เอเจนซีส์ – รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ฟิลิป แฮมมอนด์ แถลงส่งสัญญาณไปยังประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวานนี้(7)ว่า มีความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะยอมอนุญาตให้สหรัฐฯตั้งฐานปล่อยจรวดขีปนาวุธสหรัฐฯอีกครั้ง หลังจากที่ความตรึงเครียดระหว่างรัสเซียและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ ท่ามกลางความกังวลว่าการส่งสัญญาณล่าสุดอาจจะทำให้รัสเซียส่งสัญญาณตอบโต้ผ่านการเคลื่อนไหวทางการทหารมากขึ้นกว่าเดิม
เดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้(8)ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ฟิลิป แฮมมอนด์ ได้แถลงถึงช่องทางที่อาจเปิดให้อังกฤษพิจารณาที่จะอนุญาตให้สหรัฐฯสามารถตั้งฐานขีปนาวุธแบบร่อนได้ภายในประเทศอีกครั้ง ถึงแม้ว่าการส่งสัญญาณเตือนครั้งนี้ออกไปยังประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน อาจกลายเป็นสิ่งที่จะทำให้รัสเซียเพิ่มความเคลื่อนไหวทางการทหารมากขึ้น รวมไปถึงการที่เครมลินสั่งติดตั้งฐานปล่อยจรวดมิสไซล์ในมณฑลคาลินินกราด (Kaliningrad) ดินแดนรัสเซียในเขตทะเลบอลติก นอกฝั่งแผ่นดินใหญ่
ทั้งนี้สหรัฐฯกำลังพิจารณาถึงการปัดฝุ่นสนธิสัญญายุคสงครามเย็นเพื่อต้องการติดตั้งฐานปล่อยจรวดมิสไซล์ในทวีปยุโรปตอบโต้การคุกคามทางการทหารของรัสเซีย
ในการตอบข้อซักถามในรายการ BBC 1 ในวันอาทิตย์(7) แฮมมอนด์กล่าวยอมรับว่า ทางอังกฤษจะพิจารณาข้อเสนอของสหรัฐฯ เพราะทางอังกฤษทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯในฐานะประเทศพันธมิตร “การตัดสินใจจะเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่ายหากมีข้อเสนอนี้บนโต๊ะเจรจา เพราะทางอังกฤษคิดว่า เราต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังรัสเซียว่า ทางเราจะไม่มีวันยอมให้รัสเซียล้ำเส้นแดงเด็ดขาด” แฮมมอนด์แถลง
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษระบุว่า ทางชาติตะวันตกไม่ต้องการยั่วยุรัสเซีย และกล่าวว่า มิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์ถือเป็นหนึ่งในทางทฤษฎี เพราะการที่จะทำเช่นนั้นรังแต่จะทำให้ยุคสงครามเย็นที่มีการแข่งขันสะสมอาวุธกลับมาอีกครั้ง และเพิ่มแรงกดดันสถานการณ์ยูเครนให้กลับเลวร้ายหนักขึ้น
สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า ในยุค 80 สหรัฐฯเคยติดตั้งฐานปล่อยจรวดขีปนาวุธที่ฐานทัพอากาศอังกฤษ RAF Greenham Common ในเบิร์กเชียร์ ส่งผลทำให้เกิดการปะทะอย่างหนักระหว่างผู้ประท้วงไม่เห็นด้วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีซึ่งตั้งแคมป์ปักหลักรอบบริเวณนั้นและเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษ โดยในเดือนเมษายน 1983 มีการสร้างโซ่มนุษย์ไกลถึง 14 ไมล์ขึ้นจากจำนวนผู้ประท้วงราว 70,000 คน ที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่กรีนแฮม (Greenham )ไปยังอัลเดอร์มาสตัน( Aldermaston )และไปถึงโรงงานสรรพาวุธที่เบิร์กห์ฟิลด์ (Burghfield)
ทั้งนี้อาวุธจรวดมิสไซล์ของสหรัฐฯยังประจำการประจำฐานทัพอังกฤษตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1983 ไปจนถึงเดือนมีนาคม 1991 ผลมาจากที่สหรัฐฯและสหภาพโซเวียตได้ลงนามสนธิสัญญาปลดอาวุธร่วมกันในปีนั้น
สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า แฮมมอนด์กล่าวย้ำว่า ในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนในการโจมตียูเครน แต่กล่าวว่าประธานาธิบดีปูติน "ยังคงเปิดช่องทางนี้ไว้เพื่อเป็นทางเลือก"