xs
xsm
sm
md
lg

‘นายกฯโมดี’เคือง ‘จีน’ ขณะ‘อเมริกา’ตามจีบให้‘อินเดีย’ร่วมยุทธศาสตร์‘ปักหมุด’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Testing times for India’s China policies
By M.K. Bhadrakumar
08/06/2015

รายงานอย่างเป็นทางการของนิวเดลี กับของวอชิงตัน ในเรื่องการเยือนอินเดียของรัฐมนตรีกลาโหม แอชตัน คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ มีเนื้อหาที่แตกต่างกันอย่างน่าสังเกต ความผิดแผกกันเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของแดนภารตะ ยังไม่ต้องการแสดงตนอย่างเปิดเผยว่าได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนของอินเดีย โดยขยับเข้าใกล้ยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชียของอเมริกาเพิ่มมากขึ้น

ในบทวิจารณ์ชั้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้ตวาดแหวใส่วอชิงตันว่า กำลังกระทำการ “ล่าแม่มดโดยถือจีนเป็นเป้าหมาย” ท่ามกลางภูมิหลังความตึงเครียดซึ่งพุ่งพรวดขึ้นในทะเลจีนใต้ช่วงระยะหลังๆ มานี้ บทวิจารณ์กล่าวในตอนหนึ่งว่า “เสียงประสานของกระบวนการทำให้จีนกลายเป็นปีศาจร้าย มีแต่ดังกึกก้องขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้มา ... สืบเนื่องจากความผิดหวัง หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากความหมดหวัง สหรัฐฯจึงได้วางแผนการอย่างถี่ถ้วนละเอียดลออเพื่อป้ายร้ายจีนให้กลายเป็นจอมอันธพาลเกะกะระรานระดับภูมิภาค เป็นนักสร้างความยุ่งยากวุ่นวายและผู้ร้ายตัวฉกาจ ซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของระเบียบแห่งภูมิภาคเอเชีย ที่สหรัฐฯเป็นผู้ครอบงำบงการอยู่”

ระหว่างที่รัฐมนตรีกลาโหม แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton Carter) ของสหรัฐฯไปเยือนกรุงนิวเดลีเมื่อตอนต้นเดือนมิถุนายนเช่นกันนั้น เขาได้พยายามใช้โอกาสดังกล่าวในการว่าร้ายป้ายสีจีน “ให้กลายเป็นปีศาจ” มากน้อยแค่ไหน เราคงไม่มีทางทราบได้ แต่เราสามารถที่จะคาดทายได้อย่างมีเหตุมีผลทีเดียวว่า เขาได้หยิบยกเรื่องจีนขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ด้วย – และบางทีเขาทำเช่นนั้น เนื่องจากทราบดีว่าเขาจะได้ผู้ฟังที่พร้อมเออออห่อหมกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตรงกันข้ามกับเวอร์ชั่นของฝ่ายอเมริกัน คำให้การอย่างเป็นทางการของฝ่ายอินเดียเกี่ยวกับการเยือนของรัฐมนตรีคาร์เตอร์คราวนี้ มีความใส่ใจระมัดระวังที่จะวาดภาพให้เห็นว่าคณะผู้นำของอินเดียนั้น วางตัวอยู่ห่างไกลจากการเข้าร่วมสมคบแม้กระทั่งอย่างอ้อมๆ เฉียดๆ กับสิ่งที่สำนักข่าวซินหวาเรียกว่า “เสียงประสานของกระบวนการทำให้จีนกลายเป็นปีศาจร้าย”

ความแตกต่างไม่ลงรอยกันระหว่างรายงานอย่างเป็นทางการของทั้งสองประเทศนี้ (ซึ่งมีการนำออกเผยแพร่แยกกันที่กรุงวอชิงตันและที่กรุงนิวเดลี) ดูมีปริศนาเงื่อนงำชวนสงสัยจนเกินกว่าที่จะละเลยไม่หยิบยกนำมาตั้งเป็นข้อสังเกตให้ปรากฏ ทั้งนี้ความไม่ลงรอยดังกล่าวนี้เป็นสิ่งซึ่งนอกเหนือไปกว่าแค่ความแตกต่างแห่งความหมายของถ้อยคำ

เอกสารข่าวเผยแพร่สื่อมวลชนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯในเรื่องการพบปะหารือระหว่าง คาร์เตอร์ กับ โมดี นั้น มีการเน้นย้ำให้เห็นไปว่า ผู้นำทั้งสอง “เห็นพ้องต้องกันว่าการบรรจบกันเชิงยุทธศาสตร์ ระหว่าง การกลับมาฟื้นความสมดุลในเอเชียของสหรัฐฯ กับ การ“ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” (Act East) ของอินเดีย [1] เป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์กันได้เพิ่มมากขึ้น พวกเขาเดินหน้าอภิปรายหารือกันในประเด็นปัญหาต่างๆ จำนวนมากซึ่งมีความสนใจร่วมกันอยู่ เป็นต้นว่า ความมั่นคงระดับภูมิภาคในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ...”

คำให้การเวอร์ชั่นของฝ่ายวอชิงตันนี้ มีการใช้ถ้อยคำที่แข็งขันหนักแน่นมากๆ โดยพรรณนายืนยันว่า โมดี กับ คาร์เตอร์ กำลังเห็นพ้องต้องกันในเรื่องที่ว่า ระหว่างนโยบายการฟื้นความสมดุลในเอเชีย (rebalancing) ของสหรัฐฯ ซึ่งก็คือ “การปักหมุด” หวนคืนสู่เอเชีย (“pivot” to Asia) ของสหรัฐฯ กับ นโยบาย “ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” อย่างมุ่งมั่นของอินเดียนั้น กำลังเกิด “การบรรจบกันทางยุทธศาสตร์” และทั้งสองฝ่ายจึงต่างกำลังเสาะแสวงหา “การเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์กันได้เพิ่มมากขึ้น” ในทิศทางแห่งการบรรจบกันดังกล่าว

มันก็จริงอยู่หรอกที่ว่า แรงจูงใจอันแรงกล้ากว่าเพื่อน ซึ่งทำให้แดนภารตะกำหนดนโยบาย “ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” ออกมานั้น คือการก้าวผงาดขึ้นมาของประเทศจีน ทว่าเท่าที่ผ่านมาอินเดียก็ไม่เคยผูกโยงนโยบายนี้ว่าเป็นอย่างเดียวกับยุทธศาสตร์การมุ่งปิดล้อมจีนของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับเอกสารแถลงข่าวสื่อมวลชนซึ่งเผยแพร่โดยสำนักนายกรัฐมนตรีในกรุงนิวเดลีนั้น กลับบรรยายให้เห็นเนื้อหาซึ่งแตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก โดยเอกสารคำให้การของฝ่ายอินเดียนี้ระบุว่า “มิสเตอร์คาร์เตอร์แจ้งให้ทราบว่า สหรัฐฯมองว่าอินเดียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รายสำคัญรายหนึ่ง นโยบายการฟื้นความสมดุลในเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯนั้น เป็นสิ่งที่เสริมส่งเติมเต็มให้แก่ “นโยบายลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” ของอินเดีย”

เวอร์ชั่นคำให้การของฝ่ายอินเดียนี้ ได้ละเลยเว้นข้ามท่าทีการตอบสนองของโมดี ต่อการกล่าวเกริ่นเดินเรื่องของคาร์เตอร์ อีกทั้งทำให้อาคันตุกะผู้มาเยือนกลายเป็นคนคอยกระตุ้นบอกบท ในทางเป็นจริงแล้ว รายงานของฝ่ายอินเดียระบุว่าจุดโฟกัสเน้นหนักของโมดีนั้นอยู่ที่เรื่องอื่น ได้แก่โครงการ “ทำในประเทศอินเดีย” (Make in India) [2] ซึ่งเป็นนโยบายที่เขาคิดขึ้นและกำลังพยายามผลักดันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช เอกสารแถลงข่าวของฝ่ายแดนภารตะกล่าวว่า โมดีปรารถนาที่จะให้ฝ่ายสหรัฐฯเข้ามาร่วมกันทำการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในอินเดีย ปรารถนาที่จะให้พวกบริษัทผู้ผลิตอาวุธอเมริกัน “จัดตั้งหน่วยโรงงานผลิตขึ้นในอินเดีย โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเชื่อมโยงกับสายโซ่อุปทานระดับโลก (global supply chain)”

ในบทวิจารณ์ทางสื่อเกี่ยวกับเรื่องการเยือนอินเดียของคาร์เตอร์ สื่อมวลชนของรัฐบาลสหรัฐฯอย่าง “เสียงอเมริกา” (Voice of America หรือ VOA) ก็ใช้ความพากเพียรพยายามอย่างมากที่จะทำให้เกิดความประทับใจขึ้นมาว่า ความตึงเครียดซึ่งกำลังเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ “ได้ช่วยให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ (เป็นต้นว่าอินเดีย) พร้อมจับมือเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น” (ดูรายละเอียดของบทวิจารณ์นี้ได้ที่ http://www.voanews.com/content/us-india-sign-defense-pact-countering-chinese-influence/2808540.html)

รายงานทางสื่อทางการของรัฐบาลสหรัฐฯนี้ ยังเน้นย้ำอีกว่ามีการต่ออายุข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯกับอินเดีย ออกไปอีกเป็นเวลา 10 ปี (ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว มันเป็นข้อตกลงแม่บทว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างประเทศทั้งสอง) รวมทั้งประโคมว่าเรื่องนี้เป็น “สัญญาณอีกประการหนึ่งจากทั้งสองฝ่าย ในการป้องกันการขยายอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นทุกที ของฝ่ายทหารแดนมังกรในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย”

ในอีกด้านหนึ่ง เอกสารแถลงข่าวร่วมต่อสื่อมวลชนของสหรัฐฯกับอินเดียในเรื่องการเยือนแดนภารตะของคาร์เตอร์ ไม่ได้มีการบรรจุข้อความใดๆ เลยแม้แต่น้อยนิด ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงเรื่องประเทศจีนในทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการเอ่ยถึงโดยตรงหรือโดยทางอ้อม ตรงกันข้ามเอกสารแถลงข่าวร่วมนี้กลับบอกอย่างชัดเจนว่า การที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯเดินทางมานิวเดลีเที่ยวนี้ ก็เพื่อลงนามในข้อตกลงแม่บทว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างทั้งสองประเทศนี่เอง

เป็นที่กระจ่างแจ่มแจ้งว่า ในทัศนะมุมมองของฝ่ายอินเดียแล้ว พื้นที่ซึ่งถือเป็นแกนกลางแห่งความสนใจ ในการมาเยือนของคาร์เตอร์เที่ยวนี้ ได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า แผนการริเริ่มด้านเทคโนโลยีกลาโหมและการค้าด้านกลาโหม (Defence Technology and Trade Initiative ใช้อักษรย่อว่า DTTI) โดยที่นิวเดลีมองว่าแผนการริเริ่มนี้มีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางด้านนี้ ให้ไปถึงระดับเป็นการที่สองประเทศออกแบบอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกัน ตลอดจนดำเนินการวิจัยพัฒนาและการร่วมกันผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ขึ้นในอินเดีย

มีหลักฐานรองรับอย่างชัดเจนว่า วอชิงตันพยายามที่จะสกัดเอาผลในทางโฆษณาชวนเชื่อซึ่งสามารถใช้แสดงความเป็นปรปักษ์กับจีน ออกมาจากการเยือนของคาร์เตอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ขณะที่ฝ่ายอินเดียนั้นเฝ้ามองดูอยู่ห่างๆ โดยที่ไม่ได้แสดงการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อถ้อยคำโวหารของฝ่ายอเมริกัน

อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำถามชวนคิดอยู่ประการหนึ่งว่า สหรัฐฯทำการโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่ได้มีเนื้อหาสาระรองรับอย่างสิ้นเชิงเลยหรือ ในเมื่อวอชิงตันกล้าอ้างถึงขนาดที่ว่า คาร์เตอร์ กับ โมดี นั้น มีความรับรู้ร่วมกันว่า มี “การบรรจบกันทางยุทธศาสตร์” ระหว่าง ยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชียของสหรัฐฯ กับยุทธศาสตร์ “ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” ของอินเดีย? กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯคงจะไม่ถึงกับเพียงแค่เอาคำพูดที่ตนเองปรารถนา มายัดใส่ปากของโมดีกระมัง!

เห็นชัดว่าสิ่งที่มีความเป็นไปได้อย่างมากก็คือ โมดีได้เอ่ยปากพูดวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจีน จะมากจะน้อยก็ตามที แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อันอยู่ในแนวทางซึ่งตั้งแต่นั้นมาทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯก็พยายามหยิบยกขึ้นมาแสดงให้ปรากฏอย่างอ้อมๆ ทว่าตัวโมดีเองไม่ต้องการที่จะประกาศยอมรับคำพูดเหล่านั้นอย่างเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน แน่นอนที่สุดว่าอินเดียในยุคของโมดีนั้นได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนของตนไปแล้ว โดยเคลื่อนมาอยู่ใกล้ชิดมากขึ้นกับยุทธศาสตร์ปักหมุดในเอเชียของสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับคณะรัฐบาลชุดก่อนที่เป็นรัฐบาลพันธมิตรสามัคคีฝ่ายก้าวหน้า (United Progressive Alliance) [3]

จากจุดยืนที่เคยวางตัวเป็นเพียงผู้ยืนดูอยู่ข้างทางอย่างสงบแต่กระหายใคร่รู้ โมดีกำลังนำพาอินเดียไปในทิศทางใหม่ในน่านน้ำซึ่งไม่เคยมีการสำรวจปักหลักหมายใดๆ กันมาก่อน โดยที่ในที่สุดแล้วอาจจะทำให้แดนภารตะกลายเป็นเพื่อนร่วมทางอีกรายหนึ่งของยุทธศาสตร์ปิดล้อมมุ่งต่อต้านจีนของสหรัฐฯไปเลย

ทำไมโมดีจึงกำลังรู้สึกหงุดหงิดขุ่นเคืองจีน? ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า การทูตในสไตล์ของโมดี ซึ่งมุ่งสร้างบรรยากาศ “ความรู้สึกดีๆ” ขึ้นมานั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดดอกผลเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นในความสัมพันธ์ที่อินเดียมีอยู่กับจีน ระหว่างที่โมดีไปเยือนแดนมังกรเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาล้มเหลวไม่สามารถรีดเค้นเอาคำมั่นสัญญาใดๆ จากพวกเจ้าภาพของเขา เพื่อให้มีการรื้อฟื้นเปิดการเจรจาหารือระหว่างประเทศทั้งสอง ในเรื่องเกี่ยวกับ “การทำความกระจ่างชัดเจน” ให้แก่ “เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง” (Line of Actual Control หรือ LAC) [4] ตรงบริเวณชายแดนที่พิพาทกันอยู่ ทั้งนี้หลังจากทำความตกลงกันในเรื่องนี้จนยุติลงได้ ต่อจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะได้สามารถแลกเปลี่ยนแผนที่ซึ่งแสดงแนวเส้น LAC ทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ (เรื่องนี้เป็นวัตถุประสงค์ที่อินเดียเรียกร้องยืนยันมาอย่างยาวนาน ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการแก้ไขข้อพิพาทชายแดนนี้ให้คลี่คลายไปอย่างสมบูรณ์)

ฝ่ายจีนเป็นฝ่ายหยุดการเจรจาหารือว่าด้วยการทำความกระจ่างชัดเจนให้แก่เส้น LAC เมื่อปี 2008 และเวลานี้ดูจะปรารถนาให้แทนที่ด้วยการเจรจาจัดทำ “กรรมวิธีในการประพฤติปฏิบัติ” (code of conduct) ระหว่างทหารของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น โมดียังกลับมาจากการไปเยือนจีนเมือเดือนพฤษภาคมแบบมือเปล่า โดยที่ปักกิ่งไม่ได้ยื่นข้อเสนอใหม่ๆ ใดๆ ในเรื่องการเข้าลงทุนในอินเดีย หรือการตกลงพาตัวเองเข้าสู่โครงการ “Make in India”

แต่ในเวลาเดียวกันนั้น แผนการที่จีนจะเข้าลงทุนในปากีสถานอย่างมโหฬารเป็นมูลค่าสูงถึง 46,000 ล้านดอลลาร์ [5] โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนการริเริ่มเส้นทางสายไหมสายใหม่” หรือที่ปักกิ่งนิยมเรียกขานอย่างย่อๆ ว่า “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าจะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับปากีสถานให้ขึ้นไปสู่ระดับคุณภาพระดับใหม่ และนั่นก็จะสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่การเดินหน้ายืนกรานในเชิงยุทธศาสตร์ของอินเดีย เพื่อให้ได้รับการยอมรับว่า แดนภารตะมีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจภูมิภาคในเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย

อินเดียดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณไปถึงจีนว่า ตนอาจจะสำรวจหาทางเลือกต่างๆ ของตนเอง ในเมื่อจีนล้มเหลวไม่ได้ยอมรับอำนวยความสะดวกให้แก่การแสวงหาผลประโยชน์อันชอบธรรมของแดนภารตะ ตลอดจนให้แก่ความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจซึ่งกำลังก้าวผงาดขึ้นมาของแดนภารตะ แล้วจีนจะรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงต่อการที่อินเดียอาจจะเล่น “ไพ่อเมริกัน” หรือไม่? จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ไปในทางนั้นเลย เนื่องจากจีนดูเหมือนมีความมั่นอกมั่นใจว่า ในดีเอ็นเอของอินเดียนั้นไม่ได้มีธาตุแห่งการยินยอมยกเลิกความเป็นอิสระอิสระในทางยุทธศาสตร์ของตนเอง แล้วหันเหเปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็นเพียงยามเฝ้าประตูให้แก่สหรัฐฯในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ทำนองเดียวกับบทบาทที่ออสเตรเลียหรือสิงคโปร์เล่นอยู่ในขณะนี้ แต่แน่นอนทีเดียวว่า อินเดียยังจะแสดงท่าทีขัดเคืองจีนไปจนถึงสุดขอบเท่าที่จะเป็นไปได้กันอีกพักหนึ่งทีเดียว

คราวนี้ก็มาถึงส่วนที่คาดการณ์ได้ลำบาก แน่นอนทีเดียวว่าคาร์เตอร์เดิน ทางมาอินเดียพร้อมกับวาระที่เตรียมตัวมาอย่างพรักพร้อม เพื่อหยั่งวัดความปรารถนาของโมดีในการผูกอินเดียเข้าเป็นพันธมิตรกับยุทธศาสตร์ปิดล้อมต่อต้านจีนของสหรัฐฯ เท่าที่ปรากฏจนถึงเวลานี้นั้น อินเดียยังคงแสดงตนเป็นผู้เดินทางที่ลังเลรีรอ ลีออน แพเนตตา (Leon Panetta) ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯมาก่อนคาร์เตอร์ ครั้งหนึ่งถึงขั้นเคยเสนอต่ออินเดียว่า แดนภารตะจะมีสถานะเป็น “แกนหลัก” หนึ่งในยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ของอเมริกา ทว่าไม่มีใครในนิวเดลีตกลงยอมรับข้อเสนอนี้ ซึ่งปรากฏออกมาในเดือนมิถุนายน 2012

น่าสนใจมากทีเดียวที่คาร์เตอร์ได้เชื้อเชิญอินเดียให้เข้าร่วมในการซ้อมรบทางนาวีระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นที่กำลังจะจัดขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรหรอกในการที่วอชิงตันกำลังพยายามดุนหลังโมดีให้แสดงท่าทีตรงไปตรงมาต่อจีนมากขึ้นอีกนิด และลงมือปฏิบัติให้เห็นกันจริงๆ อย่างน้อยก็สักส่วนนิดๆ ของสิ่งที่เขาพูดเป็นการส่วนตัวกับพวกคู่เจรจาชาวอเมริกัน --พูดโดยสรุปก็คือ ทำให้เห็นคล้ายๆ กับที่ ชินโซ อาเบะ เพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นของเขากำลังแสดงอยู่นั่นแหละ โมดีเองก็อาจจะตัดสินใจลุกขึ้นยืน และถูกนับเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งในยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชียของสหรัฐฯ ดังนั้น การที่กองทัพเรืออินเดียจะแสดงออกอย่างไรต่อคำเชื้อเชิญของของคาร์เตอร์ จะเป็นเรื่องน่าสนใจติดตามมากทีเดียว

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

หมายเหตุผู้แปล
[1] นโยบาย “ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” (Act East) ของอินเดีย เป็นนโยบายใหม่ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ถือเป็นการปรับปรุงและสืบต่อจากนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East) ซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1991 ในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรี พี.วี. นราซิมฮา ราว แต่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังในยุครัฐบาลชุดต่อๆ มาทั้งของนายกรัฐมนตรี อตัล พิหารี วัชปายี และ นายกรัฐมนตรีมานโมหัน ซิงห์ ทั้งนี้ในตอนแรกๆ นั้น นโยบาย “มองตะวันออก” มุ่งเน้นที่การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดียิ่งขึ้นกับพวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในเวลาต่อมาก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งสำหรับการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือกันในทางด้านความมั่นคงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับเวียดนาม และญี่ปุ่น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นโยบาย “มองตะวันออก” เป็นตัวแทนความพยายามของอินเดียในการบ่มเพาะสร้างสมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์อย่างกว้างขวางกับชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนฐานะของอินเดียในการเป็นมหาอำนาจหนึ่งของภูมิภาค และคอยทัดทานฐานะอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ตั้งแต่ขึ้นมาบริหารประเทศใหม่ๆ คณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโมดี ก็ถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับพวกเพื่อนบ้านในสมาคมอาเซียนและเอเชียตะวันออก เป็นนโยบายการต่างประเทศที่ทรงความสำคัญลำดับต้น รวมทั้งต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์นี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในช่วงเวลาเดียวที่สหรัฐฯประกาศ “ปักหมุดในเอเชีย” ในเดือนสิงหาคม 2014 รัฐมนตรีต่างประเทศ สุชมา สวาราช (Sushma Swaraj) ได้เสนอทิศทางมุมมองใหม่ ซึ่งใช้ชื่อว่า นโยบาย “ลงมือมุ่งสู่ตะวันออก” (Act East) เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่าอินเดียจะต้องแสดงบทบาทเชิงรุกในภูมิภาคแถบนี้ให้มากยิ่งขึ้นอีก
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] โครงการ “ทำในประเทศอินเดีย” (Make in India) เป็นโครงการริเริ่มที่ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ในเดือนกันยายน 2014 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ตั้งโรงงานทำการผลิตผลิตภัณฑ์ของพวกตนในประเทศอินเดีย โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่ 25 ภาคส่วนเศรษฐกิจซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างงานและเพิ่มพูนทักษะความชำนาญ รวมทั้งเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพี และรายได้จากภาษีอากร เป็นต้นว่า รถยนต์, เคมีภัณฑ์, ไอที, อิเล็กทรอนิกส์, เวชภัณฑ์, สิ่งทอ, การท่องเที่ยว, การดูแลสุขภาพ, ทางรถไฟ

โครงการริเริ่มนี้ยังวาดหวังว่าจะสามารถดึงดูดเงินทุนและการลงทุนด้านเทคโนโลยีให้เข้ามายังอินเดีย โดยที่มีการผ่อนคลายระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเข้ามาได้ง่ายขึ้น และสามารถลงทุนถือหุ้นในกิจการเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น เป็นต้นว่า ในเดือนสิงหาคม 2014 คณะรัฐมนตรีของอินเดียมีมติอนุญาตให้ต่างชาติเข้าลงทุนโดยตรงได้ 49% ในกิจการด้านกลาโหม และ 100% ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ จากที่ก่อนหน้านั้นให้ถือได้เพียง 26% และ 0% ตามลำดับ
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[3] รัฐบาลพันธมิตรสามัคคีฝ่ายก้าวหน้า (United Progressive Alliance) เป็นรัฐบาลที่เกิดจากการรวมตัวของพวกพรรคการเมืองแนวทางกลาง-ซ้ายในอินเดีย ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2004 พรรคที่เป็นแกนกลางของคณะรัฐบาลผสมของพันธมิตรนี้คือ พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress ใช้อักษรย่อว่า INC) และ โซเนีย คานธี (Sonia Gandhi) ผู้เป็นประธานพรรคนี้ ก็เป็นประธานของพันธมิตรสามัคคีฝ่ายก้าวหน้าด้วย ระหว่างที่ครองอำนาจซึ่งมี มานโมหัน ซิงห์ แห่งพรรค INC เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบภายในพันธมิตรนี้อยู่หลายครั้ง หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2014 มีผลออกมาว่าพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียพ่ายแพ้ยับเยิน ขณะที่พรรคภาระติยะชนะตะ (Bharatiya Janata Party ใช้อักษรย่อว่า BJP) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น นเรนทรา โมดี หัวหน้าพรรคบีเจพี ก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียคนต่อไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2014 (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[4] “เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง” (Line of Actual Control หรือ LAC) เป็นเส้นขีดแบ่งที่แยกดินแดนซึ่งอินเดียยึดครองอยู่ จากพื้นที่ซึ่งควบคุมโดยฝ่ายจีน และมีสภาพเป็นแนวชายแดนในทางปฏิบัติระหว่างอินเดียกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้น LAC มีความยาว 4,056 กิโลเมตร ตัดผ่าน 5 รัฐของอินเดีย ได้แก่ ชัมมูและแคชเมียร์, อุตตรขัณฑ์, หิมาจัลประเทศ, สิกขิม, และอรุณาจัลประเทศ ขณะที่ทางด้านจีนนั้นตัดผ่านเขตปกครองตนเองทิเบต เส้นแบ่งแดนนี้เกิดขึ้นทีแรกในฐานะที่เป็นเส้นแสดงแนวหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอินเดียกับจีนภายหลังสงครามระหว่างประเทศทั้งสองที่เกิดขึ้นในปี 1962 จนกระทั่งถึงปี 1993 จึงมีการยอมรับเส้นแบ่งนี้ว่าเป็น “เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง” อย่างเป็นทางการในข้อตกลงทวิภาคีฉบับหนึ่ง

ถึงแม้ยังไม่เคยมีการเจรจาเรื่องเส้นแบ่งพรมแดนอย่างเป็นทางการระหว่างจีนกับอินเดีย แต่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้รัฐบาลอินเดียยังคงประกาศอ้างเขตแดนของตนในลักษณะเดียวกับ “เส้นจอห์นสันปี 1865” (Johnson Line of 1865) ขณะที่ทางฝ่ายจีนพิจาณาเขตแดนของตนว่าเป็นไปตาม “เส้นแมคคาร์ตนีย์-แมคโดนัลด์ ปี 1899” (Macartney-MacDonald of 1899)
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[5] แผนการที่จีนจะเข้าลงทุนในปากีสถานอย่างมโหฬารเป็นมูลค่าสูงถึง 46,000 ล้านดอลลาร์ หมายถึง โครงการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ที่มีชื่อว่า “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” (China-Pakistan Economic Corridor ใช้อักษรย่อว่า CPEC) ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะเชื่อมต่อเมืองท่า กวาดาร์ (Gwadar) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน เข้ากับเขตปกครองตนเองซินเจียง (ซินเกียง) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยผ่านเครือข่ายต่างๆ ทั้งทางหลวง, ทางรถไฟ, และสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ระเบียบเศรษฐกิจนี้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการริเริ่มเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน จะมีความยาวประมาณ 3,000 กิโลเมตรตั้งแต่เมืองกวาดาร์ จนถึงเมืองคัชการ์ (Kashgar) ในซินเจียง ทั้งจีนและปากีสถานต่างแสดงความหวังว่า แผนการลงทุนอย่างมโหฬารเช่นนี้จะแปรเปลี่ยนปากีสถานให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของภูมิภาค โดยที่สื่อและรัฐบาลปากีสถานเรียกขานการลงทุนนี้ว่า เป็น “ตัวเปลี่ยนเกมและตัวเปลี่ยนชะตาชีวิต” ของภูมิภาคนี้ทีเดียว ขณะเดียวกันโครงการนี้ยังจะเป็นการเปิดเส้นทางการค้าให้แก่ภาคตะวันตกของจีน รวมทั้งทำให้จีนมีช่องทางเข้าถึงภูมิภาคตะวันออกกลางที่อุดมด้วยน้ำมันโดยตรง โดยหลีกเลี่ยงไม่ต้องใช้เส้นทางลำเลียงขนส่งซึ่งยาวกว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งต้องผ่านช่องแคบมะละกา
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
กำลังโหลดความคิดเห็น