xs
xsm
sm
md
lg

EU เห็นพ้องขยายเวลาคว่ำบาตรรัสเซียจากวิกฤตยูเครนจนถึงต้นปี 2016

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ชาติสมาชิกอียูเห็นพ้องกันในวันพุธ (17 มิ.ย.) ขยายกรอบเวลามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจากกรณีเข้าแทรกแซงวิกฤตยูเครนออกไปอีก 6 เดือน และจะไปสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2016

เจ้าหน้าที่เผยว่า ข้อตกลงระหว่างเหล่าคณะทูตจาก 28 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม จะถูกทำให้เป็นทางการโดยเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มซึ่งมีกำหนดนัดหารือกันในสัปดาห์หน้า

“เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศจะตัดสินใจกันในขั้นสุดท้ายในลักเซมเบิร์ก วันจันทร์หน้า” ผู้แทนถาวรของโปแลนด์ประจำอียูระบุบนทวิตเตอร์ ขณะที่แหล่งข่าวหลายคนก็ยืนยันข้อตกลงนี้เช่นกัน

จากนั้นในวันถัดไป เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส เยอรมนี ยูเครน และรัสเซีย จะนัดหารือกันในปารีส ด้วยความหวังว่าการประชุมเหล่านี้อาจช่วยกอบกู้แนวโน้มทางการทูตสู่การคลี่คลายวิกฤตความรุนแรงทางภาคตะวันออกของยูเครน และจัดการความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก อันเกี่ยวกับความขัดแย้งและมาตรการคว่ำบาตรที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งนี้

สหภาพยุโรป (อียู) กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่เหล่าธนาคารของรัสเซีย ภาคอุตสาหกรรมพลังงานและกลาโหม ตามหลังเที่ยวบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ถูกยิงตกในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฏนิยมมอสโก ทางภาคตะวันออกของยูเครน ในเดือนกรกฎาคม 2014 ขณะที่สหรัฐฯก็ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจต่อรัสเซียเช่นกัน

ในเดือนมีนาคม เหล่าผู้นำของอียูเห็นพ้องกันในหลักการลดระดับมารตรการคว่ำบาตรต่างๆ โดยเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวดังกล่าวกับกรณีที่รัสเซีย บังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์โดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวมีฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นคนกลางและลงนามกันในกรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ด้วยเนื้อหาทางกฎหมายเห็นพ้องกันแล้วในระดับเจ้าหน้าที่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศจะลงมติเห็นชอบในวันจันทร์ (22 มิ.ย.) โดยไม่จำเป็นต้องมีการถกเถียงใดๆ จากนั้นก็จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการ ณ ที่ประชุมของเหล่าผู้นำอียูในบรัสเซลส์ วันพฤหัสบดี (25 มิ.ย.) และวันศุกร์ (26 มิ.ย.)นี้

แน่นอนว่าการขยายกรอบเวลามาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ จะยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกเย็นยะเยือกต่อไป แม้วิกฤตในยูเครนที่กระพือความแตกร้าวครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามเย็นจะผ่านพ้นมา 1 ปีครึ่งแล้วก็ตาม

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เมื่อวันอังคาร (16 มิ.ย.) กล่าวหารัสเซีย สำแดงแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ที่อันตราย หลังประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แถลงแผนเพิ่มขีปนาวุธข้ามทวีปในคลังแสงนิวเคลียร์อีก 40 ลูก โดยมอสโกบอกว่าความเคลื่อนไหวนี้เพื่อตอบโต้พันธมิตรนาโต้ที่นำโดยสหรัฐฯ ซึงดำเนินการติดตั้งอาวุธหนักและนำทหารเข้าประจำการในยุโรปตะวันออกและแถบบอลติก

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (จี 7) ที่ขับรัสเซียออกจากกลุ่มเมื่อปีที่แล้ว เตือนว่ามอสโกเสี่ยงเจอมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อกรณีรุกรานยูเครน หากปูตินไม่ยอมปรับเปลี่ยนแนวทาง

ข้อตกลงหยุดยิงมินสก์ได้ข้อสรุปขึ้นมา หลังจากแผนสันติภาพในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ล้มเหลวในการระงับเหตุปะทะระหว่างสองฝ่าย ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วข้อตกลงหยุดยิงได้รับการยึดมั่น แต่เคียฟและฝ่ายกบฏยังกล่าวหากันรายวันว่าแต่ละฝ่ายละเมิดข้อตกลง ขณะที่เหล่านักสังเกตการณ์รายงานว่าพบเห็นการสู้รบดุเดือดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

อียูออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งแรกด้วยการอายัดทรัพย์และสั่งห้ามเดินทางของเหล่าผู้นำกบฏและบุคคลสำคัญๆ ของรัสเซีย หลังจากมอสโกผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในเดือนมีนาคม 2014 จากนั้นก็ขยายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม หลังความขัดแย้งลุกลามสู่ภาคตะวันออกของยูเครน คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 6,400 ศพ


กำลังโหลดความคิดเห็น