอเชียตะวันตก, นโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจรายใหญ่, และการเมืองของชาวปากีสถาน ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ salmansheikh.ss11.sr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น