เอเอฟพี - โคลอมเบียเผยในวันศุกร์(5ก.พ.) พบผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของไวรัสซิกาที่กำลังระบาดอยู่ในละตินอเมริกาเวลานี้ 3 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้เพิ่มเข้าถึงการทำแท้ง เนื่องจากความกังวลว่าโรคร้ายนี้เกี่ยวข้องกับภาวะพิการแต่กำเนิดที่ร้ายแรงของเด็กแรกคลอด
ในถ้อยแถลงที่กล่าวโทษโดยตรงครั้งแรกว่าซิกาเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของคนไข้ สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติโคลอมเบีย(ไอเอ็นเอส) บอกว่าผู้ป่วยทั้ง 3 เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสที่อาการลุกลามเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบไม่บ่อยนัก ซึ่งเรียกว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร
ด้วยที่เริ่มพบกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ซึ่งคือระบบภูมิต้านทานร่างกายเกิดการทำลายระบบประสาท ทำให้ร่างกายอ่อนแอหรือถึงขั้นเป็มอัมพาต เกิดขึ้นตามหลังการระบาดของซิกามากขึ้นเรื่อยๆ จึงกระพือข้อสงสัยว่ามันคือภาวะแทรกซ้อนของไข้เขตร้อนอ่อนๆชนิดอื่น ซึ่งเป็นต้นตอที่ก่อความเสียหายทางสมองในทารกที่เกิดกับมารดาที่ติดเชื้อเช่นกัน
"กรณีเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไวรัสซิการายอื่นๆกำลังปรากฎขึ้นมา" มาธา ลูเซีย ออสปินา นักวิทยาการระบาด ผู้อำนวยการไอเอ็นเอสเผย "โลกกำลังได้ตระหนักว่า ซิกาสามารถเข่นฆ่าชีวิตได้ แม้อัตราการตายไม่สูงนัก แต่ก็สามารถคร่าชีวิตได้"
การรักษาโรคกิลแลง-บาร์เร ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้าอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยยังเดินไปมาได้ ก็เพียงแค่รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด อาการก็จะหายได้เอง ภายในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาการก็อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้พิการหรือแม้แต่เสียชีวิต
สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อ้างถึงการพบทารกแรกคลอดมีความผิดปกติจากภาวะศีรษะและสมองเล็ก เรียกร้องประเทศต่างๆที่ซิกากำลังแพร่ระบาด เปิดทางให้ผู้หญิงตั้งครรภ์เข้าถึงการคุมกำเนิดและทำแท้ง
อย่างไรก็ตามสิทธิการสืบพันธุ์เป็นประเด็นอ่อนไหวในทวีปอเมริกาที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก โดยประเทศส่วนใหญ่กำหนดให้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฏหมายหรือจะอนุญาตก็ต่อเมื่อชีวิตผู้เป็นแม่ตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอลซัลวาดอร์ ที่การทำแท้งมีสิทธิ์ติดคุกสูงสุดถึง 40 ปี
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบราซิลและสหรัฐฯ เตือนว่าการมีเพศสัมพันธ์หรือแม้กระทั่งจูบ อาจนำมาซึ่งการส่งผ่านไวรัสที่มียุงเป็นพาหะชนิดนี้
สถาบันสาธารณสุขชั้นนำของบราซิลในวันศุกร์(5ก.พ.) เผยว่าพบเชื้อซิกาในน้ำลายและปัสสาวะของ 2 คนไข้ผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ทั้งนี้แม้บอกว่ายังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสรุปว่าสารคัดหลั่งของร่างกายดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งช่องทางการส่งผ่านเชื้อหรือไม่ แต่พวกนักวิทยาศาสตร์แนะนำว่าประชาชนควรใช้มาตรการป้องกันไว้ก่อน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์
ส่วนศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ(ซีดีซี ) เรียกร้องประชาชนใช้ถุงยางอนามัยหรือละเว้นการมีเพศสัมพันธ์หากเคยอาศัยหรือเคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีเชื้อซิกา หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอเมริกายืนยันพบการส่งผ่านเชื้อซิกาผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นกรณีแรก ในบุคคลหนึ่งซึ่งเคยเดินทางไปยังเวเนซุเอลาและมีเพศสัมพันธ์กับคนรักในมลรัฐเทกซัสตอนกลับมาแล้ว
องค์การอนามัยโลก ซึ่งประกาศให้ซิกาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เตือนว่าอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้สูงสุดถึง 4 ล้านคนในทวีปอเมริกาและมันจะแผ่ลามไปทั่งโลก พร้อมทั้งแนะนำประเทศต่างๆให้งดรับบริจาคเลือดจากบุคคลที่เพิ่งเดินทางกลับจากดินแดนที่ได้รับผลกระทบ
คำเตือนใหม่นี้ย้ำให้เห็นว่า ซิกา เป็นที่รู้จักแค่เล็กน้อย ขณะที่ไวรัสชนิดนี้ถูกพบเป็นครั้งแรกในแอฟริกาเมื่อปี 1947 แต่ถูกมองว่าเป็นเพียงโรคติดต่อระดับเบา จนกระทั่งปัจจุบันที่ปรากฎว่ามีภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่ก่ออันตรายถึงขั้นพิการหรือแม้แต่เสียชีวิต
บราซิลเป็นชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดหนักหน่วงที่สุด ด้วยคาดหมายว่ามีผู้ติดเชื้อราว 1.5 ล้านคน โดยมีโคลอมเบีย ตามมาเป็นอันดับ 2 มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 20,000 คน อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อตรวจสอบได้ยากเพราะผู้ติดเชื้อราว 80% ไม่แสดงอาการป่วย
กระนั้นก็ดีมีสัญญาณแห่งความน่ากังวลดังขึ้นในบราซิล หลังพบทารกแรกคลอดมีความผิดปกติจากภาวะศีรษะและสมองเล็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา พบถึง 404 รายและพบกรณีต้องสงสัยอีก 3,670 คน เพิ่มขึ้นจากตลอดทั้งปี 2014 แล้ว 147 คน