รอยเตอร์ - สหรัฐฯ และนาโตอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในด้านการทหารเพื่อรับมือการเผชิญหน้ากับรัสเซียซึ่งมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน แม้ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จะสิ้นอำนาจก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าววานนี้ (21 มิ.ย.)
การที่รัสเซียใช้อิทธิพลแทรกแซงสถานการณ์ยูเครนส่งผลให้พันธมิตรนาโตในยุโรปตะวันออกเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางทหาร รวมถึงจัดซ้อมรบและตั้งกองกำลังเคลื่อนที่เร็วขึ้นมาเพื่อตอบสนองวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มออกเดินสายทัวร์ยุโรปเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระบุว่า สหรัฐฯ หวังที่จะเห็นรัสเซียก้าวไปข้างหน้า และย้ำถึงความร่วมมือทางการทูตที่มีร่วมกันกับมอสโก เช่น การเจรจาควบคุมโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
อย่างไรก็ดี การปรับยุทธศาสตร์ของนาโตซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อป้องปรามการแทรกแซงจากรัสเซีย สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความตึงเครียดที่อาจจะยืดเยื้อ
“การปรับที่ผมพูดถึงนี้เป็นผลโดยตรงจากการที่เราคาดไว้ว่ารัสเซียคงจะไม่เปลี่ยนไปภายใต้รัฐบาล วลาดิเมียร์ ปูติน หรือแม้กระทั่งหลังจากนั้น” คาร์เตอร์ให้สัมภาษณ์บนเครื่องบินก่อนถึงกรุงเบอร์ลิน
เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่า เขาคิดว่าปูตินจะเปลี่ยนนโยบายหรือไม่ นายใหญ่เพนตากอนก็กล่าวสั้นๆว่า “ผมก็หวังเช่นนั้น แต่ก็ไม่แน่ใจ”
ปูติน ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่ 3 เมื่อปี 2012 โดยมีวาระการบริหารประเทศนาน 6 ปี และเนื่องจากกฎหมายรัสเซียอนุญาตให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน 2 สมัย จึงหมายความ ปูติน ยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2018 เพื่อที่จะกุมอำนาจลากยาวต่อไปอีก 6 ปีได้
การไปเยือนยุโรปของคาร์เตอร์ ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันการปรับยุทธศาสตร์ของนาโต โดยเริ่มจากการไปตรวจเยี่ยมกองกำลังเคลื่อนที่เร็วในเยอรมนีวันนี้ (22) และจะเดินทางต่อไปยังเอสโตเนียเพื่อเยี่ยมเรือรบสหรัฐฯ ที่เพิ่งกลับจากภารกิจฝึกซ้อมในทะเลบอลติก
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า คาร์เตอร์อาจจะเปิดเผยรายละเอียดว่าด้วยแผนการจัดส่งอาวุธหนักไปประจำการล่วงหน้ายังจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่างๆ
รัสเซียออกมาตอบโต้มาตรการเชิงรุกของนาโต โดยขู่จะเสริมสมรรถนะกองทัพและเพิ่มขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปในคลังแสงนิวเคลียร์อีกกว่า 40 ลูกในปีนี้
คาร์เตอร์ได้เอ่ยตำหนิ “คำขู่พล่อยๆ” ของ ปูติน เกี่ยวกับการเสริมคลังอาวุธนิวเคลียร์
“วลาดิเมียร์ ปูติน ไม่จำเป็นต้องพูดอย่างนั้นออกมา... ผมก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมเขาต้องทำเช่นนั้น แต่ในมุมมองของผม มันไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสมเลย”
แม้สงครามน้ำลายระหว่างวอชิงตันกับมอสโกจะชวนให้นึกถึงบรรยากาศตึงเครียดในยุคสงครามเย็นซึ่งจบสิ้นไปในปี 1991 แต่เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางไปพร้อมกับคาเตอร์ ยืนยันว่าสหรัฐฯ ต้องการให้พันธมิตรนาโต “โละทิ้ง” กลวิธีแบบเก่าไปเสีย
“คาร์เตอร์จะโน้มน้าวให้พันธมิตรของเราทิ้งยุทธศาสตร์เมื่อช่วงสงครามเย็นไปเสีย และหันมาคิดหาวิธีรับมือภัยคุกคามที่มาในรูปแบบใหม่” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ระบุ
นอกจากความขัดแย้งซึ่งเกิดจากการที่รัสเซียช่วงชิงคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครนแล้ว การขยายอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) และเครือข่ายอิสลามิสต์อื่นๆ ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางก็ทำให้นาโตต้องปรับนโยบายความมั่นคงไปอย่างแทบจะพลิกฝ่ามือ
รัฐมนตรีกลาโหมนาโตจะมีการประชุมร่วมกันในวันพุธ-พฤหัสบดีนี้ที่กรุงบรัสเซลส์ โดยวาระสำคัญคาดว่าจะเป็นการหารือแผนจัดตั้งภารกิจของนาโตในอิรัก เพื่อช่วยสนับสนุนสถาบันหลักๆ ของแบกแดด ซึ่งแผนดังกล่าวคาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในเดือนกรกฎาคมนี้