xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันวิจัย SIPRI ชี้ “สหรัฐฯ-รัสเซีย” ลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ลง แต่ “พัฒนา” ให้ทันสมัยยิ่งกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - สหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อันดับต้น ๆ ของโลก ต่างทยอยลดปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ในคลังแสงลงอย่างช้า ๆ แต่ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของหัวรบให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute - SIPRI) ระบุวันนี้ (13 มิ.ย.)

รายงานประจำปีของ SIPRI ระบุว่า สหรัฐฯ, รัสเซีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์รวมกัน 15,395 ลูก เมื่อช่วงต้นปี 2016 และในจำนวนนี้ถูกนำไปใช้งานจริงราว 4,120 ลูก

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าลดลงเล็กน้อย จากสถิติ 15,850 ลูก เมื่อต้นปี 2015

“การผลิตหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกลดลงเรื่อย ๆ หลังจากที่เคยขึ้นไปถึงจุดพีค 70,000 ลูก ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 และปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกลดน้อยลง ก็คือ การลดทอนการผลิตของกองกำลังนิวเคลียร์รัสเซียและสหรัฐฯ” แชนนอน คีล และ ฮานส์ คริสเตนเซน นักวิจัยจาก SIPRI ระบุในรายงาน

ปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ที่ลดลงเป็นผลมาจากข้อตกลง 3 ฉบับ ที่มีการลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา รวมถึงการที่วอชิงตันและมอสโกเองก็มีนโยบายลดขนาดกองกำลังนิวเคลียร์ลง

อย่างไรก็ตาม SIPRI ชี้ว่า “อัตราการลดลงของหัวรบนิวเคลียร์ดูจะช้าลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อน อีกทั้งรัสเซีย และสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ลดขนาดของกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ลงอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่มีการทำข้อตกลง STARTฉบับใหม่” ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2011

SIPRI ประเมินว่า รัสเซียครอบครองหัวรบนิวเคลียร์รวมทั้งสิ้น 7,290 ลูก ในช่วงต้นปี 2016 ส่วนสหรัฐฯ มีอยู่ 7,000 ลูก ซึ่งเมื่อนำมารวมกันจะคิดเป็นปริมาณหัวรบนิวเคลียร์มากถึง 93% ของที่โลกมีอยู่

ชาติที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์น้อยลงมา ได้แก่ ฝรั่งเศส (300 ลูก), จีน (260 ลูก), ปากีสถาน (110 - 130 ลูก), อินเดีย (100 - 120 ลูก), อิสราเอล (80 ลูก) และ เกาหลีเหนือ (10 ลูก) ซึ่งในกรณีของเกาหลีเหนือนั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน จึงไม่ถูกนำไปรวมกับปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกที่ SIPRI ประเมิน

“ยังไม่มีประเทศใดที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และเตรียมที่จะทำลายคลังอาวุธนิวเคลียร์ของตน ในอนาคตที่มองเห็นได้” SIPRI ระบุ พร้อมเสริมว่า ทั้งวอชิงตัน และมอสโก ต่างก็ “ทุ่มเทงบประมาณมหาศาล เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น”

ในส่วนของเพื่อนบ้านคู่อริอย่างอินเดีย และปากีสถาน ก็มีความพยายามที่จะยกระดับศักยภาพคลังแสงนิวเคลียร์เช่นกัน โดยรัฐบาลเดลีนั้นได้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาขีปนาวุธและเร่งผลิตพลูโตเนียม ส่วนอิสลามาบัดก็กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้ในสนามรบ โดยหวังที่จะต่อกรกับกองกำลังแบบเดิม (conventional forces) ของอินเดียที่เหนือกว่า

SIPRI เตือนว่า คลังแสงนิวเคลียร์ของปากีสถานอาจขยายใหญ่ขึ้นอย่างมากในอีก 10 ข้างหน้า

หลังจากนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติ รายงานชิ้นนี้ได้สรุปว่า โอกาสที่โลกจะก้าวไปสู่การลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจัง “ยังคงมืดมัวอยู่”

กำลังโหลดความคิดเห็น