เอเจนซีส์ - ซาอุดีฯประกาศยุติเที่ยวบินพาณิชย์และการเดินทางติดต่อทางอากาศทั้งหมดกับอิหร่าน รวมทั้งห้ามพลเมืองเดินทางไปประเทศคู่อริแห่งนั้นด้วย ขณะที่เมื่อวันอังคาร (5 ม.ค.) คูเวตเป็นอีกรายหนึ่งซึ่งเข้าร่วมวงชาติอาหรับสุหนี่ริมอ่าวเปอร์เซียรายอื่นๆ ในการประท้วงเหตุโจมตีสถานทูตซาอุดีฯในกรุงเตหะราน ชัยชนะทางการทูตของซาอุดีฯยังเห็นชัดจากการที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นออกคำแถลงประณามรุนแรงเรื่องบุกสถานทูต แต่งดพาดพิงถึงกรณีที่ซาอุดีฯ ประหารนักการศาสนาชีอะต์ที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตการทูตตะวันออกกลางในขณะนี้ ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ชี้ว่าการที่อเมริกาหมกมุ่นกับการทำหมันโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน กำลังบ่อนทำลายความสัมพันธ์และอิทธิพลของแดนอินทรีในตะวันออกกลางอย่างชัดเจน และความขัดแย้งระหว่างริยาดกับเตหะรานจะทำให้ความพยายามแก้ไขวิกฤตในซีเรียและเยเมนสะดุดติดขัด
ในวันอังคาร (5) คูเวตเรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนกลับจากอิหร่าน ทว่าไม่ได้ขับเอกอัครราชทูตอิหร่าน หรือลดระดับความสัมพันธ์กับเตหะรานแต่อย่างใด หลังจากก่อนหน้านั้น บาห์เรนทำตามซาอุดีอาระเบีย โดยประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ก็เรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับประเทศ พร้อมลดระดับความสัมพันธ์กับเตหะราน
ซาอุดีฯ บาห์เรน คูเวต และยูเออี ล้วนเป็นสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย เช่นเดียวกับโอมานและกาตาร์
กระทรวงการต่างประเทศคูเวตแถลงว่า การโจมตีสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีฯในกรุงเตหะรานและสถานกงสุลซาอุดีฯในเมืองมัชฮาด ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งละเมิดพันธสัญญาที่อิหร่านให้ไว้กับนานาชาติในการปกป้องความปลอดภัยของคณะทูตและนักการทูต
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ (3) ริยาดตัดสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมขับเอกอัครราชทูตอิหร่านออกนอกประเทศภายใน 48 ชั่วโมงเพื่อตอบโต้การโจมตีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของตน นอกจากนี้ ยังยุติเที่ยวบินพาณิชย์และการเดินทางติดต่อทางอากาศทั้งหมดกับอิหร่าน รวมทั้งห้ามพลเมืองซาอุดีฯ เดินทางไปอิหร่าน
วันถัดมา อับดุลเลาะห์ อัล-มูอัลลิมี เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหประชาชาติ ยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งหมด เพื่อรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุรุนแรงกับสำนักงานการทูต และปกป้องนักการทูตซาอุดีฯ ทั้งหมดในอิหร่าน
ขณะเดียวกัน ริยาดกล่าวปกป้องการประหารชีวิตนักโทษ 47 คน ซึ่งรวมถึง ชัยค์ นิมรา อัล-นิมรา นักการศาสนาคนสำคัญของฝ่ายชีอะห์ อันเป็นชนวนทำให้เกิดความโกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรงในหมู่ชาวชีอะห์ประเทศต่างๆ โดยระบุในจดหมายที่ส่งถึงบัน คี-มุน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นว่า คนเหล่านั้นได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ไม่มีการคำนึงถึงภูมิปัญญา เชื้อชาติ หรือศาสนาแต่อย่างใด
อัล-มูอัลลิมีสำทับว่า ความขัดแย้งระหว่างสองชาติจะคลี่คลายลงได้ หากอิหร่านหยุดแทรกแซงกิจการของประเทศอื่น รวมถึงซาอุดีฯ
ด้านเตหะรานได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในสาส์นที่ส่งถึงคณะมนตรีฯ เตหะรานประกาศจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอีก
ปรากฏว่า หลังการประชุมกันของคณะมนตรีความมั่นคงในวันจันทร์ (4) ได้ออกคำแถลงประณามเหตุการณ์โจมตีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของซาอุดีอาระเบียในอิหร่านอย่างรุนแรงที่สุด พร้อมเรียกร้องให้อิหร่านปกป้องเจ้าหน้าที่ทูตและทรัพย์สินของสถานเอกอัครราชทูต
คำแถลงของคณะมนตรี ไม่ได้พาดพิงถึงการที่ซาอุดีฯ ประหารชีวิต นิมรา แต่อย่างใด ทว่าเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหารือและดำเนินมาตรการเพื่อลดความตึงเครียดในภูมิภาค
การที่ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีฯ กับอิหร่านกำลงลุกลามบานปลายออกไป ทำให้เกิดความกังวลกันว่า ความพยายามผลักดันกระบวนการสันติภาพในซีเรียและเยเมนจะได้รับความกระทบกระเทือนถึงขั้น “ตกราง”
ซัลมาน เชคห์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัทที่ปรึกษาระดับภูมิภาค เชคห์ กรุ๊ป แสดงความเห็นว่า การที่วอชิงตันมุ่งมั่นผลักดันข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยไม่สนใจความกังวลของริยาดและพันธมิตรในตะวันออกกลางที่มองว่า เตหะรานอยู่เบื้องหลังการโจมตีของกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคและกบฏฮูตีในเยเมนนั้น ได้บ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับซาอุดีฯ และสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือการแย่งชิงอำนาจระหว่างริยาดกับเตหะราน
แม้เมื่อวันจันทร์ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หารือทางโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของอิหร่านและซาอุดีฯ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง ทว่า เชคห์กลับเห็นว่า อเมริกาอาจมีอิทธิพลน้อยมากในการจัดการสถานการณ์นี้
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ริยาดเมินคำเตือนของวอชิงตัน และเดินหน้าประหารชีวิตนักโทษหลายสิบคนรับวันปีใหม่ ซึ่งรวมถึงนิมรา
ที่แย่กว่านั้นคือ ท่ามกลางสุญญากาศนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยอิหร่านและซาอุดีฯ
อัลเบอร์โต เฟอร์นันเดซ อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันและปัจจุบันทำงานให้กับสถาบันวิจัยสื่อตะวันออกกลาง ชี้ว่า วิกฤตครั้งนี้พิสูจน์ว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์คณะบริหารประธานาธิบดีบารัค โอบามา นั้น ถูกต้องตรงเผง กล่าวคือ ไม่มีทางที่อเมริกาจะฟื้นสัมพันธ์กับเตหะรานได้โดยไม่ทำให้พันธมิตรเดิมในตะวันออกกลางขุ่นเคือง เนื่องจากข้อตกลงระงับโครงการนิวเคลียร์เป็นคนละเรื่องกับกิจกรรมก้าวร้าวอื่นๆ ของเตหะรานในภูมิภาคดังกล่าว
นักวิเคราะห์ยังลงความเห็นว่า ไม่ว่าวอชิงตันจะเดินหมากอย่างไรต่อไปนอกเหนือจากการเรียกร้องให้สองฝ่ายสงบศึก แต่วิกฤตการทูตครั้งนี้จะบานปลายอีกหลายปีและก่อกวนการเจรจาสันติภาพซีเรียอย่างแน่นอน