เอเอฟพี - คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยรายงานสรุปกรณีอิหร่านทดสอบยิงจรวดพิสัยกลางที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ เมื่อเดือน ต.ค. ชี้เข้าข่าย “ละเมิด” คำสั่งห้ามของยูเอ็น และมีสิทธิ์ถูกคว่ำบาตรเพิ่ม
อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐฯ ขอให้คณะกรรมการคว่ำบาตรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดำเนินการตรวจสอบการยิงจรวดเอมัด (Emad) เมื่อวันที่ 10 ต.ค. หรือหลังจากที่อิหร่านได้บรรลุข้อตกลงควบคุมกิจกรรมนิวเคลียร์กับกลุ่มชาติมหาอำนาจแล้วประมาณ 3 เดือน
“จากการวิเคราะห์และผลตรวจสอบที่พบ คณะกรรมการจึงสรุปว่าการยิงจรวดเอมัดเข้าข่ายละเมิดวรรค 9 ในมติที่ 1929 ของคณะมนตรีความมั่นคง” รายงานซึ่งถูกเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุ
มติ 1929 ซึ่งประกาศเมื่อปี 2010 กำหนดห้ามมิให้อิหร่านยิงขีปนาวุธทุกประเภทที่มีศักยภาพพอจะส่งหัวรบนิวเคลียร์ได้
“คณะกรรมการประเมินว่าจรวดเอมัดมีพิสัยเดินทางไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลเมตร และสามารถรองรับน้ำหนักหัวรบได้อย่างน้อย 1,000 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธ (ballistic missile technology)” รายงานดังกล่าว ระบุ
คณะผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นอธิบายว่า การกระทำที่เข้าข่ายยิงอาวุธนิวเคลียร์ จะต้องใช้จรวดที่มีพิสัยเดินทางอย่างน้อย 300 กิโลเมตร และรองรับน้ำหนักหัวรบได้ตั้งแต่ 500 กิโลกรัมขึ้นไป
รัฐบาลอิหร่านยืนยันว่า การทดสอบจรวดเอมัดไม่ถือว่าละเมิดมติยูเอ็น โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ อ้างว่าจรวดลูกนี้ “ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อติดหัวรบนิวเคลียร์”
เตหะรานประกาศเสียงแข็งมาตลอดว่าไม่เคยมีแผนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างที่ตะวันตกกล่าวหา
แม้ผลการตัดสินจากผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นอาจนำไปสู่การประกาศคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม ทว่ามาตรการลงโทษใดๆ ก็จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัสเซียและจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงเสียก่อน
กลุ่มมหาอำนาจ P5+1 ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส บวกเยอรมนี ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวอิหร่านให้ยอมทำข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อเดือน ก.ค.
รายงานล่าสุดถูกเปิดเผยออกมาในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคยูเอ็นเตรียมจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนแก่อิหร่านในเดือน ม.ค. หากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ให้การรับรองว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์