เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเมื่อวันอังคาร(16มิ.ย.) ประกาศก้องว่ารัสเซียจะเพิ่มขนาดคลังแสงนิวเคลียร์ในปี 2015 ด้วยขีปนาวุธข้ามทวีปกว่า 40 ลูก คำพูดที่น่าจะสร้างความกังวลในตะวันตก ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน
"ปีนี้ขนาดของพลานุภาพทางนิวเคลียร์ของเราจะถูกเพิ่มเติมโดยขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปใหม่กว่า 40 ลูก ที่สามารถจะสามารถมีชัยเหนือระบบป้องกันขีปนาวุธใดๆหรือแม้แต่ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดได้" ปูตินกล่าว ณ พิธีเปิดงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์แห่งหนึ่ง รอบนอกกรุงมอสโก
ถ้อยแถลงของปูตินมีขึ้น 1 วัน หลังจากเจ้าหน้าที่รัสเซียประณามแผนของสหรัฐฯที่จะประจำการรถถังและอาวุธหนักในเหล่าชาติสมาชิกนาโต้ที่มีชายแดนติดดับรัสเซีย พฤติกรรมก้าวร้าวที่สุดของวอชิงตันนับตั้งแต่สงครามเย็น
ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและมหาอำนาจตะวันตกถีบตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากบทบาทของมอสโกในวิกฤตยูเครน ซึ่งกองกำลังกบฏแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียบุกยึดพื้นที่ขนาดใหญ่ในดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครน หลังจากมอสโกผนวกไครเมียของเคียฟเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในช่วงต้นปี 2014
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกระตุ้นให้ตะวันตกที่นำโดยสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจลงโทษรัสเซีย
ขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปมีพิสัยทำการขั้นต่ำอย่างน้อย 5,500 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ปูติน ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าขีปนาวุธชนิดไหนที่ถูกเสริมเข้าสู่คลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซีย
เขาเคยพูดมาหลายครั้งว่ารัสเซียจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อตอบโต้ในสิ่งที่เขามองว่าภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมอสโกได้สงวนสิทธิ์ในการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในไครเมีย
ความเห็นลักษณะดังกล่าวของเขาช่วยกระพือความรู้สึกต่อต้านตะวันตก และมีการเดินขบวนสนับสนุนนายปูติน แต่อีกด้านหนึ่งมันได้ก่อความกังวลแก่ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่อยู่ใกล้หรือมีชายแดนติดกับรัสเซีย
เจ้าหน้าที่รัสเซียเตือนเมื่อวันจันทร์(15มิ.ย.) ว่ามอสโกจะแก้เผ็ด หากว่าสหรัฐฯดำเนินแผนสะสมอาวุธหนักในยุโรปตะวันออก ในนั้นรวมถึงหลายประเทศในแถบบอลติก ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในสหภาพโซเวียต
ปูติน กล่าวว่ามอสโก จะไม่ยอมถูกลากเข้าสู่การแข่งขันอาวุธใหม่ แม้รัสเซียกำลังปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยผู้นำรายนี้บอกว่าร้อยละ 70 ของยุทโธปกรณ์ทางทหารที่จะใช้ในปี 2020 เกือบทั้งหมดจะเป็นอาวุธที่ทันสมัยและมีคุณภาพเป็นเลิศ
อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทางทหารกำลังเป็นภาระอย่างหนักต่องบประมาณแผ่นดินในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของรัสเซียกำลังดำดิ่งสู่ภาวะถดถอย จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำและมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก
เครมลินอ้างว่าการใช้จ่ายในภาคอาวุธคือส่วนหนึ่งในแผนขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่เหล่านักวิจารณ์บอกว่ามันมากเกินกว่าที่จะยอมรับได้และเกินกว่าความต้องการของสังคม