xs
xsm
sm
md
lg

UN ชูไทยปราบปรามได้ผล หลังพบมนุษย์เรือผู้อพยพลดลงฮวบฮาบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - จำนวนผู้อพยพที่ล่องเรือเดินทางออกจากพม่าและบังกลาเทศลดลงอย่างมากในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการปรามปรามพวกลักลอบค้ามนุษย์ของไทยและบังกลาเทศ จากการเปิดเผยของสหประชาชาติและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระบุในวันศุกร์ (8 ม.ค.)

ในรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ตำรวจไทยเริ่มดำเนินการปราบปรามแก๊งค้ามนุษย์อย่างเข้มข้นในเดือนพฤษภาคมปีก่อน หลังพบหลุมศพหมู่ 30 ศพกลางป่าลึกใกล้ค่ายกักกันของขบวนการค้ามนุษย์ติดกับแนวชายแดนมาเลเซีย

รอยเตอร์ระบุว่า ปฏิบัติการของตำรวจทำให้พวกค้ามนุษย์ต้องทิ้งผู้อพยพกว่า 4,000 คนจากพม่าและบังกลาเทศไว้กลางทะเล กระพือความวุ่นวายโยนความรับผิดชอบกันไปมา ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย ต่างผลักดันเรือผู้อพยพเหล่านั้นพ้นจากชายฝั่ง

ชาวมุสลิมโรฮีนจาหลายหมื่นคนหลบหนีความยากจนและการถูกตามประหัตประหารในเมืองทางตะวันตกของพม่า นับตั้งแต่ความรุนแรงระหว่างศาสนาปะทุขึ้นในปี 2012 โดยส่วนใหญ่มุ่งหน้าสู่มาเลเซีย แต่จำนวนมากตัดสินใจขึ้นฝั่งทางใต้ของไทย ทว่าบางส่วนถูกสกัดกั้นและบางส่วนโดนพวกนายหน้ากักขังไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ในค่ายกลางป่า

เวลานี้ในภูมิภาคอยู่ในฤดูกาลแห่งการล่องเรือ ที่คลื่นลมทะเลสงบกว่าเดิมหลังผ่านพ้นฤดูมรสุม อันเป็นช่วงที่เอื้ออำนวยแก่เรือพวกลักลอบค้ามนุษย์จะเดินทางมาจากอ่าวเบงกอล

อย่างไรก็ตาม คริส ลีวา จากโครงการอาระกัน (Arakan Project) กลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮินจา บอกว่าในปีนี้มีจำนวนมนุษย์เรือลดลงอย่างมาก สืบเนื่องจากมาตรการจัดการกับพวกลักลอบค้ามนุษย์ในไทยและบังกลาเทศ

ลีวาเผยว่า ระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีที่แล้ว มีผู้อพยพล่องเรือมาจากบังกลาเทศและพม่าแค่ราว 1,500 คน ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2014 ตัวเลขมนุษย์เรือสูงถึง 32,000 คน “ไทยปิดตายและไม่สามารถถูกใช้เป็นจุดขึ้นฝั่งได้แล้ว” ลีวาบอกกับรอยเตอร์ “และปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ก็กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นในบังกลาเทศเช่นกัน”

วิเวียน ตัน โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ระบุจากข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่ามีผู้อพยพขึ้นเรือในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วลดลง “จากที่เราได้สอบถามชุมชนต่างๆที่ได้รับผลกระทบ มีความเป็นไปได้ว่าพวกลักลอบค้ามนุษย์และผู้อพอพอาจเลือกใช้วิธีรอดู ตามหลังการตรวจสอบอย่างละเอียดและการปราบปรามเมื่อปีที่แล้ว”

ไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ครั้งใหญ่ เกี่ยวข้องกับจำเลย 91 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ที่ลักลอบค้าชาวมุสลิมโรฮีนจาและบังกลาเทศ ขณะที่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องเจ้าหน้าที่ยกระดับคุ้มกันพยาน เนื่องจากมีนายพลของกองทัพและตำรวจเกี่ยวข้องในคดีนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น