หนึ่งในประเด็นข่าวร้อนฉ่าทางด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่ผุดขึ้นมาเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีข่าวความเคลื่อนไหวของรัสเซีย ในการเสริมเขี้ยวเล็บด้วยการประกาศเพิ่มจำนวนของ “ขีปนาวุธข้ามทวีป” อีกเกือบครึ่งร้อยลูก เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากสหรัฐอเมริกาและบรรดาลิ่วล้อที่เป็นประเทศสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รวมอยู่ด้วยเป็นแน่
ก่อนหน้านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาและความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกได้ก้าวเข้าสู่ภาวะเสื่อมทรามลงถึงขีดสุด จากผลพวงของวิกฤตทางการเมืองในยูเครนจากการที่ผู้นำและรัฐบาลที่มีความใกล้ชิดกับมอสโกถูกโค่นอำนาจโดยฝ่ายที่โปรตะวันตก และความขัดแย้งระหว่างชาวยูเครนทั้งฝ่ายที่ฝักใฝ่ตะวันตกกับฝ่ายนิยมรัสเซีย ที่ในที่สุดแล้วก็ได้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในพื้นทื่ภาคตะวันออกของประเทศ
นอกจากนั้น การลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ใน “สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย” ซึ่งตามมาด้วยการแยกตัวของไครเมียออกจากยูเครน เพื่อไปผนวกรวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ยิ่ง “โหมกระพือเชื้อไฟแห่งความตึงเครียด” ให้รัสเซียและโลกตะวันตกยิ่ง“มองหน้ากันไม่ติด” มากกว่าเดิม
ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของบารัค โอบามาได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและหาทางสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของรัฐบาลมอสโกภายใต้การนำของวลาดิมีร์ ปูตินในทุกช่องทาง แต่ทว่าสิ่งที่กลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่นำไปสู่จุดแตกหัก คือ การที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลอเมริกันตกเป็นข่าวว่าเตรียมประกาศแผนติดตั้ง “อาวุธหนัก” และนำทหารจากเมืองลุงแซมกว่า 5,000 ชีวิตเข้าประจำการในประเทศแถบยุโรปตะวันออกและรัฐแถบทะเลบอลติก ตามรายงานของสื่อดังอย่าง “นิวยอร์กไทม์ส”
แต่ไหนแต่ไรมา เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า ยุโรปตะวันออกและรัฐแถบทะเลบอลติก คือ อาณาบริเวณที่เปรียบเสมือน “สวนหลังบ้านของรัสเซีย” ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องที่น่าแปลกประหลาดใจแต่อย่างใด หากแผนการติดตั้งอาวุธหนัก และนำกำลังทหารสหรัฐฯเข้ามาประจำการในดินแดนแถบนี้ จะสร้างความขุ่นเคืองอย่างใหญ่หลวงให้กับรัสเซีย ถึงขั้นที่ทำให้วลาดิมีร์ ปูตินออกอาการฉุนขาด จนต้องประกาศแผนเพิ่มขีปนาวุธข้ามทวีปซึ่งรองรับการติดหัวรบนิวเคลียร์ครั้งใหญ่รวดเดียวถึง 40 ลูกเป็นอย่างน้อย
ปูติน ผู้นำรัสเซียให้เหตุผลว่า รัสเซียจำเป็นต้องป้องกันตนเองหากถูกคุกคาม ถึงแม้การขยับตัวล่าสุดของพญาหมีขาวในคราวนี้ จะถูกฝ่ายสหรัฐฯ กล่าวหาว่า มอสโกกำลังรื้อฟื้น “สถานะสงครามเย็น” ที่ทำให้โลกกลับเข้าสู่ “ยุคแห่งความหวาดระแวง” กันอีกครั้ง
แต่หากจะมองอย่างเป็นกลางแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สหรัฐอเมริกาและลิ่วล้อในยุโรป ดูจะเป็นฝ่ายที่เริ่มก่อสงครามเย็นรอบใหม่นี้ขึ้นมาก่อน และการขยับบทบาทของนาโตในระยะหลัง ที่พุ่งเป้าเข้าประชิดเขตแดนของรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ปลุกให้รัสเซียเริ่มการตอบโต้แบบ “แรงมา-แรงไป” ในคราวนี้
วลาดิมีร์ ปูตินประกาศแผนเพิ่มขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile : ICBM) รุ่นใหม่ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 40 ลูกที่มีพิสัยทำการตั้งแต่ 5,500 กิโลเมตรขึ้นไป เข้าสู่คลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของตนภายในสิ้นปี 2015 นี้ และว่า ขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ “เมด อิน รัสเซีย” นี้ สามารถทำลายระบบป้องกันขีปนาวุธที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดของโลกตะวันตกได้ในชั่วพริบตา
ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อคโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute :SIPRI) บ่งชี้ว่า ในเวลานี้รัสเซียมี “หัวรบนิวเคลียร์” ในความครอบครองราว 7,500 หัวรบ โดยที่ในจำนวนนี้มีอยู่ 1,780 หัวรบที่ติดตั้งเข้ากับขีปนาวุธแล้วและอยู่ในสภาพ “พร้อมกดปุ่มยิง”
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่รัสเซียเป็นฝ่าย “ออกหมัด” เข้าใส่คู่ต่อสู้ หลังจากที่เอาแต่เก็บตัวเงียบและปล่อยให้ตัวเองถูก “รุมกินโต๊ะ” มานานเป็นแรมปีทั้งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก
และที่น่าติดตามมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือวิธีการเดินหมากของรัสเซียที่มิใช่การเลือกใช้หมากธรรมดาทั่วไป แต่เป็นการเดินเกมด้วย “หมากนิวเคลียร์” ซึ่งทำเอาสหรัฐฯและโลกตะวันตกเริ่มอยู่ไม่เป็นสุข และอาจต้องเริ่มกลับมาทบทวนบทบาทของตนในช่วงที่ผ่านมาว่า คิดดีแล้วหรือที่เลือกเป็นปฏิปักษ์กับมอสโก ด้วยการเอาชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเสี่ยงกับ “สงครามนิวเคลียร์” ที่สักวันหนึ่งอาจเกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นแต่เพียง “คำขู่” อย่างในยุคสงครามเย็นอีกต่อไป