xs
xsm
sm
md
lg

คาดหมายสายสัมพันธ์ ‘ปักกิ่ง-ไทเป’หลังการเลือกตั้งในไต้หวันที่ฝ่ายค้านเป็นผู้ชนะ

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Book hints China will tread carefully after Taiwan presidential election
BY Francesco Sisci
15/01/2016

หนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายในไต้หวัน เขียนโดย เบนจามิน ลิม ผู้สื่อข่าวคร่ำหวอดของสำนักข่าวรอยเตอร์ ให้ความรู้ความเข้าใจอันลึกซึ้งบางอย่างบางประการเกี่ยวกับประเทศจีนและ สี จิ้นผิง และน่าจะมีอิทธิพลอย่างสำคัญทีเดียวต่อการกำหนดนโยบายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทเปกับปักกิ่ง ของประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน โดยที่มีความเป็นไปได้สูงลิ่วทีเดียวว่า ผู้ที่จะชนะในการเลือกตั้งผู้นำไต้หวันวันเสาร์ที่ 16 มกราคมคราวนี้ คือ ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้าน

ความเป็นไปได้อย่างสูงลิ่วที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันเสาร์ที่ 16 มกราคมนี้ ก็คือ ไต้หวัน (เกาะที่ปักกิ่งประกาศอย่างเป็นทางการว่ายังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนอย่างไม่อาจแบ่งแยกได้ ทว่าในทางพฤตินัยแล้ว ที่นั่นมีการจัดตั้งรัฐบาลที่บริหารปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ) จะอยู่ใต้การปกครองของ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ผู้สมัครชิงตำแหน่งของพรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (Democratic Progressive Party ใช้อักษรย่อว่า DPP)

DPP เป็นองค์การซึ่งก่อตั้งขึ้นมาหลายสิบปีแล้วด้วยจุดมุ่งหมายที่จะผลักดันให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศเอกราชอย่างเป็นทางการ ขณะที่ตลอดช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ปักกิ่งก็ประกาศอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า หากมีความเคลื่อนไหวใดๆ ไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว ก็จะมีความหมายเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับจีน

กระทั่งไม่มีการแตกแยกร้าวฉานดังกล่าวขึ้นมา (ซึ่งในปัจจุบันดูเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลมาก ในเมื่อทั้งสองฝ่ายใน 2 ฟากของช่องแคบไต้หวันต่างมีอารมณ์ความรู้สึกในทางชมชอบความสัมพันธ์อย่างเป็นอยู่เวลานี้) ทางฝ่ายปักกิ่งก็ยังเฝ้าจับตาด้วยความระมัดระวังเคร่งเครียดอยู่ดีว่า จะมีการก้าวเท้าดุ่มเดินใดๆ ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนสั่นคลอนต่อความสมดุลทางการเมืองอันละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งของภูมิภาคนี้หรือไม่ ทั้งนี้ในเวลาที่เศรษฐกิจจีนกำลังประสบภาวะซวนเซอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา, ขณะที่ในฮ่องกง ขบวนการนักศึกษาต่อต้านคอมมิวนิสต์ยังคงมีการก่อตัวคุกรุ่น, ความขัดแย้งต่างๆ ในทะเลจีนใต้/ทะเลจีนตะวันออก โดยเฉพาะระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ยังคงร้อนระอุเช่นนี้ หากเกิดพัฒนาการ “ที่ผิดพลาด” ใดๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในไทเปเกี่ยวกับเรื่องการรับมือกับปักกิ่ง หรือเกิดขึ้นในปักกิ่งเกี่ยวกับเรื่องการรับมือกับไทเปก็ตามที มันก็อาจกลายเป็นการจุดชนวนก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้กันไปมาเป็นลูกโซ่ซึ่งมีอันตรายยิ่ง

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนขึ้นมาอย่างรอบรู้และครอบคลุม และเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในไต้หวันเมื่อเร็วๆ นี้ ในชื่อภาษาจีนว่า Bamai zhongguo (จับชีพจรประเทศจีน) ได้นำเสนอความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องราวสำคัญๆ บางเรื่อง เกี่ยวกับปริศนาอันอ่อนไหวและแก้ไขลำบากซึ่งกำลังเผชิญหน้าจีนกับไต้หวันอยู่ในเวลานี้ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย เบนจามิน ลิม (Benjamin Lim) ผู้สื่อข่าวประจำปักกิ่งของสำนักข่าวรอยเตอร์ มีเนื้อหาครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งไต้หวันกำลังบังเกิดความวิตกกังวลอย่างล้ำลึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สี จิ้นผิง, ไต้หวัน, ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ, หรือ อนาคตของประเทศจีน

ลิม ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เกิดในกรุงมะนิลา ในครอบครัวที่ทั้งบิดาและมารดาเป็นคนจีน เขาศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ในฟิลิปปินส์และเรียนภาษาจีนในไต้หวัน เขาประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนานมากกว่า 30 ปีแล้ว

ตามการแจกแจงอธิบายของลิม การเลือกตั้งในไต้หวันคราวนี้ ไม่ได้เป็นแค่เพียงการแข่งขันชิงชัยกันธรรมดาๆ ระหว่าง พวกนักชาตินิยมรุ่นเก่าพ้นสมัยของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง (KMT) กับพรรค DPP ที่มีภาพลักษณ์ความทะเยอทะยานใหม่ๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียด้วยอีกรายหนึ่งแถมยังเป็นยักษ์ใหญ่โตตัวมหึมา ก็คือ จีน ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถสร้างผลกระทบอย่างมากมายมหาศาลทั้งต่ออนาคตของเกาะแห่งนี้ และต่ออนาคตของพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก

เรายังไม่ทราบว่าสาธารณชนชาวไต้หวันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรต่อผลงานของ ลิม เล่มนี้ แต่ผู้เขียนผู้นี้ต้องถือว่ามีที่ทางพิเศษอยู่ในดวงใจของชาวเกาะแห่งนี้ เขาแตกต่างจากผู้เฝ้าจับตามองจีนคนอื่นๆ ที่เป็นคนฮ่องกงหรือไม่ก็เป็นคนไต้หวัน เพราะ ลิม เป็นผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในจีนมาเป็นเวลายาวนาน โดย ณ ที่นั้น เขาทำงานให้กับรอยเตอร์มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี และเขาก็แสดงความสามารถหาข่าวสกู๊ปได้มากยิ่งกว่านักหนังสือพิมพ์คนไหนๆ ในที่นั้น ลิมยังแตกต่างจากพวกผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆ ที่เป็นชาวตะวันตก เพราะเขาเป็นคนเชื้อจีน นี่เท่ากับเอื้อเฟื้อให้ความสะดวกง่ายดายแก่เขาในการปะปนผสมผเสไปกับคนท้องถิ่น และสามารถเข้าใจคนจีนได้แบบมองจากด้านในทะลุออกมาด้านนอก

ด้วยเหตุนี้ เสียงของเขาจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเพิกเฉยละเลยได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ มาดามไช่ ผู้สมัครของพรรค DPP ซึ่งมีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งอย่างแรงๆ น่าจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน และนโยบายของเกาะแห่งนี้ในยุคการครองอำนาจของเธอ จะต้องมีผลกระทบอย่างแน่นอนต่ออนาคตของปักกิ่ง และต่ออนาคตของภูมิภาคนี้

ประเทศจีนนั้น ก็อย่างที่ ลิม อธิบายไว้ในหนังสือของเขา กำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านอันละเอียดอ่อนทั้งในทางภายในประเทศและในทางระหว่างประเทศ ทั้งนี้เขาตอกย้ำให้เห็นว่ามีปัญหาต่างๆ อยู่มากมายเรียงรายเป็นชุดใหญ่ซึ่งเป็นเสมือนโรคระบาดร้ายแรงที่กำลังเกาะกุมจีนอยู่ ทว่าเขาก็ปฏิเสธไม่ยอมรับทฤษฎีที่ว่าประเทศนี้กำลังจะล้มครืนพังทลายลงมาแล้ว

“เมื่อตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงมานั้น สมาชิกพรรค (คอมมิวนิสต์จีน) จำนวนมากในประเทศจีนพากันซบศีรษะกับฝ่ามือทั้งสองข้างของพวกเขาและเริ่มต้นร้องไห้ ด้วยความหวาดกลัวว่าพวกเขาจะต้องเป็นรายต่อไป ทว่าเวลาก็ผ่านพ้นไปอีก 20 ปีโดยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับแข็งแกร่งขึ้นมิได้อ่อนแอลงเลย” ลิม เขียนเอาไว้เช่นนี้ พร้อมกับชี้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แสดงให้เห็นว่ามีพลังความทรหดเข้มแข็งตลอดจนความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว สำรองเอาไว้ในตัวเยอะมาก ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จึงระบุว่า การตั้งความหวังหรือการลงมือทำงานด้วยความมุ่งหมายที่จะทำให้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในจีนล้มครืนลงมานั้น คงจะต้องพบกับความผิดหวังเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่เป็นตอนจบของเรื่องหรอก ลิมยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาหนักหน่วงต่างๆ ที่จีนต้องเผชิญรวมแล้ว 9 ชุดใหญ่ เป็นต้นว่า ความแตกต่างทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีระหว่างคนมีกับคนไม่มี, การขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การที่ตำรวจกำราบปราบปรามศาสนาและสื่อมวลชน นอกจากนั้นยังมีระบบการศึกษาที่ทั้งอุ้ยอ้ายและแข็งทื่อ ซึ่งกำลังทำให้คนจีนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีความสุข แต่การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะตอบสนองต่อชุดปัญหาเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน และไปไกลเกินกว่าเพียงแค่การเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกธรรมดาๆ ซึ่ง ลิม เขียนโดยใช้คำพังเพยจีนที่ว่า “zuo ma, bu zuo ye ma” (คุณลงมือทำ ก็ถูกด่า คุณไม่ลงมือทำ ก็ยังคงถูกด่า)

ตามความเห็นของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ปัญหาที่ถือว่าเป็นแกนกลางเลย ก็คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนสามารถที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงในเวลาที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคสิ่งกีดขวางต่างๆ เหล่านี้ได้หรือไม่? ลิม มองว่า สี ไม่ใช่คนที่ชีวิตมีความสุขสบายราบรื่นชนิดคาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่กำเนิด ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางการเมืองของเขากลับเต็มไปด้วยช่วงขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งนั่นทำให้เขาทั้งแกร่ง, ยืดหยุ่น, และคล่องแคล่วว่องไว “ในเวลาที่แสดงความนุ่มนวล เขาก็มีความแข็งผสมอยู่ และในเวลาที่แสดงความแกร่ง เขาก็มีความอ่อนโยนผสมอยู่” นี่คือถ้อยคำที่ ลิม ใช้บรรยายถึง สี จิ้นผิง

ผู้เขียนผู้นี้ยังไปไกลกว่านี้อีก ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจอันลึกซึ้งบางอย่างบางประการเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของ สี ซึ่งอาจส่งอิทธิพลต่อรัฐบาลในอนาคตของไต้หวัน ในเวลาที่ทำการคาดคำนวณทางการเมืองเกี่ยวกับประเทศจีน

ลิม ชี้ว่า สี เป็นผู้ที่มีความสนใจอย่างลึกซึ้งในพุทธศาสนาและศาสนาโดยทั่วไป เขาคาดเดาว่าพุทธศาสนาอาจจะสามารถแสดงบทบาทมากขึ้นในการนำพาเอาปักกิ่งกับไทเปให้เข้ามาใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน ลิม ยังระบายแต่งแต้มภาพของสี ว่าเป็นนักปฏิรูปคนหนึ่ง ขณะที่ระบุออกมาอย่างชัดเจนด้วยว่า สี ไม่ใช่ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำพาสหภาพโซเวียตไปสู่จุดจบ หากจะเปรียบเทียบกันในทางการเมืองแล้ว เขามองว่า สี มีความละม้ายคล้ายคลึงมากกว่ากับ เจียง จิงกว๋อ (Jiang Jingguo) ประธานาธิบดีของไต้หวัน คนที่ริเริ่มการปฏิรูปทางการเมืองต่างๆ บนเกาะแห่งนี้

แต่ในการที่จะดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองต่างๆ ซึ่งจีนใกล้ที่จะถึงจุดพรักพร้อมแล้ว ลิมเขียนว่า ผู้นำของจีนจำเป็นจะต้องเล่นลูกไม้เก่าซึ่งมีคนนำมาเล่นกันนานแล้ว ได้แก่ การแสดงตัวเป็น “ฝ่ายซ้ายจัด” (ในภาษาของวงการเมืองจีนปัจจุบันนั้น คำนี้หมายถึงพวกอนุรักษนิยมที่มุ่งเชิดชูแนวความคิดคอมมิวนิสต์แบบเก่าๆ) แล้วจากนั้นจึงย้ายมาเป็น “ฝ่ายขวา” (พวกที่นิยมชมชอบการปฏิรูปแบบเสรีนิยม) และนี่เองคือสิ่งที่ สี กำลังทำอยู่

การประเมินยุทธศาสตร์ทางการเมืองของสี ในลักษณะเช่นที่กล่าวมานี้ น่าจะมีอิทธิพลสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจเลือกของผู้นำไต้หวันในอนาคตในเวลาที่พวกเขากำหนดนโยบายเกี่ยวกับจีน บทบาทซึ่งหนังสือเล่มนี้ของลิม มีต่อการเมืองภายในไต้หวันในช่วงเวลาหลายๆ สัปดาห์และหลายๆ เดือนจากนี้ไป ยังอาจจะส่งผลอย่างสำคัญต่อการกำหนดขนาดขอบเขตและรูปแบบเนื้อหาของการพูดจาสนทนากันอย่างละเอียดอ่อนไหว ในระหว่างปักกิ่งกับไทเป ซึ่งอย่างไรเสียคงจะต้องเกิดขึ้นมา

สำหรับปักกิ่งแล้ว ผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายที่ต้องการจะเห็นในระยะเวลาสองสามเดือนต่อจากนี้ไปก็คือ ความสัมพันธ์ที่ตนเองมีอยู่กับไต้หวัน (โดยที่ไต้หวันจะต้องกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความสนใจทางการเมืองของปักกิ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น) ควรจะต้องเดินหน้าไปอย่างราบรื่น โดยไม่มีเหตุร้ายใดๆ

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เป็นเจ้าของคอลัมน์ “ซิโนกราฟ” (Sinograph) ของเอเชียไทมส์ และเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) ตลอดจนเขียนเรื่องให้แก่สิ่งพิมพ์อิตาลีและสิ่งพิมพ์ระหว่างประเทศจำนวนหนึ่ง เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น