รอยเตอร์ - องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เตือนในวันพฤหัสบดี (3 ธ.ค.) ว่าอาเซียนจำเป็นต้องมีช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานถูกกฎหมายเพื่อควบคุมการค้ามนุษย์ ไม่กี่วันหลังจากเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมซ้ำรอยช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่ผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนต้องมาจบชีวิตลงกลางทะเลหรือในค่ายกักกันกลางป่าเขาลึก
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ จัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจหนึ่งขึ้นมาเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อการค้าขายและเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น แต่เตรียมการอย่างจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแรงงาน แม้ว่าภูมิภาคแห่งนี้มีแรงงานย้ายถิ่นฐานหลายล้านคน
“จำเป็นต้องมีช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ถูกกฎหมายมากกว่านี้ เพื่อที่เราจะไม่ได้ไปลงเอยที่การสนับสนุนพวกลักลอบค้ามนุษย์โดยไม่ได้ตั้งใจ” ลาซีย์ สวิง ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานบอกกับผู้สื่อข่าว “หากการยื่นขอวีซ่าปลายทางเป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนที่ต้องการงานทำ เมื่อนั้นพวกเขาก็จะหันไปหาพวกลักลอบค้ามนุษย์และต้องเสียเงินจำนวนมาก”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้โยกย้ายถิ่นฐานจากบังกลาเทศและพม่าหลายหมื่นคนหลบหนีการตามประหัตประหารและความขัดสน เสี่ยงชีวิตอยู่ในมือของพวกลักลอบค้ามนุษย์เพื่อจะได้ไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไกลกว่านั้น เพื่อโอกาสที่ดีกว่า
ความเห็นของลาซีย์มีขึ้นก่อนหน้าการประชุมในกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เพื่อจัดการกับวิกฤตผู้อพยพ หลังเคยจัดหารือมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ช่วงที่วิกฤตมนุษยธรรมถูกตีแผ่ออกมา เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในยุโรปที่กำลังตะเกียกตะกายรับมือกับผู้ลี้ภัยที่หลบหนีสงครามซีเรียและอิรัก
การกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ของตำรวจไทย ตามหลังการพบหลุมศพหมู่กว่า 30 ศพใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซียในเดือนพฤษภาคม กระพือวิกฤตระดับภูมิภาค เนื่องจากการปราบปรามดังกล่าวก่อความยุ่งเหยิงแก่เส้นทางการลักลอบค้ามนุษย์ ทำให้ผู้อพยพหลายพันคนถูกทิ้งไว้กลางทะเล ก่อนต่อมาจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่าและบังกลาเทศ รวมแล้วมากกว่า 4,000 คน
ในบรรดาผู้อพยพจำนวนมากเป็นชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาของพม่าที่หลบหนีการถูกรังควานในรัฐยะไข่ ขณะที่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชัยชนะในเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านทีนำโดยนางอองซานซูจี เมื่อเดือนพฤศจิกายนจะทำให้สถานการณ์ของชาวโรฮีนจาดีขึ้นหรือไม่