xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ถอนทหารรัสเซียออกจาก ‘ซีเรีย’ เพื่อบีบ ‘โอบามา’ ให้แสดงบทบาท ‘รับผิดชอบ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Putin throws down the gauntlet on Syria. Any takers?
By M.K. Bhadrakumar
15/03/2016

ประธานาธิบีดวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศถอนทหารรัสเซียบางส่วนออกมาจากซีเรีย ความเคลื่อนไหวแบบสุดเซอร์ไพรซ์ของเขาคราวนี้ ปรากฏว่าเขาได้พูดจาหารือกับผู้นำต่างประเทศเพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นคือ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าปูตินกำลังเดินหมากกดดันโอบามาให้ต้องตัดสินใจ “รับผิดชอบ” และเลือกที่จะร่วมมือกับรัสเซียเพื่อประกาศหนทางที่จะนำมาแก้ปัญหาในซีเรีย

คำสั่งให้ถอนกำลังออกมาขณะที่สงครามยังอึมครึมไม่ปรากฏผลแพ้ชนะอย่างชัดเจน ต้องถือเป็นเรื่องผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง ทว่าสำหรับผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว ย่อมมีอภิสิทธิเช่นนี้อยู่ในกำมือ

มันก็เป็นหนึ่งในชั่วขณะแห่งการใช้สิทธิอำนาจพิเศษดังกล่าวนี้แหละ เมื่อตอนที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ออกประกาศอันน่าตื่นตะลึงที่กรุงมอสโกเมื่อคืนวันจันทร์ (14 มี.ค.) ว่า “หลังจากสามารถบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญๆ ซึ่งกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ก่อนที่กองทัพรัสเซียจะเคลื่อนเข้าไปทำศึกสู้รบปราบปรามการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงได้มีการตัดสินให้ถอนส่วนหลักของกองทหารแห่งกองทัพอากาศและอวกาศรัสเซีย (Russian Aerospace Forces รัสเซียนั้นรวมกองทัพอากาศและกองกำลังป้องกันทางอวกาศเข้าด้วยกัน จึงเรียกด้วยชื่อรวมเช่นนี้ -ผู้แปล) ออกมาจากซีเรีย” โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมเป็นต้นไป (เนื้อหารายละเอียดของการตัดสินใจของปูติน ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นรองรับสนับสนุนของรัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เกย์ ชอยกู และรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ ดูได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/51511)

ปูตินปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ รัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เกย์ ชอยกู (Sergey Shoigu) และรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) ในการนำเอาเหตุผลดีๆ เหมาะๆ มาเติมเต็มให้แก่การตัดสินใจอันสำคัญยิ่งในคราวนี้ของเขา มีข้อที่น่าสนใจควรแก่การบันทึกเอาไว้ด้วยว่า ผู้นำต่างประเทศเพียงคนเดียวซึ่ง ปูติน พูดจาด้วยเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในคราวนี้ คือ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ

ปูตินไม่ได้กล่าวปราศรัยหรือเปิดการแถลงใดๆ ต่อประชาชนชาวรัสเซีย เขามีความมั่นอกมั่นใจอยู่แล้วว่าประชาชนแดนหมีขาวจะมีความเข้าใจและสนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้ของเขา

เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่ว่า การตัดสินใจอย่างชวนให้เกิดคำถามถกเถียงโต้แย้งคราวนี้ คงจะถูกนำมาชำแหละแยกแยะและ “ถอดโครงสร้าง” ตามสำนักงานของฝ่ายบริหารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ตลอดจนมีความจำเป็น ที่จะต้องฟังความคิดเห็นจาก ชอยกู และ ลาฟรอฟ เสียก่อน ตามรายงานที่เผยแพร่โดยวังเครมลิน (http://en.kremlin.ru/events/president/news/51511) รัฐมนตรีกลาโหมชอยกูระบุว่า “การสู้รบปราบปรามการก่อการร้ายคราวนี้” สามารถบรรลุถึง “จุดผันเปลี่ยนอย่างสำคัญมาก” กล่าวคือ:

*การปฏิบัติการของกองทหารของรัสเซีย สามารถที่จะทำให้เส้นทางลำเลียงต่างๆ ของพวกผู้ก่อการร้ายในซีเรียต้อง “หลบซ่อนอำพรางตัว และในบางสถานที่กระทั่งต้องหยุดไปอย่างสิ้นเชิง” อีกทั้งสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อศักยภาพของพวกผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ ในการผลิต, แปรรูป, และนำออกสู่ตลาด ซึ่งเชื้อเพลิงที่เป็นตัวสร้างรายได้ให้แก่พวกเขา

*พวกผู้ก่อการร้ายถูก “ขับไล่” ออกมาจากจังหวัดลาตาเกีย (Latakia) ซึ่งเป็นฐานอำนาจในบริเวณชายฝั่งตะวันออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ของชาวอาลาวิต (Alawite) ของประธานาธิบดีบาชา อัล-อัสซาด

*การติดต่อสื่อสารได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดอาเลปโป (Aleppo), จังหวัดฮอมส์ (Homs), และจังหวัดฮามา (Hama) มีการเคลียร์พวกผู้ก่อการร้ายออกไปแล้ว ส่วนแหล่งบ่อน้ำมันและก๊าซที่อยู่ใกล้ๆ เมืองพัลไมรา (Palmyra) ก็สามารถตีกลับคืนมาอยู่ใต้การควบคุม

*กล่าวโดยรวมแล้ว มีเมืองเล็กๆ 400 แห่งและพื้นที่อาณาเขตกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร “ได้รับการปลดปล่อย” และ

*คนสัญชาติรัสเซียกว่า 2,000 คนที่ไปเป็นพันธมิตรเข้าด้วยกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายต่างๆ ได้ถูกกำจัดไป

ชอยกู เปิดเผยด้วยว่า ถึงอย่างไรก็จะคงทรัพย์สินทางทหารของรัสเซียจำนวนหนึ่งให้อยู่ในซีเรียต่อไป เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังให้เป็นไปตามข้อตกลงหยุดยิง ตลอดจนทำหน้าที่รวบรวมข่าวกรอง “โดยรวมถึงข่าวกรองที่ได้มาทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนข่าวกรองจากระบบดาวเทียมของเรา”

ในส่วนของรัฐมนตรีต่างประเทศลาฟรอฟนั้น ได้ประเมินสถานการณ์ว่า การปฏิบัติการของรัสเซียเท่าที่ผ่านมา “ได้ช่วยสร้างเงื่อนไขต่างๆ สำหรับทำให้กระบวนการทางการเมืองดำเนินไปได้” เขาพูดเป็นนัยๆ ว่า การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียนี่เอง ได้เร่งรัดให้สหรัฐฯ (และพวกพันธมิตรในท้องถิ่นของสหรัฐฯ ตลอดจนพวกฝ่ายค้านชาวซีเรีย) ต้องแสดงความกระตือรือร้นที่จะทำงานในเรื่องกระบวนการทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว ถึงแม้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันกระบวนการทางการเมืองดังกล่าวนี้ไปอีก จนกระทั่งถึงระดับ “ยั่งยืนและไม่หันหัวเลี้ยวกลับ”

หลังจากรับฟังการเสนอความคิดเห็นของ ชอยกู และ ลาฟรอฟ แล้ว ปูตินได้พูดสรุปซึ่งเป็นการชี้สิ่งที่มีความสำคัญมากออกมารวม 2 ประการ ได้แก่:

*ประการแรก การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียนั้น “มีประสิทธิภาพมากทีเดียว” และได้ “สร้างเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการเริ่มต้นกระบวนการสร้างสันติภาพ” ขึ้นมาได้ และ

*ประการที่สอง วัตถุประสงค์ต่างๆ ของการที่รัสเซียเข้าไปแทรกแซงทางทหารในซีเรียนั้น “โดยทั่วไปได้รับการเติมเต็มแล้ว” เมื่อพิจารณาจากการที่ “เราสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง” ในสถานการณ์ทางภาคพื้นดิน ตลอดจน “เป็นฝ่ายกระทำเป็นฝ่ายริเริ่มในแทบทุกๆ พื้นที่ เพื่อสร้างเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการเริ่มต้นกระบวนการทางการเมืองขึ้นมา”

ปูตินประกาศว่า ตั้งแต่วันอังคารที่ 15 มีนาคมเป็นต้นไป “ส่วนหลัก” ของกองทหารรัสเซียในซีเรียจะเริ่มต้นถอนกำลังออกมา โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้น “จุดที่เป็นฐานของเรา ได้แก่ ฐานทางนาวีของเราในจังหวัดตาร์ตุส (Tartus) และฐานทางการบินของเรา ณ ฐานทัพอากาศเฮไมมีม (Hmeymim) จะยังคงทำหน้าที่ต่อไปเหมือนเมื่อก่อนหน้านี้”

เขาเน้นย้ำว่า ทรัพย์สินทางทหารต่างๆ ของรัสเซียที่ยังคงอยู่ในซีเรีย จะ “สืบต่อปฏิบัติหน้าที่อันมีความสำคัญสูงมาก ในเรื่องการติดตามเฝ้าระวังให้เป็นไปตามข้อตกลงหยุดยิง และในเรื่องการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นมาสำหรับกระบวนการสร้างสันติภาพ”

ปูตินบอกว่า จากนี้ไป การทูตของรัสเซียจะต้องเร่งตัวให้เข้มข้นยิ่งขึ้น พร้อมกับระบุว่าการตัดสินใจในคราวนี้ของเขา จะเป็นการส่ง “สัญญาณที่ดีไปถึงทุกๆ ฝ่ายที่สู้รบขัดแย้งกันอยู่” โดยจะเป็นการสร้างเสริมให้เห็นว่ามอสโกนั้นมุ่งมั่นผูกพันกับกระบวนการสร้างสันติภาพ อีกทั้งน่าจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปที่เป็นการ “ยกระดับความไว้วางใจอย่างสำคัญ” ในระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการสร้างสันติภาพ

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ผ่านการขบคิดพิจารณาอย่างระมัดระวังมาแล้ว ถึงแม้มันจะประกาศออกมาชนิดสร้างเซอร์ไพรซ์ให้กับทั้งโอบามา และบรรดาผู้แสดงตัวเอกทั้งหลาย นับตั้งแต่กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย (King Salman of Saudi Arabia) ไปจนถึงประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่าน (Iran’s president Hassan Rouhani) ฮัสซัน นัสรุลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah leader Hassan Nasrallah) กระทั่ง (ประธานาธิบดี) เรเซป เออร์โดกัน แห่งตุรกี (Turkey’s Recep Erdogan) และ (นายกรัฐมนตรี) เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล (Israel’s Benjamin Netanyahu)

น่าสนใจมากทีเดียวที่การตัดสินใจของเครมลินคราวนี้ ออกมาไล่หลังเพียง 1 สัปดาห์ ภายหลังจากการตั้งข้อสังเกตอันเต็มไปด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์แรงๆ ของโอบามา ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานของสื่อมวลชนเจ้าหนึ่ง โดยมุ่งล้อเลียนเยาะเย้ยการปฏิบัติการของรัสเซียในซีเรีย ทั้งนี้ในถ้อยคำบรรยายดังกล่าวของโอบามานั้น ปูตินถูกวาดภาพว่ามีความกระสันเหลือเกินที่จะได้ที่นั่งในโต๊ะซึ่งจัดไว้สำหรับผู้ทรงเกียรติสูงสุด และกำลังยินยอมหลั่งเลือดเนื้อจากทรัพยากรของประเทศของเขาเองในสงครามที่เปล่าผลหาความสำคัญไม่ได้ ทว่าด้วยความเคลื่อนไหวคราวนี้ ปูตินก็กลับกำลังใช้การปฏิบัติที่เป็นจริงมาทำให้ถ้อยคำถากถางของโอบามานี้ เกิดรูโหว่ใหญ่โตเบ้อเริ่มเทิ่มขนาดเพียงพอให้ช้างทั้งตัวลอดผ่านไปได้ทีเดียว

ทำเนียบขาวออกคำแถลงพูดถึงการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างโอบามากับปูตินเมื่อวันจันทร์ (14 มี.ค.) โดยเรียกความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัสเซียในคราวนี้ว่า เป็น “การถอนกำลังทหารรัสเซียส่วนหนึ่งออกไปจากซีเรีย” แล้วโอบามาชื่นชอบการตัดสินใจของปูตินหรือไม่ หรือเขายังคงคิดว่าเจ้าผู้นำเครมลินแสนทึ่มคนนี้ยังคงจมอยู่ในโคลนดูดอยู่หรือเปล่า? ไม่มีเลย โอบามาไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ให้ได้ยินกันเลย

กระนั้น ความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัสเซียย่อมต้องถือว่าร้ายกาจมากในเชิงทัศนศาสตร์ โดยเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าเครมลินมีความปรารถนาที่จะใช้หนทางการเมืองมาแก้ปัญหาในซีเรีย แต่เวลาเดียวกันนั้นก็ยังคงรักษาทางเลือกอื่นๆ ทั้งหมดให้เปิดกว้างเอาไว้ เผื่อเกิดกรณีที่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งตัดสินใจเลือกที่จะทรยศต่อความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และพยายามที่จะปรับเปลี่ยนดุลทางทหารให้เป็นไปในทางไม่เป็นผลดีต่อระบอบปกครองอัสซาด

คำถามข้อสำคัญยังคงมีอยู่ว่า ถ้าหากสถานการณ์ทางภาคพื้นดินเลวร้ายลงเรื่อยๆ เกิดความรุนแรงต่อเนื่องไม่หยุดไม่หย่อน และกระแสผู้ลี้ภัยก็เริ่มต้นไหล่บ่าขึ้นมาอีกครั้ง แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป? หากพยายามพิจารณากันอย่างชาญฉลาดแล้ว ฝ่ายตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป) จำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซียเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการเลื่อนไหลไปในทางโศกนาฏกรรมใดๆ เช่นนี้ขึ้นมา

นอกจากนั้นในความเป็นจริงแล้ว ยังคงมีพล็อตเรื่องย่อยที่ไว้วางใจไม่ได้อีกหลายซับหลายซ้อนทีเดียว ซึ่งยังคุกรุ่นอ้อยอิ่งอยู่โดยไม่ได้จบสิ้นลงไป เป็นต้นว่า อัสซาดคงจะต้องพึ่งพาอาศัยกองกำลังของพวกฮีซบอลเลาะห์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทางกลับกัน เตหะรานย่อมไม่สามารถวาดหวังที่จะก้าวเดินออกไปจากสงครามคราวนี้ได้ในเร็ววัน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ตอนนี้ตุรกีกับซาอุดีอาระเบียจะรู้สึกเกิดความกล้ามีกำลังใจเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ จนกระทั่งยกระดับการแทรกแซงในซีเรียของพวกเขาเพื่อชิงคืนพื้นที่ซึ่งได้สูญเสียไป หรือจนกระทั่งอาจเริ่มต้นการเข้าแทรกแซงในซีเรียโดยตรงเสียเลยหรือไม่?

ทว่าประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดย่อมหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่า สหรัฐฯมีความปรารถนามากน้อยแค่ไหนที่จะทำงานกับรัสเซียเพื่อประกาศหนทางที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาในซีเรีย ตอนนี้เปรียบเทียบได้ว่า ปูติน ได้โยนถุงมือใส่หน้าโอบามาเพื่อประกาศการท้าดวลแล้ว เป็นการท้าทายให้มาร่วมมือกันลงแรงกันอย่างจริงจังในการคลี่คลายปัญหา เท่าที่ผ่านมา โอบามาหาความพออกพอใจให้ตนเองด้วยการวางตัวเป็น “พวกคอยกินแรงคนอื่น” (free rider) มาถึงตอนนี้มีความจำเป็นขึ้นมาเสียแล้วที่โอบามาจะต้องเข้าแบกรับความรับผิดชอบ ในการรั้งบังเหียนพวกพันธมิตรที่พยศดื้อรั้นทั้งหลาย --หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องแสดงออกให้เห็นว่าพร้อมแบ่งเอาความรับผิดชอบมาแบกรับกันบ้าง

เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือสิ่งที่ ลาฟรอฟ ได้ออกมาเปิดโปงไว้เพียงวันเดียวก่อนหน้าที่ปูตินประกาศถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า มอสโกมีหลักฐานว่าตุรกีกำลัง “ค่อยๆ รุกคืบคลาน” เข้าไปในพื้นที่ภาคเหนือของซีเรีย โดยลาฟรอฟกล่าวว่า “ตามข้อมูลข่าวสารที่เรามีอยู่ พวกเขากำลังขุดเลยออกมาจากแนวพรมแดนล้ำเข้าไปภายในซีเรียเป็นระยะทางสองสามร้อยเมตร”

กองกำลังพวกไหนกันที่เข้าประจำอยู่ในพื้นที่รอบๆ พรมแดนตุรกีประชิดติดกับซีเรียนี้? ลาฟรอฟไม่ทราบเชียวหรือว่าวอชิงตันกับนาโต้ย่อมทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน แล้ววอชิงตันก็เช่นกัน ไม่ทราบเชียวหรือว่ามอสโกทราบว่าวอชิงตันก็ทราบ? เรากำลังพยายามหลอกใครกันแน่ในสงครามตัวแทนนี้? ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การตัดสินใจของรัสเซียที่จะถอนกองทหารออกมาจากซีเรียนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะมีความตั้งใจที่จะโน้มน้าวชักชวนให้วอชิงตันทบทวนแก้ไขการพูดจาเล่นเล่ห์หลอกลวงของตน

ผลสรุปสุดท้ายอยู่ตรงที่ว่า ห่างออกไปจากซีเรียราว 1,000 ไมล์ สหรัฐฯกำลังเผชิญหน้ากับรัสเซีย (และปูติน) อยู่ในยูเรเชีย และสหรัฐฯกำลังเร่งทวียุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซียของตนอยู่อย่างแข็งขัน ความพยายามที่จะทำเรื่องระดับเข็นครกขึ้นภูเขาเช่นนี้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้สำเร็จได้ง่ายๆ เลย แม้กระทั่งสำหรับคนที่มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลมแบบโอบามาก็ตามที ดังที่ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำนาโต้ เขียนเอาไว้ในสัปดาห์นี้ ดังนี้:

“ดูเหมือนว่ามือซ้ายของสหรัฐฯ (รัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น เคร์รี ในตะวันออกกลาง) กับมือขวาของสหรัฐฯ (เพนตากอนในยุโรป) ไม่สามารถที่จะทำความตกลงกันเพื่อกำหนดนโยบายที่สม่ำเสมอเป็นหนึ่งเดียวต่อรัสเซียขึ้นมาได้ ... ช่างเป็นการประชดประชันเยาะหยันระดับสุดขีดเรื่องหนึ่งทีเดียว ในการที่สหรัฐฯเวลานี้กำลังไม่ทำอะไรเลยในทางเป็นจริง เพื่อเข้าช่วยเหลือสหภาพยุโรปให้รับมือกับวิกฤตการณ์ ซึ่งแท้ที่จริงวิกฤตการณ์ดังกล่าวนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงของความผิดพลาดร้ายแรงทางนโยบายการต่างประเทศครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ อันได้แก่การเข้ารุกรานอิรักในปี 2003 ... ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที ยุโรปยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยอเมริกา และสหรัฐฯก็ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยยุโรป นี่หมายรวมถึงการที่ทั้งสองฟากฝั่งของแอตแลนติกจะต้องมีความเข้าอกเข้าใจว่า ตะวันออกกลาง, ยุโรป, และรัสเซีย นั้นไม่ได้ดำรงคงอยู่ในดาวเคราะห์ที่แยกขาดออกจากกัน 3 ดวง จำเป็นที่จะต้องรับมือกับภูมิภาคเหล่านี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่กำลังกระทำกันอยู่ในเวลานี้เลย”

ปูตินได้ทำการตัดสินใจของเขาด้วยความตระหนักอย่างเต็มที่ว่าการหวนกลับไปสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้งนั้นเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้ เขาเพิ่งเปิดโปงให้เห็นว่าวอชิงตันกำลังยืนเฉยอย่างไม่สนใจใยดีต่อหน้าวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย ทั้งๆ ที่อวดอ้างว่าในการกำหนดวาระของตนนั้น ยุโรปมีความสำคัญอยู่ในลำดับสูงลิ่ว

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

หมายเหตุผู้แปล

นอกจากข้อเขียนของ เอ็ม เค ภัทรกุมารแล้ว ในวันอังคาร (15 มี.ค.) เอเชียไทมส์ยังได้รายงานข่าวว่าด้วยความเห็นของฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศถอนทหารรัสเซียบางส่วนออกจากซีเรีย โดยรวบรวมขึ้นมาจากสำนักข่าวต่างๆ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในทีนี้ด้วย ดังนี้:

ถึงแม้ถอนทหารออกไปแต่ ‘รัสเซีย’ จะยังคงถล่มทิ้งระเบิดใน ‘ซีเรีย’ ต่อ
โดย กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Despite military pull-out, Russia will continue bombing in Syria
By AT Editor
15/03/2016

กองทัพอากาศรัสเซียจะยังคงทำการโจมตีเป้าหมายต่างๆ ของพวกผู้ก่อการร้ายที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในซีเรียต่อไป กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงในวันอังคาร (15 มี.ค.) หนึ่งวันหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศการถอนกำลังทหารบางส่วนออกไปจากสาธารณรัฐที่อยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดเนื่องจากศึกสงครามแห่งนี้ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของมอสโกไทมส์ (Moscow Times)

รัฐมนตรีช่วยกลาโหม นิโคไล ปันคอฟ (Nikolai Pankov) แถลงว่า ถึงแม้กองกำลังทางอากาศของรัสเซียสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่หนักแน่นจริงจังในซีเรีย “แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่ามีชัยชนะเหนือการก่อการร้ายแล้ว ... กองกำลังทางอากาศยังคงได้รับมอบภารกิจให้ดำเนินการโจมตีต่อเป้าหมายต่างๆ ของผู้ก่อการร้ายต่อไป”

หลังจากปูตินออกคำสั่งให้ถอนกำลัง เครื่องบินไอพ่นทิ้งระเบิด แบบ ซู-34 ของรัสเซียกลุ่มแรก ก็ทะยานขึ้นจากซีเรีย มาลงจอดที่โวโรเนจ (Voronezh) ในวันอังคาร (15 มี.ค.)

บรรดานักบินต่างได้รับการต้อนรับกลับบ้าน จากครอบครัวและเพื่อนมิตรของพวกเขา ด้วยธงชาติ, ลูกโป่ง, และดอกไม้

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศว่า เครื่องบินรัสเซียกลุ่มแรกได้บินขึ้นจากฐานทัพในซีเรียแล้ว ทั้งนี้ในกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องบินขนส่งแบบ ตู-154 จำนวน 1 ลำ และไอพ่น ซู-34 อีกหลายลำ

วิกตอร์ บอนดาเรฟ (Viktor Bondarev) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศและอวกาศรัสเซีย บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในโวโรเนจ ว่า การถอนกำลังส่วนหลักของกลุ่มกำลังทางอากาศและอวกาศรัสเซียออกมาจากซีเรียนั้น จะสามารถดำเนินไปตามตารางเวลาที่กำหนดไว้

บอนดาเรฟ ยังกล่าวถึงการปฏิบัติการของรัสเซียในซีเรียซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2015 ว่า ต้องถือเป็น “เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง”

“เราได้แสดงให้ทั่วทั้งโลกเห็นว่าการฝึกอบรมนักบินรัสเซียนั้นอยู่ในระดับสูงที่สุด ไม่มีการโจมตีทิ้งระเบิดแม้แต่ครั้งเดียวที่ผิดเป้าหมาย” บอนดาเรฟกล่าวในพิธีซึ่งจัดขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อเป็นเกียรติแก่กลุ่มเครื่องบินกลุ่มแรกที่เดินทางจากซีเรียกลับมาถึงบ้าน

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้แถลงแสดงความยินดีต้อนรับการตัดสินใจอันแสนเซอร์ไพรซ์ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในการถอนกำลังทหารส่วนหลักของแดนหมีขาวออกมาจากซีเรีย

ตามคำแถลงของทำเนียบขาว โอบามาได้พูดกับปูตินทางโทรศัพท์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการหยุดยิงระหว่างระบอบปกครองซีเรียกับพันธมิตรของระบอบปกครองนี้ และทางฝ่ายค้านติดอาวุธของซีเรีย

การตัดสินใจถอนทหารออกมาของปูติน แน่นอนทีเดียวว่าจะถูกมองเป็นสัญญาณที่ดีจากฝ่ายต่างๆ ในการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ทั้งหมด รวมทั้งเป็นการสร้างเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการเริ่มต้นกระบวนการสร้างสันติภาพที่แท้จริงขึ้นมา คำแถลงของทำเนียบขาวกล่าวในอีกตอนหนึ่ง

ทางด้านผู้แทนสหประชาชาติเพื่อแก้ไขปัญหาซีเรีย ก็กล่าวยกย่องชมเชยการที่รัสเซียถอนทหารบางส่วนออกจากประเทศที่ยับเยินด้วยสงครามแห่งนี้ โดยเรียกความเคลื่อนไหวคราวนี้ว่าเป็น “พัฒนาการอันสำคัญ” พร้อมกับแสดงความหวังว่าเรื่องนี้ควรจะมีอิทธิพลในทางบวกต่อการเจรจาสันติภาพ

“การประกาศของประธานาธิบดีปูติน ในวันเดียวกันกับวันเริ่มต้นการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ ของซีเรียที่นครเจนีวารอบนี้ คือพัฒนาการอันสำคัญ ซึ่งเราหวังว่าจะมีผลกระทบในทางบวก ต่อความคืบหน้าของการเจรจากันในเจนีวาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรลุหนทางแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเมืองสำหรับการสู้รบขัดแย้งในซีเรีย และต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติในประเทศนี้” ผู้แทนยูเอ็น สตาฟฟาน เดอ มิสตูรา (Staffan de Mistura) แถลง

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน แฟรงก์-วอลเทอร์ สไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) บอกว่า การถอนทหารของรัสเซียจะเพิ่มแรงกดดันต่อระบอบปกครองอัสซาดให้ต้องเจรจาขั้นสุดท้ายเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติในเจนีวา

ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน โมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ (Mohammad Javad Zarif) มองว่า การตัดสินถอนกำลังทหารเช่นนี้บ่งบอกว่า รัสเซียไม่เห็นว่ามีความจำเป็นเฉพาะหน้าที่จะต้องหันไปใช้กำลังเพื่อธำรงรักษาข้อตกลงหยุดยิงในซีเรีย

สำหรับนิวยอร์กไทมส์กล่าวว่า การตัดสินใจสุดเซอร์ไพรซ์ของเครมลินคราวนี้ มีเงื่อนไขจากความแตกร้าวระหว่างมอสโกกับดามัสกัส

“มีสัญญาณปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัสเซียกับรัฐบาลซีเรีย ในเรื่องการเจรจาเจนีวา โดยที่มอสโกถูกบีบคั้นหนักให้ทำตามวอชิงตัน” สื่อทรงอิทธิพลของสหรัฐฯฉบับนี้ระบุ

ทว่าดามัสกัสปฏิเสธแข็งขันถึงความเห็นที่ว่ามีความแตกร้าวกับมอสโก โดยระบุว่าประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซัด ได้ตกลงเห็นพ้องเรื่อง “การลด” กำลังทหารรัสเซีย ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับปูติน

ในส่วนฝ่ายค้านซีเรียที่ต่อต้านอัสซาด ได้แสดงความรู้สึกสับสนงุนงง โดยที่โฆษกผู้หนี่งของฝ่ายนี้กล่าวว่า “ไม่มีใครรู้หรอกว่าในสมองของปูตินนั้นคิดอะไรอยู่”

(รวบรวมจากรายงานของสำนักข่าวต่างๆ)


กำลังโหลดความคิดเห็น